พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ถึงแนวทางการบริหารจัดการ และการฉีดวัคซีนที่กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ และเริ่มคิกออฟมาตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.เป็นต้นมาว่า จนถึงขณะนี้สามารถกระจายวัคซีนไปทั่วประเทศแล้ว มากกว่า 7 ล้านโดส และฉีดวัคซีนให้ประชาชนแล้วมากกว่า 6.5 ล้านโดส
ซึ่งตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. ผ่านไป 1 สัปดาห์ สามารถฉีดวัคซีนได้ถึง 2 ล้านโดส แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการฉีดวัคซีน ดังนั้นทำให้เห็นได้ว่า เมื่อมีวัคซีนเข้ามาเพิ่มขึ้น ไทยก็จะฉีดวัคซีนได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ทุกอย่างเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
“ผมก็เรียนย้ำว่า รัฐบาลได้จัดหาวัคซีนอย่างเพียงพอต่อคนในประเทศไทยทุกคน ขณะนี้เราจัดหาวัคซีนได้ตามเป้าหมาย 100 ล้านโดสแล้ว สำหรับประชาชน 50 ล้านคน หรือ 70% ของทั้งประเทศภายในสิ้นปีนี้ และเตรียมการไว้สำหรับปีหน้าไว้ด้วย ถ้าได้เพิ่มจาก 100 ล้านโดสในปีนี้ เราก็จะเพิ่มเติมให้ 80-90% เพราะเรามีศักยภาพในการฉีดอยู่แล้ว” พลเอกประยุทธ์ กล่าว
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ทุกคน ตลอดจนเจ้าหน้าที่ จิตอาสาทุกจุดบริการ ที่ร่วมมือร่วมใจอย่างเต็มที่ ซึ่งได้รับคำชมเชยจากประชาชนผ่านมายังตนเอง
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การฉีดวัคซีนเป็นไปอย่างต่อเนื่อง คือการที่จัดสรรวัคซีนไปยังจุดบริการทั่วประเทศอย่างทั่วถึงและพอเพียง ทั้งนี้ การที่ประชาชนได้รับข้อมูลจากข่าว หรือจาก รพ.ต่างๆ ในการประกาศเลื่อนฉีดวัคซีนออกไปนั้นอาจทำให้เกิดความไม่สบายใจ และเกรงว่าภาครัฐจะจัดสรรวัคซีนไม่เพียงพอ หรือไม่ได้มีการประสานงานอย่างดีเพียงพอ ซึ่งตนรับทราบข้อมูลเหล่านี้มาตลอด และพยายามแก้ไขปัญหานี้อย่างเต็มที่
นายกรัฐมนตรี ยอมรับอย่างจริงใจว่ารู้สึกไม่สบายใจกับปัญหาเหล่านี้ ดังนั้นจึงมีการติดตามและสั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกวันและต่อเนื่อง เพื่อต้องการให้ประชาชนได้รับประโยชน์และมีความสบายใจ สำหรับประเด็นสำคัญอยู่ที่วัคซีนที่จะทยอยเข้ามา ที่ต้องมีความสมดุลกับขีดความสามารถในการฉีดของแต่ละวัน รวมถึงต้องกำหนดระยะเวลาในการฉีดให้เหมาะสมกับปริมาณของวัคซีน เพราะหากฉีดจนวัคซีนหมด ก็จะเกิดปัญหาต้องหยุดฉีดวัคซีน ซึ่งทั้งหมดคือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น แต่ทั้งนี้ หากมีวัคซีนเข้ามามาก ก็จะจัดสรรเพิ่มเติมไปให้กับแต่ละจุด เพื่อให้ภาพรวมการฉีดวัคซีนปรับดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วาระแห่งชาติเรื่องการฉีดวัคซีนนั้น แต่ละหน่วยงานมีบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ คงไม่ใช่สิ่งที่ตนเองรวบอำนาจการตัดสินใจไว้เพียงผู้เดียว โดย ศบค. เป็นองค์กรสูงสุด ประกอบด้วยหลายหน่วยงาน ทั้งในส่วนของรัฐมนตรี ข้าราชการประจำ และข้าราชการการเมืองที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันจัดการปัญหาการฉีดวัคซีน โดย ศบค. รับผิดชอบกำหนดนโยบายและหลักการ ในการจัดสรรวัคซีนให้กับแต่ละจังหวัด
ซึ่งมีหลักการสำคัญประกอบด้วย แต่ละจังหวัดจะได้รับวัคซีนตามสัดส่วนของประชากร และเพิ่มเติมให้กับจังหวัดที่มีสถานการณ์ระบาด รวมถึงเพิ่มกลุ่มบุคคลที่มีความจำเป็นต่อเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวการศึกษาและอื่นๆ , หน่วยงานหลักที่รับมอบนโยบาย คือกระทรวงสาธารณสุข ที่จะกำหนดว่าวัคซีนที่ได้รับในแต่ละรอบ จะจัดส่งในแต่ละจังหวัด เป็นจำนวนเท่าใด ตามหลักการการจัดสรร โดยจะจัดส่งวัคซีนในแต่ละรอบกระจายไปทั่วประเทศทันที โดยอาจใช้เวลาตรวจสอบในเรื่องความปลอดภัยบ้าง , ความรับผิดชอบของแต่ละจังหวัดและแต่ละพื้นที่ จะเป็นผู้กำหนดว่าโรงพยาบาลหรือจุดฉีดจะได้รับวัคซีนเป็นจำนวนเท่าใด และต้องคำนึงถึงช่วงเวลาที่จะได้รับวัคซีนในรอบถัดไป เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างต่อเนื่องและราบรื่น เนื่องจากการได้รับวัคซีนจะมาเป็นรอบ ไม่ใช่เข้ามาครั้งเดียว 6 ล้านโดส หรือ 10 ล้านโดส
ดังนั้นสูตรการจัดสรรวัคซีนโดยสรุปที่ตนได้กำหนดเป็นนโยบายไปคือ เมื่อวัคซีนเข้ามา กระทรวงสาธารณสุข ต้องเร่งตรวจสอบ และกระจายในทันที โดยไม่มีจังหวัดใดที่ไม่ได้รับวัคซีนเพิ่มเติมในแต่ละรอบ ซึ่งในอนาคตอาจยกเว้นในจังหวัดที่ได้ครบตามเป้าหมายแล้ว หรือบางจังหวัดที่ ศบค. พิจารณาว่าไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดในแต่ละพื้นที่
ส่วนจำนวนวัคซีนที่นำส่งขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านจำนวนประชากร จำนวนผู้ติดเชื้อ จำนวนผู้จองผ่านช่องทางต่างๆ หรือกลุ่มเฉพาะอาชีพเสี่ยง และพื้นที่เศรษฐกิจ ที่เป็นต้นทุนด้านการส่งออกของประเทศ
ทั้งนี้ หากจำนวนวัคซีนที่ได้คำนวณแล้วไม่เพียงพอต่อการฉีดในรอบนั้น ให้แต่ละจังหวัด และจุดฉีดต่างๆ พิจารณาฉีดให้กับผู้สูงอายุ และกลุ่มที่มีโรคเสี่ยงต่างๆ ที่ลงทะเบียนไว้ก่อนแล้ว และหากมีความจำเป็นต้องชะลอการฉีดวัคซีนตามกำหนดเดิม ระหว่างรอการจัดส่งวัคซีนต้องยึดลำดับการฉีดเดิมไว้ก่อน โดยไม่ต้องลงทะเบียนใหม่ และ เริ่มฉีดให้กับลำดับเดิมนั้นทันทีหลังจากได้รับวัคซีน ซึ่งเชื่อว่าทุกคนจะมีความเข้าใจตรงกันและดำเนินการตามนโยบายนี้ เพราะเป็นสิ่งที่มาจากมติที่ประชุมเกี่ยวกับการบริหารจัดการวัคซีน
นายกรัฐมนตรี เชื่อว่า ทุกฝ่ายพยายามดำเนินการอย่างทุ่มเท เพื่อให้บริการประชาชนอย่างดีที่สุด แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยที่ควบคุมได้ยาก เช่น การนำส่งวัคซีนที่ต้องใช้ระยะเวลา การผลิตและการตรวจสอบคุณภาพ เพราะไม่อาจกำหนดได้แน่นอนในทุกครั้งว่าจะได้รับวันใด เวลาใด เพราะจะได้รับวัคซีนเป็นรอบ เช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลกที่ต้องพบกับปัญหาในลักษณะนี้
ขณะที่ไทยยังมีข้อได้เปรียบ เพราะมีบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งผลิตวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าตั้งอยู่ในประเทศไทย ทำให้ง่ายต่อการจัดส่ง ซึ่งเป็นปัจจัยที่บริษัทแอสตร้าเซนเนก้า จะนำมาพิจารณา และขณะนี้ไทยถึงเป็นฐานการผลิตที่สำคัญในอาเซียน โดยจะใช้ฐานของไทยจัดส่งวัคซีนในประเทศอาเซียนด้วย
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อีกปัจจัยคือ การปรับแผนการฉีดวัคซีน จากสถานการณ์การระบาดที่เกิดขึ้น ซึ่งเปิดให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงและประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้รับการฉีดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด อีกส่วนเพื่อผลทางเศรษฐกิจ ลดการปิดกิจการโรงงาน เพื่อให้ภาคการผลิตเดินต่อ ทำให้อาจไปกระทบกับผู้ที่ลงทะเบียนไว้บางส่วน
นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า การแก้ปัญหาโควิด-19 มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการประสานงานบ้าง โดยสั่งการให้ทุกหน่วยงาน ต้องพยายามแก้ไขปรับปรุงการทำงานตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น สร้างการรับรู้ให้เกิดความเข้าใจกับประชาชน
“ผมในฐานะนายกรัฐมนตรี และ ผอ. ศบค. ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในสงครามโควิดครั้งนี้ ต้องขออภัยกับปัญหาที่เกิดขึ้น และขอรับผิดชอบแก้ไขปัญหาทั้งหมด ซึ่งผมได้ดำเนินการต่อเนื่องทุกวัน ทุกเวลาอยู่แล้ว” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ทุกคนต้องร่วมมือกันให้การทำงานประสบความสำเร็จเพื่ออนาคตของชาติ ซึ่งอุปสรรคอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะที่ทั้งโลกมีวัคซีนจำนวนจำกัด แต่รัฐบาลก็ได้วางแผนล่วงหน้า ทำให้มั่นใจว่าจะได้รับวัคซีนอย่างต่อเนื่อง และมีปริมาณมากขึ้นตามลำดับที่มาจากหลายแหล่ง
นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำว่า ทุกอย่างต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส ไม่เกิดการทุจริต โดยเชื่อมั่นว่า ด้วยศักยภาพของทุกคนและความทุ่มเทของบุคลากรทุกคน จะทำให้ไทยชนะสงครามโควิดไปด้วยกันอย่างแน่นอน
ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงแนวทางการกระจายวัคซีนโควิดไปในแต่ละจังหวัดว่า นายกรัฐมนตรีได้กำชับแนวทางการจัดสรรวัคซีนไว้ใน 4 ประเด็นหลัก คือ 1. เมื่อวัคซีนจากบริษัทผู้ผลิตมาถึง กระทรวงสาธารณสุขจะจัดส่งให้จังหวัดทันทีภายหลังที่ได้ตรวจสอบคุณภาพแล้ว เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ประชาชน 2. จำนวนวัคซีนที่นำส่งให้แต่ละจังหวัดจะขึ้นกับปัจจัยต่างๆ เช่น จำนวนประชากร จำนวนผู้ติดเชื้อ จำนวนผู้ที่จองวัคซีนไว้ในระบบ ไม่ว่าจะเป็นหมอพร้อม หรือระบบของแต่ละจังหวัดเอง รวมถึงการพิจารณากลุ่มเฉพาะต่างๆ เช่น ผู้มีอาชีพเสี่ยง หรือพื้นที่ที่มีความเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ 3. เมื่อจำนวนผู้ลงทะเบียน มีมากกว่าจำนวนวัคซีนที่ได้รับจัดสรร จะให้แต่ละจังหวัดพิจารณาจัดสรรให้กับผู้สูงอายุ และผู้ที่อยู่ใน 7 กลุ่มโรคเสี่ยงที่ลงทะเบียนไว้ก่อนแล้ว 4.หากมีความจำเป็นต้องชะลอการฉีดวัคซีนจากกำหนดเดิม จะต้องยึดลำดับเดิมไว้โดยไม่ต้องให้ประชาชนลงทะเบียนใหม่อีก ซึ่งจะมีการฉีดวัคซีนตามลำดับเดิมทันทีที่ได้รับจัดสรรวัคซีนเพิ่มเติม
สำหรับเป้าหมายในการฉีดวัคซีนโควิดนั้น นายอนุชา กล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มต้นปูพรมฉีดวัคซีนพร้อมกันทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.64 จนถึงปัจจุบันก็ยังเป็นไปตามเป้า กล่าวคือ ตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. มีการฉีดวัคซีนไปแล้วมากกว่า 2 ล้านโดส แต่หากนับรวมยอดการฉีดวัคซีนโควิดสะสมตั้งแต่ที่เริ่มฉีดวันแรกในประเทศไทย คือ 28 ก.พ.64 จนถึงปัจจุบัน จะพบว่าได้มีการฉีดวัคซีนไปมากกว่า 6 ล้านโดสแล้ว โดบประเทศไทย ถือเป็นลำดับที่ 3 ในอาเซียนที่มีการฉีดวัคซีนโควิดจำนวนมากสุด
ทั้งนี้ เป็นการดำเนินการต่อเนื่องตามนโยบายเดิมที่รัฐบาลวางไว้ ซึ่งภายในสิ้นปีนี้คาดว่าจะฉีดวัคซีนให้แก่คนไทยได้ 50 ล้านคน รวมถึงชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยด้วย คิดเป็นจำนวนวัคซีนที่จะได้รับการจัดสรรเข้ามาในปีนี้ 100 ล้านโดส ประกอบด้วย วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส, วัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส, วัคซีนซิโนแวก 14 ล้านโดส, วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน 5 ล้านโดส และรัฐบาลตั้งเป้าจะดำเนินการจัดหาวัคซีนให้คนไทย และชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 150 ล้านโดสด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 มิ.ย. 64)
Tags: COVID-19, การจัดสรรวัคซีน, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, วัคซีน, วัคซีนต้านโควิด-19, โควิด-19