บราซิลแฉ คนงานจีนในไซต์ก่อสร้างโรงงาน BYD ตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์

ทางการบราซิลเปิดเผยเมื่อวันพฤหัสบดี (26 ธ.ค.) ว่า คนงานชาวจีนที่ทำงานในไซต์ก่อสร้างโรงงานของบีวายดี (BYD) ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่จากจีน ได้ตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งสร้างความปั่นป่วนให้กับ BYD ในตลาดต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของบริษัท

สำนักงานอัยการแรงงานของบราซิลออกแถลงการณ์หลังการประชุมร่วมกับตัวแทนของทั้ง BYD และบริษัทผู้รับเหมาจิ่นเจียง กรุ๊ป (Jinjiang Group) โดยระบุว่า ทั้งสองบริษัทได้ตกลงที่จะให้ความช่วยเหลือและจัดหาที่พักในโรงแรมให้กับคนงานทั้ง 163 คน จนกว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงในการยุติสัญญาจ้างงานของพวกเขาได้

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า แถลงการณ์สั้น ๆ ฉบับนี้ไม่ได้ระบุรายละเอียดว่า ทางอัยการได้ข้อสรุปดังกล่าวมาได้อย่างไร

ก่อนหน้านี้ ทางการบราซิลระบุว่า คนงานในไซต์ก่อสร้างที่รัฐบาเยีย ทางตะวันออกของประเทศนั้น ทำงานภายใต้ “สภาพที่เข้าข่ายการเป็นทาส” ซึ่งจิ่นเจียงได้ออกมาปฏิเสธเมื่อวันจันทร์ (23 ธ.ค.)

จิ่นเจียงชี้แจงผ่านโพสต์บนโซเชียลมีเดีย ซึ่งถูกแชร์ต่อโดยโฆษกของ BYD ว่า การเหมารวมว่าคนงานเหล่านั้น “ตกเป็นทาส” เป็นการกล่าวหาที่ไม่ถูกต้องและเกิดจากความเข้าใจผิดในด้านการแปลภาษา

ในช่วงแรก BYD ประกาศตัดความสัมพันธ์กับจิ่นเจียง แต่ต่อมาผู้บริหารระดับสูงของ BYD กลับออกมากล่าวหาว่า “กองกำลังต่างประเทศ” และสื่อของจีนบางแห่ง กำลัง “จงใจทำลายภาพลักษณ์ของแบรนด์และประเทศจีน รวมถึงบ่อนทำลายความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับบราซิล”

ด้านกระทรวงการต่างประเทศของจีนแถลงเมื่อวันพุธ (25 ธ.ค.) ว่า สถานทูตจีนในบราซิลกำลังอยู่ระหว่างการประสานงานกับรัฐบาลบราซิลเพื่อตรวจสอบและแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ยังไม่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมต่อข้อกล่าวหาเรื่องการค้ามนุษย์ในวันนี้ (27 ธ.ค.)

อัยการของบราซิลระบุว่า จะมีการนัดประชุมกับตัวแทนของทั้งสองบริษัทอีกครั้งในวันที่ 7 ม.ค.นี้ เพื่อเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหา

แม้ว่าข้อตกลงนี้อาจช่วยให้ BYD และจิ่นเจียงหลุดพ้นจากการสอบสวนของอัยการแรงงาน แต่ทั้งสองบริษัทก็ยังคงมีความเสี่ยงที่จะถูกตรวจสอบโดยผู้ตรวจการแรงงานและอัยการของรัฐบาลกลาง ซึ่งได้ร้องขอให้มีการเปิดเผยหลักฐานเพื่อ “พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายอาญาต่อไป” ตามแถลงการณ์

ปัจจุบัน BYD กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ในบราซิล โดยมีกำลังการผลิตเริ่มต้นที่ 150,000 คันต่อปี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการที่จะเริ่มการผลิตภายในต้นปีหน้า ทั้งนี้ เกือบ 20% ของยอดขายรถยนต์ BYD นอกประเทศจีนในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2567 นั้นมาจากบราซิล

เหตุการณ์ในครั้งนี้ได้จุดประเด็นให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ BYD บนโซเชียลมีเดียของจีนอย่างที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนัก และนำไปสู่การถกเถียงในประเด็นสิทธิแรงงาน โดยผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตชาวจีนหลายคนแสดงความเห็นว่า สภาพความเป็นอยู่ของคนงานในบราซิลนั้น ไม่ต่างจากสภาพความเป็นอยู่ที่พบเห็นได้ทั่วไปในไซต์งานก่อสร้างของจีน

อัยการของบราซิลได้เผยแพร่วิดีโอที่แสดงให้เห็นสภาพที่พักของคนงาน ซึ่งเป็นเตียงสองชั้นที่ไม่มีฟูกนอน พร้อมระบุว่าคนงานเหล่านี้ต้องทำงานเป็นเวลายาวนาน บางครั้งยาวนานถึง 7 วันต่อสัปดาห์ ภายใต้สภาพการทำงานที่ทางการบราซิลเรียกว่า “ย่ำแย่”

หู ซีจิ้น นักวิจารณ์ชื่อดังชาวจีนและอดีตบรรณาธิการของโกลบอล ไทม์ส (Global Times) ซึ่งเป็นสื่อแท็บลอยด์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน แสดงความเห็นในทิศทางเดียวกับจิ่นเจียงว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจเป็นผลมาจากความเข้าใจผิด อย่างไรก็ตาม หูเห็นว่า บริษัทก่อสร้างของจีนควรปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของพนักงานให้ดีขึ้น

หูมองว่า กรณีนี้ชี้ให้เห็นว่า BYD มีแนวโน้มที่จะต้องเผชิญกับข้อพิพาทและความขัดแย้งต่าง ๆ มากขึ้นในอนาคต เนื่องจากบริษัทกำลังก้าวขึ้นมาเป็นแบรนด์รถ EV ที่ทรงอิทธิพลที่สุดของจีน

“สิ่งเดียวที่ BYD ทำได้ในตอนนี้ คือการยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานของตนเองให้สอดคล้องกับอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นในทุก ๆ ด้าน แม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ผมเชื่อว่า BYD จะสามารถทำได้อย่างแน่นอน” หูกล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ธ.ค. 67)

Tags: , , ,