น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังจากประเทศไทยรับหน้าที่เป็นประธานความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (BIMSTEC) เมื่อวันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้มอบหมายกระทรวงคมนาคมให้เร่งลงทุนในโครงการต่างๆ ตามแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงด้านคมนาคม BIMSTEC ซึ่งครอบคลุมทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำและอากาศ เพื่อย้ำถึงบทบาทของประเทศไทยในฐานะประธานและผู้ขับเคลื่อนหลักของสาขาความเชื่อมโยงจากความร่วมมือทั้งหมด 7 สาขา รวมถึงเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของประเทศอย่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC) กับระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) และใช้โอกาสจากความร่วมมือในการเชื่อมโยงทางทะเลไปสู่เอเชียใต้ ตะวันออกกลางและยุโรป ซึ่งเป็นแนวเส้นทางยุทธศาสตร์ทางการค้าของประเทศไทย
“นายกรัฐมนตรีมอบให้กระทรวงคมนาคมเร่งดำเนินโครงการที่อยู่ในแผนเพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ครอบคลุมทุกด้านเพื่อรองรับทั้งการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวจากประเทศสมาชิกซึ่งปัจจุบันทั้ง 7 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย เมียนมา ศรีลังกา บังกลาเทศ อินเดีย ภูฏาน และเนปาลมีประชากรรวมกันกว่า 1,700 ล้านคน หรือมากกว่า 1 ใน 5 ของโลก และส่วนใหญ่เป็นวัยหนุ่มสาวที่มีกำลังซื้อที่เติบโตสูง” น.ส.ไตรศุลี กล่าว
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ตามแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงด้านคมนาคม BIMSTEC ที่กระทรวงคมนาคมต้องขับเคลื่อนมี 4 ด้าน ซึ่งสถานะของแต่ละโครงการขณะนี้มีทั้งโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการ รวมถึงอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้
ด้านที่ 1 ถนนและการขนส่งทางถนน ประกอบด้วย 1)ถนน 4 ช่องจราจรสายตาก-แม่สอด ระยะทาง 51 กม. ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อ ม.ค.63 2)ทางพิเศษระหว่างเมือง(มอเตอร์เวย์) สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กม.มีความคืบหน้า 72% คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2567 3)มอเตอร์เวย์ สายกาญจนบุรี-ชายแดนไทย/เมียนมา(บ้านพุน้ำร้อน) ระยะทาง 82 กม. อยู่ระหว่างการพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม(EIA) 4)โครงการปรับปรุงด่านพรมแดนและโครงสร้างพื้นฐาน ณ ด่านแม่สอด-เมียวดี ดำเนินการแล้วเสร็จและเปิดบริการเมื่อ 30 ต.ค.62 5)การจัดทำความตกลงด้านการขนส่งระหว่างประเทศสมาชิก BIMSTEC ประเทศสมาชิกอยู่ระหว่างเร่งเจรจาร่างความตกลงยานยนต์สำหรับการกำกับดูแลการขนส่งผู้โดยสาร บุคคล และสินค้า
ด้านที่ 2 รถไฟและการขนส่งทางราง ประกอบด้วย 1)รถไฟทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย ระยะทาง 106 กม. เชื่อมโยงการขนส่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับชายฝั่งทะเลตะวันออก ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2562 2)รถไฟทางคู่เส้นทางเชื่อมต่อกับเมียนมา (กาญจนบุรี-บ้านพุน้ำร้อน) สถานะปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ
ด้านที่ 3 ท่าเรือและการขนส่งทางน้ำ ประกอบด้วย 1)การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการ โดยคาดว่าจะเปิดดำเนินการท่าเทียบเรือ F ได้ภายในปี 2568 2)การพัฒนาการเดินเรือชายฝั่ง ประเทศสมาชิกอยู่ระหว่างการเจรจาร่างความตกลงเดินเรือ
ด้านที่ 4 การบินและการพัฒนาท่าอากาศยาน ประกอบด้วย 1)การขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารเพื่อเพิ่มความสามารถรองรับผู้โดยสารจาก 45 ล้านคนต่อปีเป็น 60 ล้านคนต่อปี รวมถึงก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 เพื่อรองรับเที่ยวบินได้ 90 เที่ยวบินต่อชั่วโมง 2)โครงการขยายท่าอากาศยานแม่สอด ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อ เม.ย.62
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมยังอยู่ระหว่างดำเนินโครงการที่มีศักยภาพในอนาคตเพื่อเชื่อมโยงกับทั้งประเทศในกลุ่ม BIMSTEC กับประเทศต่างๆ ในอาเซียนอีก 2 โครงการ ได้แก่ โครงการเชื่อมการขนส่งระหว่างทะเลอ่าวไทยและอันดามัน หรือโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ดำเนินการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น และโครงการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง(MR-Map) ซึ่งเป็นโครงการบูรณาการการใช้เขตทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบรางพร้อมกัน 10 เส้นทาง ประกอบด้วยเส้นทางแนวเหนือ-ใต้ 3 เส้นทาง, ตะวันออก-ตะวันตก 6 เส้นทาง และเชื่อมต่อกรุงเทพฯ-ปริมณฑล 1 เส้นทาง รวมระยะทาง 7,003 กิโลเมตร
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 เม.ย. 65)
Tags: BIMSTEC, คมนาคม, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, ไตรศุลี ไตรสรณกุล