นายวจนะ วงศ์ศุภสวัสดิ์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานวางแผนกลยุทธ์ บลจ. กสิกรไทย เปิดเผยว่า จากการประเมินอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ที่ระหว่างธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และผู้ลงทุนได้ประเมินไว้ในอัตราที่แตกต่างกัน จะยังส่งผลให้ตลาดมีความผันผวนอย่างต่อเนื่องภายใต้เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว อย่างไรก็ดี จีนยังคงเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่หนึ่งเดียวที่ไม่ได้รับแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ อีกทั้งยังมีนโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจที่ผ่อนคลาย ซึ่งสวนทางกับประเทศแกนหลักอื่นๆ
บลจ.กสิกรไทย คาดว่าจะเห็นการกลับมาของตลาดหุ้นจีนในปี 66 ซึ่งนอกเหนือจาก 2 ปัจจัยข้างต้นแล้ว ยังมีปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมอีก ได้แก่ 1) ทางการจีนมั่นใจว่า GDP จีนจะบรรลุ 5% ในขณะที่ IMF คาดว่าจะขยายตัวได้ถึง 5.2% ในปีนี้ 2) เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวชัดเจนเห็นได้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและภาคบริการ และดัชนียอดค้าปลีกที่มีการปรับตัวขึ้น 3) ทางการจีนเริ่มส่งสัญญาณการสิ้นสุดของมาตรการคุมเข้มในกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และ 4) คาดการณ์กำไรบริษัทจดทะเบียนเติบโตโดดเด่นมากกว่า 10% ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ผู้ลงทุนยังคงต้องติดตามนโยบายภาครัฐที่อาจเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศที่อาจส่งผลกระทบต่อหุ้นบางกลุ่ม
บลจ.กสิกรไทย ขอแนะนำ 3 กองทุนหุ้นจีน ได้แก่ กองทุนเปิดเค ไชน่า หุ้นทุน (K-CHINA), กองทุนเปิดเค ดัชนีหุ้นจีน (K-CHX) และกองทุนเปิดเค ไชน่า คอนโทรล โวลาติลิตี้ (K-CCTV) เริ่มที่ K-CHINA มีความน่าสนใจจากการลงทุนหุ้นจีนในทุกตลาด (All China) ทั้งตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้และเซินเจิ้น (A-Share), ตลาดหุ้นฮ่องกง (H-Share) และตลาดหุ้นสหรัฐฯ (ADR) ทำให้มีความยืดหยุ่นในการลงทุนสูง โดยมีนโยบายลงทุนผ่านกองทุนหลัก JPMorgan Funds – China Fund, Class JPM China I (acc) – USD ที่เน้นลงทุนในหุ้นที่มีการเติบโต (Growth) คุณภาพสูง (High Quality) และอยู่ในกลุ่มเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) เช่น กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ กลุ่มอุปโภคบริโภค และสุขภาพ
ทั้งนี้ กองทุน K-CHINA จากกสิกรไทย มีให้เลือกลงทุน 4 รูปแบบ ได้แก่ 1) K-CHINA-A(D) แบบจ่ายเงินปันผล 2) K-CHINA-A(A) แบบสะสมผลตอบแทน 3) K-CHINA-SSF แบบเพื่อการออม และ 4) K-CHINA-RMF แบบเพื่อการเลี้ยงชีพ
สำหรับ K-CHX และ K-CCTV เป็นกองทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้และเซินเจิ้น (A-Share) เท่านั้น ซึ่งจุดเด่นที่ทำให้ทั้ง 2 กองทุนมีความแตกต่างกัน นั่นคือ “กลยุทธ์การลงทุน” โดย K-CHX เน้นลงทุนหุ้นจีนขนาดใหญ่ที่สุด 50 ตัวแรกตามดัชนี FTSE China A50 ผ่านกองทุนหลัก CSOP FTSE China A50 ETF (RMB) ทำให้ผลการดำเนินงานของ K-CHX เติบโตตามเศรษฐกิจจีน และมีค่าธรรมเนียมต่ำ เนื่องจากเป็นกองทุนแบบ Passive
ส่วน K-CCTV เป็นกองทุนที่ใช้โมเดลควบคุมความเสี่ยง โดยผู้จัดการกองทุนของบลจ.กสิกรไทยจะคอยปรับสัดส่วนการลงทุนเพื่อลดความผันผวน และเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนผ่าน 2 กองทุนหลัก ได้แก่ UBS China A Opportunity (USD) ที่เน้นลงทุนแบบ High Conviction ในหุ้นจีนคุณภาพดีประมาณ 20-60 ตัวเท่านั้น และ Schroder ISF China A (USD) ที่สร้างผลตอบแทนได้อย่างโดดเด่นผ่านการกระจายการลงทุน (Diversified)” นายวจนะกล่าว
นายวจนะ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ลงทุนทั้งที่เคยลงทุนและไม่เคยลงทุนในกองทุนหุ้นจีน สามารถเข้าลงทุนเพิ่มได้ในช่วงนี้ โดยแนะนำให้ลงทุนในกองทุนหุ้นจีน ไม่เกิน 20-25% ของพอร์ต ซึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถในการรับความเสี่ยงของผู้ลงทุนแต่ละราย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 เม.ย. 66)
Tags: ธนาคารกลางสหรัฐ, บลจ.กสิกรไทย, วจนะ วงศ์ศุภสวัสดิ์, อัตราดอกเบี้ย, เฟด, เศรษฐกิจโลก