นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญในถ้อยแถลงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 24 ผ่านระบบการประชุมทางไกล พร้อมผู้นำและผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียน และนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนว่า
โดยนายกรัฐมนตรีจีน กล่าวว่า จีนพร้อมส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันให้แน่นแฟ้นมากขึ้น โดยมุ่งมั่นทำงานร่วมกับอาเซียนเพื่อการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ฟื้นฟูการเติบโตทางเศรษฐกิจ และมุ่งสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชนมากขึ้นตลอดจน จีนพร้อมสนับสนุนอาเซียนในการแก้ปัญหาตามแนวทาง ASEAN WAY ตลอดจนพร้อมสนับสนุนบทบาทของอาเซียนให้เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งต้องการแลกเปลี่ยนความเห็นและความสัมพันธ์ระหว่างกันมากขึ้นด้วย
นายกรัฐมนตรี กล่าวแสดงความยินดีในโอกาสครบรอบ 100 ปี การก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน และการบรรลุเป้าหมายการขจัดความยากจนและการสร้างสังคมกินดีอยู่ดีที่อยู่บนพื้นฐานของการกระจายความเจริญอย่างทั่วถึง ไทยสนับสนุนการพัฒนาของจีนในฐานะมหาอำนาจที่มีความรับผิดชอบ และมุ่งหวังให้จีนมีบทบาทนำในความร่วมมือกับนานาประเทศ รวมทั้งอาเซียนและกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีจะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ ในปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ ในโอกาสครบรอบ 30 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-จีน
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้เสนอแนวทางกระชับความสัมพันธ์อาเซียน-จีน เพื่อจัดการกับความท้าทาย และบรรลุเป้าหมายแห่งอนาคตร่วมกัน ดังนี้
ประการแรก ความมั่นคงทางสุขภาพ เพื่อรับมือกับโควิด-19 และโรคอุบัติใหม่ในอนาคต โดยมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาวัคซีนและยาต้านไวรัสที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์การผลิตและกระจายวัคซีนในอาเซียน ตลอดจน การเตรียมความพร้อมทางสาธารณสุขให้ครอบคลุมทุกมิติ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งนี้ เพื่อลดอัตราความสูญเสีย และสามารถรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ประการที่สอง ความมั่นคงทางเศรษฐกิจเพื่อการฟื้นฟูที่ยั่งยืน และการเสริมสร้างความแข็งแกร่งในระยะยาว โดยจีนเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจลำดับที่หนึ่งของอาเซียน และในวันนี้ได้มีการรับรองเอกสารยืนยันเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะดำเนินการตามกรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน
ทั้งนี้ ไทยพร้อมร่วมมือในการยกระดับ FTA อาเซียน-จีน และเร่งดำเนินการในส่วนของไทยในการให้สัตยาบันความตกลง RCEP เพื่อให้มีผลใช้บังคับโดยเร็ว พร้อมทั้งสนับสนุนการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพิ่มมูลค่า ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพของ MSMEs, start-ups และผู้ประกอบการท้องถิ่น โดยคำนึงถึงผลกระทบด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ นอกจากนี้ อาเซียน-จีน ควรสานต่อความเชื่อมโยงตามแถลงการณ์ว่าด้วยการสอดประสานระหว่างแผนแม่บท MPAC 2025 กับข้อริเริ่ม BRI รวมทั้งร่วมกันกำหนดมาตรการอำนวยความสะดวกในการเดินทางระหว่างประเทศที่ปลอดภัย เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการเดินทางของประชาชน
ประการที่สาม การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการก้าวไปข้างหน้าด้วยกันอย่างมั่นคง โดยไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานของอาเซียนในเรื่องนี้ มุ่งมั่นและพร้อมที่จะมีบทบาทที่สร้างสรรค์ในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ ในปีแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนอาเซียน-จีน พ.ศ. 2564 – 2565 ตลอดจนแสวงหาความร่วมมือตามโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ซึ่งจะเป็นแนวทางสู่การฟื้นฟูและการเติบโตอย่างครอบคลุม สมดุล และยั่งยืน
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำการรักษาสันติภาพที่ยั่งยืน เพื่อนำอาเซียนและจีนก้าวสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม โดยรักษาความเป็นแกนกลางของอาเซียน ทั้งนี้ ไทยไม่ประสงค์จะเห็นความขัดแย้งหรือการเผชิญหน้าระหว่างมิตรประเทศ และสนับสนุนให้มีการหารือเพื่อหาทางออกร่วมกันในประเด็นทะเลจีนใต้ โดยไทยพร้อมผลักดันความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย อาทิ การปกป้องสิ่งแวดล้อมทางทะเล ตลอดจนสนับสนุนการดำเนินการตามกลไกอาเซียน-จีนที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการเจรจาจัดทำ COC ที่มีประสิทธิภาพ ครอบคลุม และสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศให้สำเร็จ ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่าหวังว่าจะได้ให้การต้อนรับประธานาธิบดีสีจิ้นผิงที่ไทยในการประชุมเอเปคปี 2565 ด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ต.ค. 64)
Tags: FTA, ข้อตกลงการค้าเสรี, ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ, จีน, ธนกร วังบุญคงชนะ, ประชุมสุดยอดอาเซียน, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, หลี่ เค่อเฉียง, อาเซียน