นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เป็นประธานเปิดงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาเปิดตัว “คู่มือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียน และมาตรฐานผลกระทบ SDG” ว่า คู่มือดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสนับสนุนภาคธุรกิจเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น ที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญ เพื่อให้ไทยบรรลุเป้าหมาย SDG ของสหประชาชาติในทุกๆมิติ เป็นแนวทางที่ไทยจะสามารถพัฒนาได้อย่างครอบคลุมและยั่งยืน ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยรัฐบาลสื่อสารทุกภาคส่วน ทั้งระดับประเทศและประชาคมโลกถึงความมุ่งมั่นประเทศ ให้บรรลุเป้าหมาย SDG และเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2065
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้นำเป้าหมายเหล่านี้มาบูรณาการนโยบายสำคัญของประเทศในทุกระดับ รวมถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 และแผนยุทธศาสตร์ของทุกกระทรวงด้วย ซึ่งภายใต้กติกาใหม่ของการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ แนวโน้มตลาดโลกที่ให้ความสำคัญการทำธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ถือเป็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลก ที่กำลังกลายเป็นบรรทัดฐานการทำธุรกิจและการลงทุน
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มดังกล่าวถูกมองเป็นความเสี่ยงต่อธุรกิจที่ไม่สามารถปรับตัวตามบรรทัดฐานใหม่ได้อย่างทันท่วงทีและอาจทำให้การสูญเสียความสามารถในการแข่งขันไปอย่างช้าๆ แต่ขณะเดียวกันรัฐบาลมองสิ่งนี้เป็นโอกาส สำหรับประเทศไทยและภาคเอกชนในการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ทั้งในภาคการผลิต การบริการ พลังงาน การเกษตร ภาคป่าไม้ การเงินและตลาดทุน เพื่อคงความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืน และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้กับภาคธุรกิจและประเทศไทย ภายใต้บรรทัดฐานใหม่ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนและมีเสถียรภาพอย่างแท้จริง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จำเป็นอาศัยความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์ จากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ภาคประชาสังคม รวมถึงภาคส่วนอื่นๆ ในระบบเศรษฐกิจ โดยมีทิศทางสอดคล้องกัน เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ SDG
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในส่วนเรื่องรัฐโดยกระทรวงการคลัง ได้กำกับดูแลนโยบาย เพื่อมุ่งไปสู่การบรรลุเป้าหมายสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนมาโดยตลอด ในมิติเศรษฐกิจ กระทรวงการคลังส่งเสริมการเจริญเติบโตเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องและยั่งยืน ผ่านการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ เช่น การส่งเสริมการเข้าถึงการให้บริการทางการเงินผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ รวมถึงการเปิดโอกาสให้ผู้บริการทางการเงินประเภทใหม่ อย่างฟิโก้ไฟแนนซ์เข้ามามีส่วนร่วมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและบริการทางการเงินของประชาชนในระดับฐานราก
สำหรับมิติสิ่งแวดล้อม กระทรวงคลังได้ใช้มาตรการภาษีรูปแบบต่างๆ เช่น การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสรรพสามิต การส่งเสริมการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าภายในประเทศ มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์เกษตรที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ และยังได้ออกแผนงานจัดซื่อจัดจ้างบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของภาครัฐ และการกำหนดให้ทุกหน่วยงานราชการ จัดซื้อจัดจ้าง การซื้อรถไฟฟ้ามาใช้ในส่วนราชการแทนรถยนต์เดิมที่หมดอายุไป
นอกจากนี้ ไทยให้ความสำคัญกับมิติหุ้นส่วนในการพัฒนา ซึ่งขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับโลก การให้ความช่วยเหลือด้านพัฒนา โดยการบริจาคเงินทุนของสมาคมพัฒนาระหว่างประเทศ ภายใต้ธนาคารโลก
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก ต้องมีการระดมทุนจากภาคเอกชนเข้ามาด้วย กระทรวงการคลังให้ความสำคัญภาคการเงินและตลาดทุน ในการเป็นกลไกสนับสนุนเศรษฐกิจให้สามารถเปลี่ยนแปลงไปสู่ความยั่งยืนได้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น การออกตราสารหนี้เพื่อระดมเม็ดเงินจากภาคเอกชนสำหรับการดำเนินการด้านความยั่งยืนของกระทรวงการคลัง รวมไปถึงการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) และต่อมาขยายไปยังการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการบริโภค และการเกษตรด้วย
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงคลังยังมีแผนงานที่จะออก Sustainability Bond ขยายขอบเขตไปลงทุนโครงการด้านสิ่งแวดล้อมในภาครัฐให้มากขึ้นด้วย และยังความสำคัญในการพัฒนาเครื่องมือเชิงนโยบายที่หลากหลาย เพื่อสนับสนุนการดำเนินการทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเอกชน
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ภาคเอกชนเป็นภาคีหลักช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยเติบโตไปในทิศทางยั่งยืนและบรรลุเป้าหมายของ SDG ได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านบทบาทของการเป็นผู้ขับเคลื่อนเงินทุน เทคโนโลยี นวัตกรรม การผลิต และการจ้างงาน รวมถึงความสามารถและช่องทางหลากหลายในการเข้าถึงพื้นที่ต่างๆของประเทศ ซึ่งถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่ได้เห็นภาคธุรกิจเข้ามาผลักดันวาระพัฒนาที่ยั่งยืนมากขึ้น โดยเห็นแนวโน้มการเติบโตอย่างยั่งยืนในเชิงบวกโดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนของประเทศ ที่ถูกกำกับดูแลโดยก.ล.ต.
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี เชื่อว่า คู่มือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียน และมาตรฐานผลกระทบ SDG จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ภาคธุรกิจขับเคลื่อน บรรลุเป้าหมาย SDG ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังสามารถบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจและการเงินได้พร้อมๆกัน
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า SDG Index ถือเป็นที่หนึ่งในอาเซียนถือว่ามีนัยสำคัญ เพราะการที่บริษัทต่างๆจะมาลงทุนในประเทศไทย SDG Index ถือเป็นตัวชี้วัดสำคัญในการที่ประเทศให้ความสำคัญการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นการเชื้อเชิญให้บริษัทระดับโลกมาลงทุนในประเทศไทย และเป็นต่อกว่าประเทศคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย หรือเวียดนาม และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจะมีส่วนสำคัญให้มีการผลักดันยกขีดระดับการแข่งขันของประเทศให้ดีขึ้น เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนคนไทยให้ดีขึ้นในระยะยาวต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ต.ค. 66)
Tags: การลงทุน, คู่มือ SDG, นายกรัฐมนตรี, ภาคธุรกิจ, เศรษฐา ทวีสิน