นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บลจ.กสิกรไทย เปิดเผยว่าภาวะเศรษฐกิจและตลาดเงินโลกช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเผชิญกับความผันผวน การลงทุนจึงต้องปรับตัวให้ทันกันความท้าทายที่เกิดขึ้นใน 4 เรื่องหลัก ประกอบด้วย กระแสทวนกลับของโลกาภิวัฒน์ (Deglobalization) หลังสองประเทศมหาอำนาจใหญ่ คือ สหรัฐอเมริกาและจีน เริ่มแยกออกจากกัน เกิดการกีดกันทางการค้า , ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ในสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน , สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป (Global heating ) ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหาร การผลิตอาหารเรื่องของความพอเพียงของน้ำ ซึ่งเป็นต้นตอของการกระทบกระทั่งกันในหลายๆประเทศ และสุดท้ายประเด็นสังคมผู้สูงอายุขยายตัว (Sliver Gen)
อย่างไรก็ตามท่ามกลางความท้าทายที่ทั่วโลกเผชิญ ยังเล็งเห็นโอกาสเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีใหม่ๆ การลงทุนใหม่ รวมทั้งเรื่องของปัญหาประดิษฐ์ (AI) Chat GPT ซึ่งเป็นที่พูดถึงเป็นจำนวนมาก มีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้นโดยใช้จำนวนคนน้อยลง เป็นที่ต้องติดตามว่าจะส่งผลต่อบริษัทที่ได้ลงทุนอย่างไร
“จากข้อมูลภาพรวมอุตสาหกรรมกองทุนรวมของไทย พบว่า ผู้ลงทุนส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่ในสินทรัพย์บางประเภท ทำให้พอร์ตการลงทุนมีความเสี่ยงที่จะขาดทุนจากการเทน้ำหนักไปที่สินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งมากจนเกินไป แม้สินทรัพย์ประเภทนั้นจะมีความเสี่ยงที่น้อย หรือ อยู่ในระดับความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนยอมรับได้ก็ตาม
ดังนั้น พอร์ตการลงทุนที่เหมาะสมจึงควรแบ่งสัดส่วนการลงทุนในพอร์ตออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 : Core Portfolio เน้นลงทุนระยะยาวแบบ Asset Allocation ประมาณ 70%-80% ของพอร์ต โดยผู้ลงทุนสามารถเลือกกองทุนเพื่อจัดพอร์ตเองได้ หรือสามารถลงทุนในกองทุนผสม ซึ่งมีนโยบายกระจายการลงทุนในหลากหลายประเภทสินทรัพย์อยู่แล้ว อาทิ K-GA, K-GINCOME, K-PLAN2, K-PLAN3 และ Wealth PLUS ส่วนที่ 2 : Satellite Portfolio เน้นลงทุนระยะสั้นแบบจับจังหวะตลาด (Market Timing) ประมาณ 20%-30% ของพอร์ต โดยผู้ลงทุนสามารถเลือกกองทุนได้ตามสถานการณ์การลงทุนในเวลานั้นเพื่อเพิ่มโอกาสทำกำไร” นายอดิศรกล่าว
ทั้งนี้ บลจ.กสิกรไทย มองภาพรวมเศรษฐกิจโลกสะท้อนการถดถอยของภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มลดลง และถูกเลื่อนออกไป โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจ (GDP) ที่ยังคงแข็งแกร่ง ในขณะที่เงินเฟ้อทยอยปรับลงตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าใกล้จุดสูงสุด ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจในปัจจุบันมีลักษณะคล้าย Goldilocks กล่าวคือ เศรษฐกิจฟื้นตัว เงินเฟ้อต่ำ และธนาคารกลางใช้นโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลาย จึงเป็นจังหวะที่เอื้อต่อการเข้าลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ไม่มีความจำเป็นต้องลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในทันที จึงยังคงมุมมอง Higher for Longer ซึ่งเป็นภาวะที่ตลาดต้องสนใจ GDP และระดับมูลค่าหุ้น (Valuation) ในแต่ละประเทศ มากกว่าแค่ผลกระทบบนการเติบโตของรายได้ ทำให้คาดว่า Fed จะยังไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในปีนี้
นายวจนะ วงศ์ศุภสวัสดิ์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานวางแผนกลยุทธ์ บลจ. กสิกรไทย กล่าวว่าการเกิดเงินเฟ้อรอบนี้ เกิดขึ้นจากภาวะโควิด-19 ซึ่งระหว่างปิดประเทศรัฐบาลในหลายประเทศ มีมาตรการแจกจ่ายเงิน และการเกิดสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งจะเห็นได้ว่าอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นตั้งแต่ปี 64 และการเปิดประเทศของสหรัฐ ทำให้มีความต้องการบริโภคเพิ่มมากขึ้น สวนทางกับภาคการผลิตซึ่งผลิตไม่ทันกับความต้องการทำให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
ในทางกลับกันเริ่มเห็นอัตราเงินเฟ้อขยับลงบ้างเล็กน้อย ซึ่งบลจ.กสิกรมองว่าตอนนี้เข้าสู่จุดสูงสุดของอัตราดอกเบี้ยแล้ว โดยคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้อีกครั้งเดียวถึงสิ้นปีนี้ และจะหยุดการขึ้นดอกเบี้ย เพื่อให้ดอกเบี้ยระดับสูงเยียวยาตัวเอง และช่วยกดเงินเฟ้อลงมาอีก และรอดูทิศทางว่าอัตราดอกเบี้ย 5.5% จะสามารถควบคุมเศรษฐกิจได้หรือไม่ จากสถิติที่ผ่านมาเมื่อเฟดหยุดขึ้นดอกเบี้ย หลังจากนั้น 3-6 เดือน ผลตอบแทนจะเป็นบวกประมาณ 7-15% เป็นช่วงที่ผลตอบแทนสูงที่สุด และหลังจากนั้นประมาณ 12 เดือนจะปรับจาก 15% สู่ 19%
ทั้งนี้ประเด็นเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอย มองว่าเป็นโอกาสในการลงทุน เนื่องจากตลาดพอรับรู้ไปบ้างแล้ว และมองว่าภาวะเศรษฐกิจในยุโรปและสหรัฐอาจจะเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย ประเด็นที่ต้องติดตามคืออสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะในประเทศจีนซึ่งยังมีทางแก้อยู่ ซึ่งขึ้นอยู่กับมาตรการของรัฐบาล รวมทั้งสถานการณ์ของสหรัฐและจีน ซึ่งคาดว่าจะเป็นปัญหาต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งทั้งสองประเทศต่างต้องการจะเป็นประเทศมหาอำนาจต่อไป โดยแนะนำการลงทุนแบบสมดุล ในส่วนของตลาดจีนเลือกหุ้นกลุ่มที่พึ่งพิงเศรษฐกิจในประเทศ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ก.ย. 66)
Tags: การลงทุน, อดิศร เสริมชัยวงศ์