นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยใช้ประโยชน์จาก ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of Preference: GSP) กับประเทศคู่ค้าที่ได้รับสิทธิ โดยในช่วงมกราคม-กุมภาพันธ์ 2567 ไทยมีการใช้สิทธิประโยชน์ GSP เพิ่มมากขึ้นในสินค้าหลากหลายจำพวก โดยในปี 2567 ระหว่างเดือน มกราคม-กุมภาพันธ์ 2567 มีตัวเลขการสิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ระบบ GSP มูลค่ารวมที่ 480.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
จากข้อมูลของ กรมการค้าต่างประเทศ ประเทศไทยมีการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าสำหรับการส่งออกภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป โดยปัจจุบัน ประเทศไทยสามารถใช้สิทธิ GSP ได้ใน 4 กลุ่มประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ และกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (CIS) โดยในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2567 ประเทศไทยได้ใช้สิทธิ GSP ทั้งหมด รวมเป็นสัดส่วน 56.92% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของสินค้าที่ได้รับสิทธิ รวมมูลค่า 480.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ ไทยได้ส่งออกสินค้าภายใต้สิทธิ GSP ไปยังสหรัฐฯ มากที่สุด อันดับ 1 รวมมูลค่า 444.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 62.17% ของสินค้าที่ได้รับสิทธิ โดยการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯภายใต้การใช้สิทธิ GSP สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่ง พลาสติกปูพื้นทำด้วยโพลิเมอร์ของไวนิลคลอไรด์ หีบเดินทางขนาดใหญ่หรือกระเป๋าใส่เสื้อผ้า และกรดมะนาวหรือกรดซิทริก ซึ่งถุงมือยาง เป็นสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกที่ใช้สิทธิดังกล่าวสูงสุดเป็นมูลค่า 22.61 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 30% ซึ่งไทยถือเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าถุงมือยางที่สำคัญของสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯได้นำเข้าถุงมือยางจากประเทศไทยเป็นอันดับที่ 2 รวมมูลค่า 32.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากนี้ในช่วงเดียวกัน ไทยได้มีการใช้สิทธิ GSP กับทางสวิตเซอร์แลนด์ รวมเป็นมูลค่า 32.91 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในสินค้าจำพวก เพชรพลอยรูปพรรณ และ กับนอร์เวย์ รวมมูลค่า 2.28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในสินค้าจำพวก สูทของสตรีหรือเด็กหญิงทำด้วยขนแกะ รวมถึงกับกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (CIS) รวมมูลค่า 0.91 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในสินค้าจำพวก สับปะรดกระป๋อง
“นายกรัฐมนตรีสั่งการหน่วยการที่เกี่ยวข้องให้อำนวยความสะดวก ในการหาช่องทาง เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจ จากสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ระหว่างประเทศคู่ค้า สร้างแต้มต่อทางการค้า โดยสำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ดังกล่าว ถือว่าเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยสร้างข้อได้เปรียบทางด้านราคาสินค้าให้กับผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกสินค้าไปขายในประเทศคู่ค้า เพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับประเทศส่งออกอื่นๆ” นายชัย กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 มิ.ย. 67)
Tags: GSP, ชัย วัชรงค์, ภาษีศุลกากร, เศรษฐา ทวีสิน