สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกติดต่อกันเป็นวันที่ 2 ในวันพฤหัสบดี (10 ก.พ.) โดยได้ปัจจัยหนุนจากสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐที่ปรับตัวลดลงในสัปดาห์ที่แล้ว อย่างไรก็ดี บรรกาศการซื้อขายในตลาดได้รับแรงกดดันจากความกังวลที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี
- ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 22 เซนต์ หรือ 0.3% ปิดที่ 89.88 ดอลลาร์/บาร์เรล
- ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 14 เซนต์ หรือ 0.2% ปิดที่ 91.41 ดอลลาร์/บาร์เรล
ในช่วงแรกนั้น สัญญาน้ำมันดิบ WTI พุ่งขึ้นทะลุระดับ 91 ดอลลาร์/บาร์เรล ขานรับรายงานของสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) ซึ่งระบุว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐลดลง 4.8 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 100,000 บาร์เรล
อย่างไรก็ดี สัญญาน้ำมัน WTI ลดช่วงบวกในเวลาต่อมา เนื่องจากนักลงทุนเริ่มกังวลว่าเฟดอาจจะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้น 7.5% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2525 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 7.2% จากระดับ 7.0% ในเดือนธ.ค.
นอกจากนี้ นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟดที่มีสิทธิ์โหวตในปีนี้ กล่าวให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์บลูมเบิร์กว่า เขาต้องการเห็นเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1% ภายในวันที่ 1 ก.ค.นี้ โดยการแสดงความเห็นของนายบูลลาร์ดมีขึ้นไม่นานหลังจากสหรัฐเปิดเผยดัชนี CPI เดือนม.ค.เมื่อคืนนี้ตามเวลาไทย
นักลงทุนยังคงจับตาความคืบหน้าในการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน โดยชาติมหาอำนาจและอิหร่านได้กลับมาเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์ที่กรุงเวียนนา หลังจากที่ได้พักการเจรจาเป็นเวลา 10 วัน ส่วนสหรัฐนั้น ได้เข้าร่วมการเจรจาดังกล่าวทางอ้อม หลังจากที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศถอนตัวจากการเจรจาในปี 2561
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ความคืบหน้าในการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์อาจส่งผลให้อิหร่านกลับมาส่งออกน้ำมันในตลาดโลกได้กว่า 1 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งจะทำให้อุปทานน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้นราว 1% และสร้างแรงกดดันต่อราคาน้ำมัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ก.พ. 65)
Tags: lifestyle, WTI, น้ำมัน, น้ำมันดิบ, ราคาน้ำมัน