โมเมนตัม เวิร์กส (Momentum Works) บริษัทที่ปรึกษาด้านการเงินในสิงคโปร์ เผยแพร่รายงานการวิจัยในวันนี้ (15 มิ.ย.) ซึ่งระบุว่า บริการอีคอมเมิร์ซของติ๊กต๊อก (TikTok) สร้างรายได้เป็นอย่างมากในกลุ่มประเทศอาเซียน แต่ยังคงตามหลังคู่แข่งรายใหญ่ในภูมิภาค ท่ามกลางการแข่งขันด้านการขายสินค้าออนไลน์ที่เป็นไปอย่างดุเดือด
บริษัทติ๊กต๊อก (TikTok) ของไบต์แดนซ์ (ByteDance) ได้เปิดบริการติ๊กต๊อก ช็อป (TikTok Shop) ในกลุ่มประเทศอาเซียนเมื่อปี 2564 ซึ่งภายในปีเดียว ยอดขายสินค้าออนไลน์รวม (GMV) โดยประมาณ ได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 7 เท่า
รายงานระบุว่า ติ๊กต๊อก ช็อป มี GMV โดยประมาณในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพิ่มขึ้นจากระดับ 600 ล้านดอลลาร์ในปี 2564 สู่ระดับ 4.4 พันล้านดอลลาร์ในปี 2565 ซึ่งนับเป็นอัตราการเติบโตที่เร็วที่สุดในบรรดาคู่แข่งอย่าง ช้อปปี้ (Shopee) ลาซาด้า (Lazada) และโทโกพีเดีย (Tokopedia)
“ไบต์แดนซ์มีความมุ่งมั่นอย่างมากในการผลักดันบริการอีคอมเมิร์ซดังกล่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” นายเว่ยหาน เฉิน หัวหน้าฝ่ายข้อมูลเชิงลึกของโมเมนตัม เวิร์กส์ กล่าว “แต่ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าพวกเขาจะประสบความสำเร็จได้จริงในอนาคต เพราะผู้คนยังคงใช้บริการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซแบบดั้งเดิมมากกว่า”
สำนักข่าวนิกเกอิเอเชียรายงานว่า โมเมนตัม เวิร์กส ได้รับข้อมูล GMV จากคำสั่งซื้อแบบชำระเงินที่แพลตฟอร์มค้าปลีกออนไลน์รายใหญ่รายต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดจนการสัมภาษณ์ผู้คนในอุตสาหกรรมนี้ และการประมาณการเอง
แม้การแข่งขันของติ๊กต๊อกในวงการช็อปปิ้งออนไลน์จะประสบความสำเร็จ แต่ก็ยังเล็กน้อยเมื่อเทียบกับบรรดาคู่แข่งรายใหญ่กว่า โดย GMV โดยประมาณของช้อปปี้อยู่ 4.25 หมื่นล้านดอลลาร์ ในปี 2564 และเพิ่มขึ้นแตะ 7.49 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 ช้อปปี้เป็นแพลตฟอร์มช็อปปิ้งออนไลน์รายใหญ่ที่สุดในอาเซียน และมีส่วนแบ่งการตลาดเกือบครึ่งหนึ่งของภูมิภาคนี้
ด้าน GMV โดยประมาณของลาซาด้า ร่วงลงจากระดับ 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2564 สู่ระดับ 2.01 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2565
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 มิ.ย. 66)
Tags: TikTok, สิงคโปร์, อาเซียน, อีคอมเมิร์ซ