นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มีความห่วงใยประชาชนในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี หลังได้รับทราบรายงานสถานการณ์ฝนตกหนัก ซึ่งมี 3 อำเภอที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง ได้แก่ อ.วิภาวดี อ.ไชยา และ อ.ท่าฉาง รวม 3 ตำบล 8 หมู่บ้าน โดยนายกรัฐมนตรีได้กำชับสั่งการให้กระทรวงมหาดไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) หน่วยทหารและตำรวจในพื้นที่ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนในเบื้องต้น พร้อมแจ้งเตือนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมคลองได้เฝ้าระวัง ขนย้ายสิ่งของจำเป็นขึ้นที่สูง พร้อมให้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง
“นายกรัฐมนตรีขอให้ประชาชนติดตามการแจ้งเตือนฝนตกหนักจากส่วนราชการอย่างใกล้ชิด ขอให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่โดยเฉพาะส่วนท้องถิ่น ซึ่งอยู่ส่วนหน้าคอยให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ ให้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ให้น้อยที่สุด รวมทั้งให้เร่งแบ่งเบาความเดือดร้อนของประชาชนทันที และแจ้งเตือนให้ประชาชนเตรียมพร้อมอพยพได้ทันท่วงที” นายธนกร กล่าว
ทั้งนี้ กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดย ปภ.ได้ประสานให้จังหวัดและศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมทั้งประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า รวมถึงจัดเตรียมเครื่องมือเครื่องจักรกลสาธารณภัยและทีมปฏิบัติการเข้าประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ทันที หากประเมินแล้วมีแนวโน้มจะเกิดสถานการณ์รุนแรงในพื้นที่ ให้จังหวัดดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุอย่างเคร่งครัด และขอให้ประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศ สถานการณ์ภัย และข้อมูลข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยให้เตรียมความพร้อมมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งประชาชนสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยที่แอปพลิเคชัน THAI DISASTER ALERT และหากได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และแอปพลิเคชัน “พ้นภัย” รวมถึงสายด่วนนิรภัย1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ระหว่างวันที่ 7-10 พ.ค.65 ดังนี้
1.พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก ประกอบด้วย
- ภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ทุกอำเภอ)
- ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดชุมพร (ทุกอำเภอ) สุราษฎร์ธานี (อำเภอท่าชนะ ไชยา ท่าฉาง วิภาวดี กาญจนดิษฐ์ ดอนสัก คีรีรัฐนิคม พนม เวียงสระ เคียนซา พระแสง บ้านนาสาร เกาะสมุย เกาะพะงัน) นครศรีธรรมราช (อำเภอเมืองนครศรีธรรมราข พรหมคีรี พิปูน ฉวาง ลานสกา ช้างกลาง ร่อนพิบูลย์ ทุ่งสง นาบอน ขนอม สิชล นบพิตำ ชะอวด ท่าศาลา จุฬาภรณ์) พัทลุง (อำเภอตะโหมด ศรีบรรพต ศรีนครินทร์ กงหรา ป่าบอน ป่าพะยอม เขาชัยสน) สงขลา (อำเภอเมืองสงขลา รัตภูมิ จะนะ หาดใหญ่ สะเดา สะบ้าย้อย นาหม่อม นาทวี) ปัตตานี (อำเภอโคกโพธิ์) ยะลา (อำเภอยะหา กาบัง บันนังสตา กรงปินัง ธารโต เบตง) นราธิวาส (อำเภอศรีสาคร รือเสาะ จะแนะ) ระนอง (ทุกอำเภอ) พังงา (อำเภอตะกั่วทุ่ง คุระบุรี กะปง ตะกั่วป่า ท้ายเหมือง) ภูเก็ต (อำเภอถลาง) กระบี่ (อำเภอเมืองกระบี่ เขาพนม ปลายพระยา) ตรัง (อำเภอเมืองตรัง รัษฎา นาโยง ห้วยยอด ย่านตาขาว) และสตูล (อำเภอเมืองสตูล ควนโดน ควนกาหลง ละงู)
2.พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์คลื่นลมแรง ได้แก่ จังหวัดระนอง (อำเภอเมืองระนอง กะเปอร์ สุขสำราญ) พังงา (อำเภอเกาะยาว ตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง คุระบุรี ท้ายเหมือง) และภูเก็ต (อำเภอเมืองภูเก็ต กะทู้ ถลาง)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 พ.ค. 65)
Tags: ธนกร วังบุญคงชนะ, น้ำท่วม, น้ำท่วมภาคใต้, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, สุราษฎร์ธานี, อุทกภัย