นายกฯ หารือผู้บริหาร Geely เพิ่มโอกาสลงทุนผลิตรถ EV ครบวงจรในไทย

นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการหารือระหว่างนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กับ Mr. Daniel li (นายแดเนียล ลี) CEO บริษัท Geely ว่า นายกรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นโอกาสดีสำหรับ Geely และรัฐบาลไทย ที่ได้หารือเกี่ยวกับโอกาสการลงทุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และกิจการต่อเนื่องในประเทศไทย พร้อมขอบคุณบริษัทที่เห็นศักยภาพและพิจารณาลงทุนในประเทศไทย

รวมทั้งทราบว่าบริษัทมีแผนจะนำรถ EV Pickup ไปจำหน่ายในไทยในเดือนต.ค.นี้ ซึ่งนายกฯ เห็นว่ายังไม่มีผู้นำตลาดรถกระบะไฟฟ้าภายในประเทศ จึงเป็นโอกาสดีของบริษัทที่จะเข้ามาทำตลาดในไทย ในฐานะผู้นำตลาดรถกระบะไฟฟ้าในประเทศไทย

นายกรัฐมนตรี เชื่อมั่นว่าไทยมีโอกาสสำหรับการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ดีที่สุด บริษัทฯ สนใจลงทุนในไทยด้านยานยนต์ โดยเฉพาะ EV พลังงาน Solar ซึ่งนายกฯ ได้เชิญชวนให้บริษัทฯ เข้ามาผลิตรถยนต์ EV ทั้งระบบครบวงจร โดยไทยยินดีเสนอสิทธิพิเศษการลงทุนและอำนวยความสะดวก

ไทยมีศักยภาพรองรับ และเป็น Detroit of Asia อยากเชิญชวนบริษัท มาผลิตรถ EV ทั้งระบบ ตั้งแต่อะไหล่ เครื่องยนต์ จนถึงการประกอบรถยนต์ เพื่อส่งออก บริษัทตั้งเป้าผลิตรถซีดานปีละ 100,000 คันต่อปี แต่หากรวมรถประเภทอื่นจะถึง 200,000 คันต่อปี

นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยี swap battery เพื่อสะดวกต่อการชาร์จ จึงต้องการพื้นที่สำหรับ station การชาร์จ และการเปลี่ยนแบตเตอรี่ ซึ่งตรงนี้บริษัทให้ความสำคัญมาก ซึ่งไทยเห็นว่ายังมีอีกหลายประเด็นที่ติดขัดกับระเบียบปัจจุบัน แต่จะดำเนินการเพื่อประโยชน์ร่วมกัน

โดยก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรียังได้รับฟังสรุปผลการประชุมขยายโอกาสทางธุรกิจการค้าการลงทุนระหว่างไทย-จีน ในระหว่งการเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการครั้งแรก ซึ่งมีผู้แทนภาคเอกชนไทย 50 รายจากกว่า 20 บริษัท ร่วมเดินทางเยือนจีนได้ร่วมกิจกรรมขยายโอกาสทางธุรกิจการค้าการลงทุนระหว่างไทย-จีน ในงานเสวนาโต๊ะกลม Strengthening Thailand-China Business Partnership ที่กรุงปักกิ่ง โดยมีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจีนเข้าร่วม เช่น สภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สำนักงานกำกับดูแลตลาดแห่งชาติ สำนักงานศุลกากร สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญา สภาธุรกิจจีน-อาเซียน ตลอดจนนักธุรกิจสาขาต่างๆ

หลังกิจกรรมเสร็จสิ้น นายกรัฐมนตรีได้เข้ารับฟังรายงานผลจากนักธุรกิจไทยด้วยตัวเอง เนื่องจากเห็นถึงความสำคัญของบทบาทภาคเอกชนที่มีส่วนช่วยขับเคลื่อนความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ ซึ่งสิ่งที่ภาคเอกชนไทยจะผลักดันต่อไปคือ การสนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนระหว่างผู้ประกอบการไทย-จีน การสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวจีน การยกระดับอุตสาหกรรมของสองประเทศ การเร่งขับเคลื่อนนวัตกรรมและการพัฒนาร่วมกันของห่วงโซ่อุตสาหกรรม เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับนายกรัฐมนตรีจะพิจารณาใช้ประโยชน์ในการหารือทวิภาคีกับนายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีนในวันนี้ และนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ในวันพรุ่งนี้ (19 ต.ค.)

สำหรับนักธุรกิจไทยส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมกิจกรรมนี้ มาในนามคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เช่น นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้แทนประธานสมาคมธนาคารไทย, นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน และบริษัทรายใหญ่อื่นๆ ที่ค้าขายลงทุนกับจีน เช่น SCG, อมตะ คอร์ปอเรชัน, บ้านปู, มิตรผล, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกสิกรไทย ฯลฯ

ปัจจุบัน จีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย มูลค่าการค้ารวมเมื่อปี 2565 อยู่ที่ 105,404 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ จีนยังเป็นนักลงทุนต่างชาติอันดับ 1 ของไทย โดยในปี 2565 มีจำนวนโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 158 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 77,381 ล้านบาท

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ต.ค. 66)

Tags: , , , ,