นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมในฤดูฝนว่า นายกฯ มีความเป็นห่วงอย่างมาก ต้องการให้ปีนี้มีการเตรียมการอย่างดีที่สุด จึงสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และกรมอุตุนิยมวิทยา ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเน้นการเตือนภัยให้ประชาชนรู้ล่วงหน้าว่า อาจจะเกิดอุทกภัย หรือภัยจากฝนที่ตกหนัก
“พื้นที่ไหนที่มีปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก นายกรัฐมนตรี กำชับว่า ปีนี้อย่ารอให้ฝนตกจนน้ำท่วม แต่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงไปเตรียมการในพื้นที่ดูความพร้อม เพื่อรับมือปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ที่มีปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก โดยเน้นว่า รมว.กลาโหม และผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) หน่วยทหาร ควรยื่นมือเข้าไปช่วยสนับสนุนการทำงานของกระทรวงมหาดไทย” โฆษกรัฐบาล กล่าว
นายชัย กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ยังขอว่าพื้นที่ที่ฝนตกเกินกำลังจริง ๆ จนน้ำท่วม ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปช่วยแก้ปัญหา ช่วยเหลือประชาชนให้รวดเร็วกว่าเดิม ซึ่ง ร.อ.ธรรมนัส รายงานในที่ประชุม ครม.ว่า ไม่นิ่งนอนใจ โดยได้ลงพื้นที่ภาคตะวันออก และสั่งการให้แก้ปัญหาอุทกภัยที่ จ.ตราด และจันทบุรี และขณะนี้อ่างเก็บน้ำในภาคตะวันออก ประมาณ 4 อ่าง เกือบจะเต็มความจุ
อย่างไรก็ดี จากรายงานปีนี้ มีปริมาณฝนมากกว่าปีที่แล้วแน่นอน แต่โชคดีว่าฝนตกหนักเดือนเว้นเดือน ซึ่งประเมินแล้ว ภาคตะวันออกเอาอยู่ ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะนี้วางแผนแล้ว ทั้งนี้ สัปดาห์หน้าจะขึ้นไปตรวจดูทุกจุดในลุ่มน้ำมูล และลุ่มน้ำชี เพื่อจะพิจารณาว่าจะสามารถป้องกันการเกิดอุทกภัยในปีนี้ให้ดีกว่าปีที่แล้วได้อย่างไร
นายชัย กล่าวต่อว่า ขณะที่กระทรวงมหาดไทย ได้ตรวจสอบระดับน้ำในแม่น้ำชี ซึ่งพบว่าระดับน้ำสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่แม่น้ำโขงในส่วนของ จ.อุบลราชธานี ขณะนี้ระดับน้ำยังต่ำอยู่
โดยนายเกรียง กัลป์ตินันท์ รมช.มหาดไทย ได้เสนอว่า อยากให้กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาน พิจารณาพร่องน้ำในแม่น้ำมูล และแม่น้ำชีตั้งแต่ช่วงนี้ เพราะจากนี้จนถึงปลายเดือน ส.ค. เมื่อระดับน้ำในแม่น้ำโขงสูงขึ้น หากพร่องน้ำช้าจะทำได้ยากขึ้น ซึ่ง ร.อ.ธรรมนัสน้อมรับ และกระทรวงเกษตรฯ จะนำข้อมูลนี้ไปวางแผนเพื่อประกอบการปฏิบัติการต่อไป
- ก.เกษตรฯ มั่นใจปริมาณน้ำเหนือ-อีสาน คุมอยู่
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในปัจจุบันว่า แม่น้ำจากภาคเหนือ ปิง วัง ยม น่าน ที่ไหลสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ยังอยู่ในปริมาณที่สามารถควบคุมได้ ส่วนภาคอีสานและลำน้ำสาขา ปัจจุบันมีน้ำมากกว่าปีที่แล้ว แต่มีการบริหารจัดการ เฝ้าระวัง เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อประชาชนทั้งภาคเกษตร และบ้านเรือนของประชาชน
ส่วนในภาคตะวันออก ปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากมีปริมาณฝนตกหนักในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยใน จ.ตราด อ.เมือง อ.เขาสมิง ซึ่งวานนี้ (29 ก.ค.) ตนได้ลงพื้นที่ จ.ตราด-จันทบุรี และสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควบคุมสถานการณ์น้ำ หากไม่มีปริมาณฝนตกมาเพิ่มเติม ก็มั่นใจว่าจะสามารถควบคุมได้
ขณะที่อ่างเก็บน้ำใน จ.ตราด ทั้งหมด 7 แห่ง เวลานี้ 4 แห่ง มีปริมาณน้ำล้น แต่ยังสามารถบริหารจัดการได้ใน 3 แห่ง เช่นเดียวกับ จ.จันทบุรี ที่สถานการณ์น้ำยังสามารถควบคุมได้ ส่วนในภาคใต้ ยังไม่ถึงเวลาที่ฝนตกหนัก จึงยังต้องเฝ้าระวังอีก 2 เดือน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ก.ค. 67)
Tags: ชัย วัชรงค์, น้ำท่วม, อุทกภัย