นายศุภกร ตุลยธัญ, CFA ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.พรินซิเพิล เปิดเผยว่า บลจ. พรินซิเพิล จะเปิดตัว “กองทุนเปิดพรินซิเพิล อินเดีย อิควิตี้ (PRINCIPAL INDIAEQ)” ทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท โดยกำหนดเสนอขาย IPO วันที่ 1-9 สิงหาคม 2567 ลงทุนขั้นต่ำเพียง 1,000 บาท
โดยกองทุน PRINCIPAL INDIAEQ มีนโยบายที่จะลงทุนผ่านกองทุน Ashoka WhiteOak India Opportunities Fund (AIOF) กองทุนเดียว โดย AIOF เน้นลงทุนในบริษัทที่มีคุณภาพ มีการเติบโตที่มั่นคง และมีธรรมาภิบาลสูงในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เติบโตสูง เช่น กลุ่มธุรกิจการเงิน กลุ่มธุรกิจสินค้าฟุ้มเฟือย กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มอุตสาหกรรม และกลุ่มการแพทย์ กองทุนหลักมีการกระจายการลงทุนแบบสมดุลเมื่อพิจารณามูลค่าตามราคาตลาด โดยลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่เฉลี่ย 50 – 60% หุ้นขนาดกลางและเล็กรวม 40 – 50% และกระจายการลงทุนในหลักทรัพย์ถึง 75 – 150 ตัว
AIOF ซึ่งเป็นกองทุนหลักที่เข้าลงทุนสร้างผลตอบแทนสะสม กองทุนหลักผลตอบแทนย้อนหลัง 5 ปี สูงถึง 163.74% สูงกว่าดัชนีชี้วัดถึง 44.56% ภายใต้บริหารจัดการโดยบริษัท White Oak Capital Partners บริษัทด้านการลงทุนและให้คำปรึกษาในประเทศสิงคโปร์ ก่อตั้งและบริหารโดย นายประชัน เขมขา (Prashant Khemka) อดีตผู้บริหารระดับสูงของบริษัทจัดการระดับโลก และมีทีมการลงทุนกว่า 44 คนที่มีประสบการณ์การวิเคราะห์และการลงทุนในตลาดหุ้นประเทศอินเดียรวมทั้งตลาดหุ้นกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ ซึ่งทำให้ AIOF สามารถเลือกหลักทรัพย์ได้อย่างโดดเด่น เนื่องจากมีบุคลากรมากเพียงพอที่จะวิเคราะห์หลักทรัพย์ทั้งหมดในตลาดหุ้นอินเดียและใช้ประโยชน์จากการที่อินเดียเป็นตลาดที่ประสิทธิภาพของข้อมูลต่ำ(Inefficient Market) ได้
ทั้งนี้ การลงทุนหรือเพิ่มสัดส่วนลงทุนในตลาดหุ้นอินเดียยังทำให้พอร์ตการลงทุนสมดุลมากขึ้น ผ่านการช่วยลดการกระจุกตัวของการลงทุนในตลาดหุ้นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และลดความเสี่ยงแก่พอร์ตลงทุนโดยรวม เนื่องจากตลาดหุ้นอินเดียมี Correlation หรือความสัมพันธ์กับตลาดหุ้นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศในระดับต่ำจึงช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของตลาดหุ้นโลกได้
โดยแนะนำว่าควรพิจารณาการลงทุนในตลาดหุ้นอินเดีย เป็น 1 ในพอร์ตการลงทุนเสริม (Satellite Portfolio) หรือไม่เกิน 15% ของพอร์ตลงทุนสำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง ในกองทุนหุ้นอินเดียที่มีส่วนผสมที่ดีระหว่างหุ้นขนาดใหญ่ กลางและเล็ก ซึ่งเป็นลักษณะกองทุนที่จะสร้างโอกาสหาผลตอบแทนส่วนเพิ่มได้
“Valuation ของตลาดหุ้นอินเดียมีความน่าสนใจเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยการที่ตลาดหุ้นอินเดีย เช่น ดัชนี SENSEX ที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีนี้และทำให้ Valuation ของตลาดหุ้นอินเดียจะปรับสูงขึ้นเป็นการสะท้อนว่านักลงทุนส่วนใหญ่ยังเห็นโอกาสการเติบโตของเศรษฐกิจอินเดีย โดยค่า Forward PE ของตลาดหุ้นอินเดียในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 20 เท่า คิดเป็น 0.6 SD ของค่าเฉลี่ย 5 ปี ซึ่งนับว่าเป็นระดับที่มีความเหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐาน โดยเฉพาะเมื่อคาดการณ์ว่ากำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นอินเดียจะเติบโตถึง 9.3% ในปีนี้ และเติบโต 15.13% ในปีหน้า”
Mr.Ayush Abhijeet, Investments Director, White Oak Capital Partners เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นอินเดียเป็นตลาดมีที่ความน่าสนใจสำหรับผู้ที่ต้องการกระจายความเสี่ยงการลงทุนไปในตลาดหุ้นที่มีโอกาสเติบโตสูงในปี 2567 เนื่องจากเศรษฐกิจอินเดียเติบโตอย่างแข็งแกร่ง มีโครงสร้างประชากรที่เอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ และการสนับสนุนจากนโยบายของรัฐบาล โดยคาดการณ์ว่าอินเดียจะเป็นหนึ่งในประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัวเร็วที่สุดในโลก โดยมีการประมาณการว่า GDP ปี 2567 และ 2568 จะมีอัตราเติบโตถึง 7.8% และ 7% ตามลำดับ สอดคล้องกับการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่คาดว่าเศรษฐกิจอินเดียจะเติบโตเฉลี่ย 6.5% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า
ปัจจุบันอินเดียมีประชากรรวม 1,420 ล้านคน เป็นอันดับ 1 ของโลก และมีอัตราขยายตัวของประชากรเฉลี่ย 0.5% ต่อปี โครงสร้างประชากรส่วนใหญ่อยู่ในวัยหนุ่มสาวและมีบทบาทสำคัญต่อการผลักดันการบริโภคภายในประเทศ นอกจากนี้การเพิ่มขึ้นของรายได้ของทำให้มีจำนวนชนชั้นกลางมากขึ้นในอินเดีย สนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคและธุรกิจค้าปลีก รวมไปถึงความต้องการในการเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพที่ดี เศรษฐกิจที่ขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งจะสะท้อนลงมายังผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดและเป็นปัจจัยบวกต่อราคาหุ้น
ขณะที่การเลือกตั้งภายในอินเดียที่สิ้นสุดเมื่อเร็ว ๆ นี้ นายเรนทรา โมดี คว้าชัยชนะเป็นสมัยที่ 3 ติดต่อกัน และได้ร่วมมือกับพรรคพันธมิตรเพื่อครองเสียงข้างมากในสภาจะทำให้การดำเนินนโยบายภาครัฐและการพัฒนาประเทศมีความต่อเนื่องได้ โดยเฉพาะด้านการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรม และการสร้างงาน ทั้งนี้รัฐบาลอินเดียมีการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานผ่านโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการผลิต และได้ใช้เทคโนโลยีมาพัฒนารูปแบบการทำงานให้เป็นดิจิทัลมากขึ้นเพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว ประกอบกับความต้องการทางสาธารณสุขและการแพทย์ที่เพิ่มขึ้น จะเป็นปัจจัยบวกของตลาดหุ้นอินเดียในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น ธุรกิจกลุ่มอุตสาหกรรม (Industrial) เทคโนโลยี (Technology) โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ส.ค. 67)
Tags: กองทุนเปิด, บลจ.พรินซิเพิล, ศุภกร ตุลยธัญ, หุ้นอินเดีย