น้ำมัน WTI ปิดร่วง 4.96 ดอลล์ วิตกสงครามการค้า-ศก.ถดถอยทั่วโลก

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 7% ในวันศุกร์ (4 เม.ย.) แตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปี หลังจากจีนประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ซึ่งยกระดับความตึงเครียดในสงครามการค้าระหว่างสองประเทศ และทำให้นักลงทุนประเมินว่า มีโอกาสมากขึ้นที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก

ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ค. ร่วงลง 4.96 ดอลลาร์ หรือ 7.41% ปิดที่ 61.99 ดอลลาร์/บาร์เรล

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ร่วงลง 4.56 ดอลลาร์ หรือ 6.5% ปิดที่ 65.58 ดอลลาร์/บาร์เรล

ในรอบสัปดาห์นี้ น้ำมันดิบ WTI ร่วงลง 10.6% ซึ่งถือเป็นการลดลงรายสัปดาห์มากที่สุดในรอบ 2 ปี และราคาน้ำมันเบรนท์ร่วงลง 10.9% ซึ่งเป็นการลดลงรายสัปดาห์มากที่สุดในรอบ 1 ปีครึ่ง

จีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกประกาศจะเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นอีก 34% สำหรับสินค้าทุกชนิดจากสหรัฐฯ เริ่มตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. ขณะที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเตรียมมาตรการตอบโต้ หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีแตะระดับสูงสุดในรอบกว่าศตวรรษ

ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ อย่าง ก๊าซธรรมชาติ ถั่วเหลือง และทองคำ ต่างก็ร่วงลงเช่นกัน ขณะเดียวกันตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงลงรุนแรงเช่นกัน ขณะที่เจพีมอร์แกน (JPMorgan) ประเมินว่า โอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยภายในสิ้นปีเพิ่มขึ้นเป็น 60% จากเดิม 40%

เจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) กล่าวว่า มาตรการขึ้นภาษีของทรัมป์มากกว่าที่คาดไว้ และผลกระทบทางเศรษฐกิจจะรุนแรงตามไปด้วย ทั้งในด้านเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ซึ่งจะทำให้เฟดตัดสินใจยากขึ้นในการกำหนดนโยบายการเงิน

อีกปัจจัยที่กดดันราคาน้ำมันคือการที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันหรือโอเปกพลัสตัดสินใจเร่งแผนเพิ่มกำลังการผลิต โดยเตรียมเพิ่มการผลิตในเดือนพ.ค.เป็น 411,000 บาร์เรลต่อวัน จากแผนเดิมที่ 135,000 บาร์เรลต่อวัน

นอกจากนี้ การที่ศาลรัสเซียมีคำตัดสินไม่ระงับการดำเนินงานของท่าเรือส่งออกน้ำมันในทะเลดำของกลุ่ม Caspian Pipeline Consortium (CPC) ยังช่วยบรรเทาความกังวลเกี่ยวกับอุปทานน้ำมันที่ลดลงจากคาซัคสถาน

แม้การนำเข้าน้ำมัน ก๊าซ และผลิตภัณฑ์น้ำมันกลั่นจะได้รับการยกเว้นจากมาตรการภาษีใหม่ของทรัมป์ แต่นโยบายดังกล่าวยังอาจทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัว และความขัดแย้งทางการค้ารุนแรงขึ้น ซึ่งจะยิ่งกดดันราคาน้ำมันในระยะต่อไป

นักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์ (Goldman Sachs) ปรับลดเป้าหมายราคาน้ำมันในเดือนธ.ค. 2568 โดยลดคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเบรนท์และ WTI ลงอีก 5 ดอลลาร์ เหลือ 66 ดอลลาร์ และ 62 ดอลลาร์ตามลำดับ

ธนาคารเอชเอสบีซี (HSBC) ก็ปรับลดคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกในปี 2568 ลงจากเดิม 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เหลือ 0.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยอ้างอิงจากผลกระทบของภาษีและการตัดสินใจของกลุ่มโอเปกพลัส

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 เม.ย. 68)

Tags: , ,