ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “สภาล่ม” โดยเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อ บุคคล/กลุ่มที่ควรรับผิดชอบต่อเหตุการณ์สภาล่ม ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 43.44% ระบุว่า ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล รองลงมา กลุ่มตัวอย่าง 42.37% ระบุว่า รัฐบาล อันดับสาม กลุ่มตัวอย่าง 37.94% ระบุว่า ส.ส.ฝ่ายค้าน อันดับสี่ กลุ่มตัวอย่าง 32.60% ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อันดับห้า กลุ่มตัวอย่าง 14.66% ระบุว่า นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร อันดับหก กลุ่มตัวอย่าง 12.60% ระบุว่า นายนิโรธ สุนทรเลขา ประธานวิปรัฐบาล อันดับ 7 กลุ่มตัวอย่าง 11.83% ระบุว่า นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน อันดับ 8 กลุ่มตัวอย่าง 2.29% ระบุว่า ไม่ควรมีใครต้องรับผิดชอบ
ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อสาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์สภาล่ม ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 49.85% ระบุว่า เป็นเกมการเมืองของกลุ่มที่ต้องการล้มรัฐบาล รองลงมา ระบุว่า มี ส.ส. จำนวนหนึ่ง ไร้สามัญสำนึกในการทำหน้าที่ภายในรัฐสภา และอีกส่วนหนึ่งมองว่า วิปรัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพ ขณะที่มีความเห็นอื่นๆ เช่น มี ส.ส. จำนวนหนึ่งขี้เกียจสัน, รัฐบาลต้องการเตะถ่วงกฎหมาย, วาระการประชุมไม่ดึงดูดใจให้เข้าประชุม, วิปฝ่ายค้านไม่มีประสิทธิภาพ, สภาล่มเป็นอุบัติเหตุ ไม่มีใครอยากให้เกิด เป็นต้น
เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อวิธีแก้ไขปัญหาเหตุการณ์ “สภาล่ม” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 30.15% ระบุว่า ลงโทษตัดเงินเดือน สวัสดิการ ส.ส.ที่ขาดประชุมสภาเกินกว่าที่กำหนดโดยไม่มีเหตุจำเป็น รองลงมา กลุ่มตัวอย่าง 22.82% ระบุว่า ลงโทษตัดสิทธิทางการเมือง ส.ส.ที่ขาดประชุมสภาเกินกว่าที่กำหนดโดยไม่มีเหตุจำเป็น อันดับสาม กลุ่มตัวอย่าง 22.29% ระบุว่า ลงโทษไล่ออกจากตำแหน่ง ส.ส. ในกรณีที่ขาดประชุมสภาเกินกว่าที่กำหนดโดยไม่มีเหตุจำเป็น อันดับสี่ กลุ่มตัวอย่าง 17.71% ระบุว่า ลงโทษปรับเงิน ส.ส. ทุกครั้งที่ไม่เข้าร่วมประชุม และอันดับห้า กลุ่มตัวอย่าง 16.03% ระบุว่า ลงโทษประจานชื่อผู้ขาดประชุมสภาต่อสาธารณะ
อนึ่ง ผลการสำรวจดังกล่าว มาจากความคิดเห็นของประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง ดำเนินการระหว่างวันที่ 8-10 กุมภาพันธ์ 2565
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ก.พ. 65)
Tags: นิด้าโพล, ประชุมสภา, ผลสำรวจ, สภาล่ม