นายกฯ สั่งเร่งสางคดี “ดิ ไอคอน” รมว.คลัง ยกกม.อาญาจ่อเอาผิดหากเข้าข่ายฉ้อโกง

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สั่งการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เร่งสะสางคดีบริษัท ดิ ไอคอน กรุ๊ป จำกัด ที่มีประชาชนร้องเรียนว่าได้รับความเสียหายจากการขายตรงและการขายสินค้าออนไลน์ โดยให้จัดช่องทางให้ประชาชนได้เข้าแจ้งความหรือแจ้งเบาะแสได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้นเพื่อรวบรวมจำนวนผู้ได้รับผลกระทบและความเสียหาย

พร้อมกันนี้ให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เร่งกำหนดมาตรการและการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงให้ความรู้กับประชาชนด้วย เพราะมีคนเข้าไปอยู่ในเครือข่ายที่ไม่ทราบถึงรายละเอียดการขายตรงว่า จะต้องมีอะไรบ้าง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหานี้อีกในอนาคต และป้องกันไม่ให้เกิดการหลอกลวงเช่นนี้อีก

นอกจากนี้ ให้กระทรวงสาธารณสุข โดยคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เร่งตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายเพื่อไม่ให้มีการนำสินค้าที่ไม่ผ่านการรับรองมาจำหน่ายในระบบขายตรงหรือการขายออนไลน์ พร้อมกันนี้ให้กระทรวงการคลังเข้าไปตรวจสอบและกำหนดมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดการทำธุรกิจในลักษณะมาแชร์ลูกโซ่ขึ้นอีก

ส่วนการเรียกรับหรือจ่ายสินบนให้กับนักการเมืองนั้น ได้พูดคุยกับ พล.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) แล้ว ให้มีการอัปเดตเรื่องต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ที่รัฐบาล และ สตช.ไม่ได้นิ่งนอนใจ คิดว่าต้องมีการสอบสวนต่อว่าใครทำอะไรบ้าง และขอให้ตำรวจดำเนินการจริงจัง ซึ่ง ผบ.ตร.ก็จริงจังในเรื่องนี้

ทั้งนี้ เรื่องคดีหากเป็นคดีพิเศษ สำนักงานสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ก็จะต้องเข้ามาช่วยตำรวจให้ทำงานมีความละเอียดรอบคอบดียิ่งขึ้น พร้อมขอให้ ผบ. ตร.เร่งตรวจสอบเรื่องรับส่วยอย่างจริงจัง เพราะไม่อยากให้มีผู้เสียหายเพิ่มเติมอีก

ส่วนที่มีข้อกล่าวหา “มีเทวดาใน สคบ.” นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในกรอบกว้าง ๆ ไม่อยากให้ธุรกิจที่หลอกลวงชาวบ้านเกิดขึ้นอีก เพราะมีผู้ได้รับความเสียหายกลุ่มใหญ่กว่าที่คาดไว้มาก ซึ่งสั่งการทุกฝ่ายไปทำงานอย่างจริงจัง เร็วที่สุด และนำผลลัพธ์ที่ได้มาแถลงต่อประชาชนเพื่อให้เกิดความสบายใจ และทราบว่าต่อไปที่จะทำธุรกิจต้องมีข้อมูลอะไรบ้างเพื่อจะไม่ถูกหลอกอีก

ส่วนคลิปเสียงที่ระบุว่ามีฝ่ายการเมืองสามารถวิ่งเต้นไม่ให้เอาเรื่องเข้ากรรมาธิการได้นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องนี้นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ได้สั่งการไว้แล้ว

ด้าน นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้กระทรวงการคลังดูแลว่าเรื่องนี้เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 341 และ 342 ประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่ ส่วนกฎหมายที่เคยออกไว้และเข้าข่ายในลักษณะเช่นนี้ คือ พ.ร.ก.กู้ยืมที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน

โดยกรณีดังกล่าวต้องดูว่ามีลักษณะ 3 ประการ คือ 1.เป็นการโฆษณาให้บุคคลตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปรับรู้ 2.จ่ายผลตอบแทนที่สูงกว่า หากมีลักษณะการกู้ยืมเงินเข้ามาเกี่ยวข้องได้จ่ายอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่สถาบันการเงินคิดหรือไม่ และ 3.เข้าเงื่อนไขการนำเงินจากคนอื่นเพื่อมาจ่ายหมุนเวียนให้กับผู้ที่ให้การกู้ยืม และกิจการที่ประกอบนั้นชอบด้วยกฎหมายและผลประโยชน์ที่ได้จากการประกอบการมีเพียงพอที่สามารถนำมาจ่ายได้หรือไม่

กรณีดังกล่าวจะเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่ เจ้าหน้าที่จะเป็นผู้พิจารณา โดยทางกระทรวงการคลังจะติดตามว่าการแก้ไขจะมีผลอย่างไรเพื่อปรับปรุงกฎหมายให้ดีขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ต.ค. 67)

Tags: , , ,