นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม สนับสนุนการใช้ผ้าไหมไทยร่วมสมัยผ่านโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอด้วยการออกแบบเชิงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมสู่อีสานแฟชั่น มุ่งเน้นการพัฒนาเทคนิคการผลิตผ้าไหมรูปแบบใหม่ให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่และวัยทำงาน สร้างภาพลักษณ์ให้ผลิตภัณฑ์มีความหรูหราและคุณภาพสูง มีลวดลายที่ประณีตสวยงาม พร้อมผลักดันให้เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ
โดยสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ (สสท.) กระทรวงอุตสาหกรรม จัดกิจกรรมยกระดับอุตสาหกรรมสิ่งทอและผ้าพื้นเมืองให้เติบโตและเข้มแข็ง ผ่านโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอด้วยการออกแบบเชิงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมสู่อีสานแฟชั่นต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2562 ส่งผลให้มีผ้าไหมมัดหมี่ลวดลายใหม่กว่า 122 ลาย รวมทั้งเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า และเครื่องประดับ (Accessories) อีกกว่า 108 ผลิตภัณฑ์ ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถนำไปผลิตและจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ เป็นการสร้างโอกาสทางการตลาด และขยายกลุ่มตลาดใหม่ ทั้งนี้ยังมีการพัฒนาผู้ประกอบการผ้าไหม และผู้ที่เกี่ยวข้องธุรกิจผ้าพื้นเมืองในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือกว่า 1,618 คน เพื่อสร้างรายได้ สร้างงานให้ชุมชน รวมถึงสร้างโอกาสทางการตลาด และยอดขายในประเทศกว่า 6,635,456 บาท (เฉพาะผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาใหม่)
ในปี 2566 โครงการพัฒนาผ้าไหมไทยร่วมสมัย (Premium Thai Silk) เป็นความร่วมมือของ สสท.กับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ หนองบัวลำภู สุรินทร์ ขอนแก่น และนครราชสีมา มุ่งเน้นการพัฒนาเทคนิคการผลิตผ้าไหมในรูปแบบใหม่ให้กับผ้าไหมแพรวา ผ้าไหมขิด ผ้าไหมยกดอก ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าไหมบาติก และผ้าไหมแต้ม ด้วยการสร้างภาพลักษณ์ให้ผลิตภัณฑ์มีความหรูหราและคุณภาพสูง (Premium & High Quality) มีลวดลายที่ประณีตสวยงาม สร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างอัตลักษณ์ การจดจำผ้าไหมไทยให้เป็นที่รู้จักระดับสากล พร้อมยกระดับการผลิตจากชุมชนหรือ Local สู่ภาคอุตสาหกรรม รวมไปถึงกระทรวงอุตสาหกรรมมีเป้าหมายพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้จำนวน 24 ผลิตภัณฑ์ โดยมุ่งเน้นการออกแบบและผลิตผ้าไหมไทยร่วมสมัยแบบใหม่ ผสมผสานการใช้ทุนวัฒนธรรมและแนวโน้มของตลาด ให้เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ วัยทำงาน และขยายตลาดต่างประเทศไปสู่ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และอิตาลี
สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นกลุ่มพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สาขาสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และผ้าไหมพื้นเมือง ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น : กลุ่มผ้าไหมมัดหมี่ย้อมสีธรรมชาติบ้านหนองหญ้าปล้อง (ผ้าไหมอีรี่มัดหมี่) วิสาหกิจชุมชนผ้าไหมมัดหมี่บ้านหัวฝาย (ผ้าไหมแต้ม) , จังหวัดนครราชสีมา : กลุ่มหัตถกรรมผ้าไหมบ้านดู่ (ผ้าไหมมัดหมี่) , จังหวัดหนองบัวลำภู : กลุ่มทอผ้าแม่เอื้อมคำ by เมเม่ (ผ้าไหมขิด) , จังหวัดกาฬสินธุ์ : กลุ่มสตรีสหกรณ์บ้านโพนแพรวา (ผ้าไหมแพรวา) และจังหวัดสุรินทร์ : กลุ่มสตรีทอผ้าไหมลายยกดอกบ้านดู่นาหนองไผ่ และกลุ่มจันทร์หอม (ผ้าไหมยกดอก)
“นายกรัฐมนตรีสนับสนุนการดำเนินการของโครงการดังกล่าว เชื่อมั่นว่าสามารถพัฒนา เพิ่มมูลค่าทางการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์สิ่งทอ รวมทั้งส่งเสริมให้สอดคล้องต่อความต้องการของตลาดกลุ่มคนรุ่นใหม่ และตลาดต่างประเทศในระดับพรีเมี่ยม ทั้งนี้ เชื่อมั่นในศักยภาพสินค้า Soft Power ของไทย ผ่านการสร้างและนำเสนออัตลักษณ์ความเป็นไทยลงบนผืนผ้าให้เป็นที่รู้จักในตลาดโลก ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดีให้กับผู้ประกอบการไทย และสินค้าไทย ในการขยายโอกาสทางการตลาด” นายอนุชา กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 มิ.ย. 66)
Tags: ประยุทธ์ จันทร์โอชา, ผ้าไหม, อนุชา บูรพชัยศรี