บลจ.ยูโอบี เปิดขายกองทุน UTSEQ-THAIESG IPO ช่วง 8-15 ธ.ค.นี้

บลจ.ยูโอบี เปิดเสนอขาย กองทุนเปิด ยูไนเต็ด หุ้นไทย ซัสเทนเนเบิล หน่วยลงทุนชนิดไทยเพื่อความยั่งยืนที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีและไม่จ่ายเงินปันผล (UTSEQ-THAIESG) IPO 8-15 ธันวาคม 2566

กองทุนเปิด ยูไนเต็ด หุ้นไทย ซัสเทนเนเบิล หน่วยลงทุนชนิดไทยเพื่อความยั่งยืนที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีและไม่จ่ายเงินปันผล (UTSEQ-THAIESG) ระดับความเสี่ยง 6 เน้นลงทุนในตราสารทุนของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ/หรือตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ

โดยเน้นลงทุนในบริษัทที่มีการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) หรือ ESG ยึดหลักสร้างความยั่งยืนทั้งในประเทศ และ/หรือรวมถึงหลักความยั่งยืนตามหลักสากลและเพื่อแสวงหาผลตอบแทนในระยะยาวให้กับผู้ถือหน่วยลงทุน รวมทั้งเป็นแรงขับเคลื่อนหรือส่งเสริมให้มีกิจการที่คำนึงถึงปัจจัยด้าน ESG มากขึ้น กล่าวคือเป็นการสนับสนุนบริษัทจดทะเบียนที่มีการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียอย่างครอบคลุมทั้งด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม มีกระบวนการบริหารจัดการเพื่อสร้างความยั่งยืนให้แก่องค์กร เช่น การบริหารความเสี่ยง การจัดการห่วงโซ่อุปทาน และการพัฒนานวัตกรรม เป็นต้น

นอกจากนี้กองทุน UTSEQ-THAIESG ยังเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ กองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน (SRI Fund) ซึ่งเป็นกองทุนรวมที่มีการเปิดเผยข้อมูลในโครงการและหนังสือชี้ชวนว่ามีการจัดการกองทุนรวมโดยมุ่งความยั่งยืน (Sustainability) ตามหลักสากลอีกด้วย ซึ่งเป็นการตอบรับเข้าร่วมนโยบายที่ทางกระทรวงการคลัง และคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติการจัดตั้งกองทุน THAIESG เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย ดังนี้

  • เพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวจากการลงทุนในหุ้นยั่งยืนที่พิจารณาจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance หรือ ESG)

  • ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี เมื่อผู้ลงทุนซื้อหน่วยลงทุนและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรและหรือกฎหมายอื่นใดที่เกี่ยวข้องกำหนด ทั้งในปัจจุบันและที่แก้ไขเพิ่มเติมในอนาคต

  • ลงทุนได้ไม่เกิน 30% ของรายได้พึงประเมิน ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี เป็นส่วนที่เพิ่มเติมขึ้นมาต่างหาก ไม่ต้องไปรวมกับยอดเงินลงทุน 500,000 บาทที่เป็นเพดานของกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) + กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกบข. + ประกันชีวิตแบบบำนาญ + กองทุนเพื่อการออม (SSF)

  • ต้องถือไว้ 8 ปีเต็มจริง ๆ นับแบบวันชนวัน ให้สิทธิซื้อตั้งแต่ปี 2566 ถึงปี 2575 (รวมซื้อได้ 10 ปี)

  • ไม่จำเป็นต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี ลงทุนปีไหนลดหย่อนปีนั้น

  • รองรับกลุ่มลูกค้า LTF ที่ครบกำหนด และตอบโจทย์ผู้ลงทุนที่ต้องการเพิ่มเงินลงทุนเพื่อการเกษียณ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ธ.ค. 66)

Tags: , , , ,