นายศุภกร ตุลยธัญ, CFA ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ. พรินซิเพิล เปิดเผยว่า กลยุทธ์การลงทุนในครึ่งปีหลังมีปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คือ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) โดยคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1-2 ครั้ง ซึ่งเป็นการปรับขึ้นที่รวดเร็วและแรงที่สุดนับจากปี 2523 หรือในรอบกว่า 40 ปี เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของสหรัฐฯ ยังอยู่ในระดับสูง
และโดยสถิติในอดีตเมื่อเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบรุนแรง ส่วนใหญ่นำมาสู่การเกิดวิกฤตเศรษฐกิจหรือภาวะเศรษฐกิจถดถอย และจากเครื่องมือชี้วัด ณ ปัจจุบัน มีโอกาสถึง 67% ที่สหรัฐฯ จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเกิดขึ้นในไตรมาส 4/2566 ถึงไตรมาส 1/2567 ส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เกิดการปรับฐาน
ปัจจุบัน Valuation หรือมูลค่าหุ้นสหรัฐฯ ถือว่าค่อนข้างแพง โดยนับจากต้นปีนี้ถึงสิ้นเดือนมิถุนายน ดัชนี S&P500 ปรับขึ้นมาแล้ว 15.9% คิดเป็น P/E Ratio ประมาณ 19 เท่า และ และดัชนี Nasdaq composite ปรับขึ้นแล้วกว่า 31.7% คิดเป็น P/E Ratio ประมาณ 32 เท่า แต่เป็นการปรับขึ้นแบบกระจุกตัวในกลุ่มหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ (Mega Tech) เพียงไม่กี่บริษัท จากความกังวลต่อภาคธนาคารในสหรัฐฯ รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจทั่วโลกที่มีแนวโน้มค่อยๆ ชะลอตัวลงอย่างช้าๆ และความคาดหวังการหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ในปีนี้ ทำให้นักลงทุนเข้าลงทุนในกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่มีกำไรแล้ว ทั้งนี้กลุ่มหุ้นดังกล่าวมีความเสี่ยงที่ราคาหุ้นจะปรับฐานได้ หากกลุ่มหุ้นดังกล่าวไม่สามารถสร้างผลกำไรในระดับสูงได้ตามที่นักลงทุนคาดหวัง ดังนั้นจึงแนะนำปรับกลยุทธ์เน้นลงทุนใน “หุ้นคุณภาพ” ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีธุรกิจมั่นคงและผลประกอบการแข็งแกร่ง
ส่วนสินทรัพย์ประเภท “ตราสารหนี้ทั่วโลก” มีความน่าสนใจเพิ่มขึ้น เนื่องจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปีในปัจจุบันปรับขึ้นสูงกว่า 4% เป็นครั้งแรกนับจากเดือนพฤศจิกายน 2565 จากเดิมที่ลงไปแตะระดับ 3.3% และยังสูงกว่าอัตราเงินปันผลของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ระดับ 2.5% ทั้งนี้ในตราสารหนี้ทั่วโลก แนะนำลงทุน Investment Grade เนื่องจากมีอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรในระดับที่น่าสนใจประมาณ 5.6% และมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแรง มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังที่เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอน
ส่วน “ตราสารหนี้ไทย” ปัจจุบันมีมุมมอง Neutral หรือคงน้ำหนักการลงทุน โดยทั่วไปพันธบัตรรัฐบาลไทยจะเคลื่อนไหวตามพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ดังนั้นในระยะสั้นยังมีความผันผวนจากการที่เฟดมีแนวโน้มขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1-2 ครั้งในปีนี้ขณะที่สินทรัพย์อื่นๆ ได้แก่ “กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน” ถือว่าน่าสนใจลงทุน เนื่องจากมีผลประกอบการค่อนข้างมั่นคงและเติบโตสม่ำเสมอ ส่วน “REIT” ควรเพิ่มความระมัดระวังการลงทุนโดยเฉพาะกลุ่มออฟฟิศและกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ (Commercial Real Estate) ที่มีค่าเช่าลดลง และ “ทองคำ” ยังมีโอกาสผันผวนจากการที่เฟดมีแนวโน้มขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1-2 ครั้งในปีนี้
บลจ. พรินซิเพิล แนะนำ 4 กองทุนเปิดที่เหมาะกับการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังปีนี้ ได้แก่ 1) กองทุนเปิดพรินซิเพิล โกลบอล ฟิกซ์ อินคัม หรือ Principal Global Fixed Income Fund (PRINCIPAL GFIXED) ที่มีนโยบายลงทุนใน PIMCO GIS Income Fund เป็นกองทุนหลัก ลงทุนในตราสารหนี้ทั่วโลกทั้งพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้ภาคเอกชน โดยกองทุนดังกล่าวได้รับมอร์นิ่งสตาร์ระดับ 5 ดาว
2) กองทุนเปิดพรินซิเพิล โกลบอล อิควิตี้ ESG หรือ Principal Global Equity ESG Fund (PRINCIPAL GESG) ที่มีนโยบายลงทุนใน Schroder ISF Global Sustainable Growth Fund เป็นกองทุนหลัก โดยลงทุนในหุ้นคุณภาพทั่วโลก เน้นบริษัทที่เติบโตอย่างยั่งยืน ให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย รวมถึงได้รับมอร์นิ่งสตาร์ระดับ 5 ดาว
3) กองทุนเปิดพรินซิเพิล โกลบอล อิควิตี้ หรือ Principal Global Equity Fund (PRINCIPAL GQE) กองทุนใหม่ของบลจ.พรินซิเพิล มีนโยบายลงทุนใน Fundsmith SICAV-Fundsmith Equity Fund เป็นกองทุนหลัก เน้นลงทุนหุ้นคุณภาพชั้นนำระดับโลกและมีกำไรเติบโตอย่างสม่ำเสมอ หุ้นในพอร์ตลงทุนมีผลประกอบการ (กำไร) เป็นบวกทั้งหมด โดยได้รับมอร์นิ่งสตาร์ระดับ 5 ดาว
และ 4) กองทุนเปิดพรินซิเพิล เวียดนาม อิควิตี้ หรือ Principal Vietnam Equity Fund (PRINCIPAL VNEQ) ที่ บลจ. พรินซิเพิล เป็นผู้บริหารกองทุนโดยตรงในหุ้นเวียดนามขนาดใหญ่ที่มีคุณภาพดี ซึ่งปัจจุบันเป็นโอกาสลงทุนหลังจากตลาดหุ้นเวียดนามเริ่มฟื้นตัวจากการปรับฐานปีที่ผ่านมา และกองทุนดังกล่าวได้รับมอร์นิ่งสตาร์ระดับ 5 ดาว
นายธเนศ เลิศเพชรพันธ์ Investment Strategist บลจ.พรินซิเพิล จำกัด กล่าวว่า ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน 2566 ตลาดหุ้นเวียดนามปรับตัวดีขึ้นหลังจากที่ปรับฐานในปีก่อน โดยนักลงทุนรายย่อย ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 80% ของปริมาณการซื้อขายเริ่มกลับเข้ามาลงทุนอีกครั้ง ขณะที่จีดีพีไตรมาส 2/2566 เติบโต 4.14% สูงกว่าไตรมาส 1/2566 ที่เติบโต 3.3% ปัจจัยหลักมาจากภาคการบริการ การบริโภคภายในประเทศ การท่องเที่ยวที่ยังแข็งแกร่งและการส่งออกบางกลุ่มที่เริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัว เช่น กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
รวมถึงรัฐบาลเวียดนามออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ อาทิ การลดภาษีมูลค่าเพิ่มเหลือ 8% จากเดิม 10% มีผลตั้งแต่ครึ่งปีหลังของปีนี้, ปรับลดภาษีรถยนต์นั่งส่วนบุคคล, ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยธนาคารกลางเวียดนาม (SVB), มาตรการ DECREE08 ที่อนุญาตให้บริษัทขออนุมัติจากผู้ถือหุ้นกู้เพื่อขยายระยะเวลาชำระหนี้ได้ ฯลฯ อย่างไรก็ตามคาดว่าจะเห็นการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีก เนื่องจากรัฐบาลเวียดนามมีเป้าหมายผลักดันจีดีพีเติบโต 6 – 6.5% ในปีนี้
ปัจจุบัน ตลาดหุ้นเวียดนามถือว่าน่าสนใจต่อการลงทุนเนื่องจาก Valuation ค่อนข้างต่ำ อยู่ในระดับต่ำกว่า 1 Standard Deviation (-1 SD) ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ขณะที่กำไรของตลาดหุ้นเวียดนามในปีนี้คาดว่าจะเติบโต 14% เป็นอันดับ 2 ในเอเชียรองจากตลาดหุ้นอินเดีย ประกอบกับตลาดเริ่มคลายความกังวลเกี่ยวกับการออกหุ้นกู้ชุดใหม่เพื่อนำไปชำระหนี้หุ้นกู้เดิม เนื่องจากธนาคารกลางเวียดนามมีนโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มขึ้น จึงแนะนำลงทุนในกองทุนเปิดพรินซิเพิล เวียดนาม อิควิตี้ ฟันด์ที่ได้รับมอร์นิ่งสตาร์ระดับ 5 ดาว เน้นกระจายการลงทุนในหุ้นคุณภาพด้วยกลยุทธ์เลือกหุ้นเป็นรายตัว พร้อมการวิเคราะห์เศรษฐกิจการลงทุนจริงโดยการลงพื้นที่ประเทศเวียดนามล่าสุดเพื่อสำรวจเศรษฐกิจและเยี่ยมชมกิจการที่กองทุนได้เข้าลงทุน พบว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในระดับกลาง-ล่างเริ่มฟื้นตัว หลังจากปรับลดอัตราดอกเบี้ย ส่วนธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อมีการปรับปรุงเลย์เอาต์และตกแต่งให้ทันสมัยยิ่งขึ้น
นายอาทิตย์ ทองเจริญ Head of Thailand Business, Schroder Investment Management (Singapore) Ltd.กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกครึ่งปีหลังยังต้องติดตามปัจจัยเงินเฟ้อ ซึ่งอาจไม่ได้ปรับลดลงมากตามที่คาดไว้ เนื่องจากมีแนวโน้มที่ธนาคารกลางประเทศต่างๆ จะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงต่อไปอีกระยะหนึ่ง และปัจจัย “ภูมิรัฐศาสตร์” ได้แก่ เหตุการณ์รัสเซีย – ยูเครน และสหรัฐฯ – จีน
อย่างไรก็ตาม การลงทุนใน “หุ้นยั่งยืน” มีโอกาสชนะความผันผวนของตลาดและสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว โดยกองทุนเปิดพรินซิเพิล โกลบอล อิควิตี้ ESG ที่มีนโยบายลงทุนใน Schroder ISF Global Sustainable Growth Fund เป็นกองทุนหลัก ซึ่งจะเข้าลงทุนใน “หุ้นคุณภาพ” และ “ยั่งยืน” ทั่วโลก จำนวน 30 – 50 บริษัท โดยปัจจุบันเข้าลงทุนในหุ้นประมาณ 43 บริษัท กองทุนดังกล่าวมีแนวทางคัดเลือกหุ้นที่ลงทุนมากกว่าการพิจารณา ESG โดยคำนึงถึงการให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้ง 7 กลุ่มด้วย ได้แก่ (1) การดูแลสิ่งแวดล้อม (2) ดูแลพนักงาน (3) ดูแลลูกค้า (4) การปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ต่างๆ (5) ดูแลซัพพลายเออร์ (6) ดูแลสังคมและชุมชน และ (7) ดูแลผู้ถือหุ้น
การลงทุนจะแบ่งเป็น 4 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนที่ 1 Idea Generation คัดเลือกบริษัทที่มีคุณภาพและยั่งยืนจากทั่วโลกให้เหลือ 500 บริษัท ขั้นตอนที่ 2 Sustainability โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้ง 7 กลุ่มดังกล่าวเพื่อคัดเลือกให้เหลือ 100 บริษัทที่เป็น Great Company ขั้นตอนที่ 3 Investability คัดเลือกจาก 100 บริษัท เหลือ 30-50 บริษัท โดยพิจารณาจากแนวโน้มธุรกิจและราคาหุ้นที่ยังมีโอกาสปรับขึ้นได้ และขั้นตอนที่ 4 Active Ownership ทางกองทุนฯ ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมตัดสินใจของบริษัทที่เข้าลงทุน เช่น การออกเสียงประชุมผู้ถือหุ้น เป็นต้น โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ลงทุนในปัจจุบัน เช่น หุ้นที่เกี่ยวข้องกับการบริโภค, การเงิน, เฮลท์แคร์, อุตสาหกรรม เป็นต้น ซึ่งให้ผลตอบแทนชนะดัชนีชี้วัดตลอด 7 ปีที่ผ่านมา
นาย Hugo Cardale – Sales Director and Partner, Fundsmith LLP. กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน การลงทุนในบริษัทคุณภาพชั้นนำขนาดใหญ่ทั่วโลกที่มีธุรกิจและรายได้มั่นคงจะมีโอกาสเอาชนะความผันผวนของตลาดได้ โดยแนะนำกองทุน Principal Global Quality Equity Fund (PRINCIPAL GQE) ที่มีนโยบายลงทุนใน Fundsmith SICAV-Fundsmith Equity Fund ซึ่งได้รับมอร์นิ่งสตาร์ระดับ 5 ดาว เป็นกองทุนหลักเพียงกองทุนเดียว บริหารจัดการโดย Terry Smith ผู้จัดการกองทุนที่มีประสบการณ์ด้านการลงทุนกว่า 40 ปีและทีมนักวิเคราะห์คุณภาพ ภายใต้การดำเนินงานของ Fundsmith LLP บริษัทจัดการทรัพย์สินชั้นนำในอังกฤษ ที่มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการรวม 3.5 หมื่นล้านปอนด์ (ประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท)
Fundsmith SICAV-Fundsmith Equity Fund ยึดปรัชญาการลงทุน 3 ข้อ ได้แก่ (1) Only invest in good companies ลงทุนในบริษัทที่ดีและมีคุณภาพเท่านั้น โดยมีผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ต้องใช้อย่างสม่ำเสมอ สามารถสร้างกระแสเงินสดอย่างต่อเนื่อง หรือเป็นธุรกิจที่หาเทคโนโลยีอื่นมาทดแทนได้ยาก เช่น Microsoft, LVMH เป็นต้น (2) Don’t over pay ไม่ลงทุนในหุ้นที่ราคาสูงเกินปัจจัยพื้นฐาน (3) Do nothing เน้นลงทุนระยะยาวหากปัจจัยพื้นฐานของบริษัทไม่เปลี่ยนแปลง จากกลยุทธ์ทั้งสามข้อทำให้กองทุนสร้างผลการดำเนินงานระยะยาวโดดเด่นอย่างต่อเนื่อง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ก.ค. 66)
Tags: ตราสารหนี้, ธนาคารกลางสหรัฐ, บลจ. พรินซิเพิล, ภาวะเศรษฐกิจ, ศุภกร ตุลยธัญ, อัตราดอกเบี้ย, เฟด