นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet (บอร์ดดิจิทัลวอลเล็ต) กล่าวว่า ที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ มาเสนอความเป็นไปได้ของแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต
นอกเหนือจากการออก พ.ร.บ.กู้เงิน ตลอดจนมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ สรุปหลักเกณฑ์ร้านค้า และมอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และบอร์ดรัฐบาลดิจิทัล สรุปการพัฒนาระบบ และการจัดทำในลักษณะเปิด (Open Loop) เพื่อให้สถาบันการเงิน และผู้ประกอบธุรกิจเข้าร่วมโครงการ และมอบหมายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ วางกรอบวินิจฉัยร้องทุกข์กล่าวโทษ และการเรียกเงินคืน โดยให้ทุกหน่วยงานรายงานในวันที่ 10 เม.ย.นี้
นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ในวันที่ 10 เม.ย. จะได้ความชัดเจนทั้งหมด และจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในเดือนเมษายนเช่นกัน พร้อมยืนยันว่า เป็นไปตามกรอบไทม์ไลน์ตามที่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลังแถลงไว้ โดยจะมีการลงทะเบียนร้านค้า และประชาชนในไตรมาสที่ 3 และเงินจะถึงประชาชนในไตรมาสที่ 4
“ในที่ประชุมวันนี้ มีความเห็นตรงกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เห็นด้วยในขั้นตอนทั้งหมด ดังนั้นขอให้รอฟังข่าวดีในวันที่ 10 เมษายน” นายกรัฐมนตรี ระบุ
ส่วนความเป็นไปได้ ของแหล่งเงิน นอกจากการกู้แล้ว จะมีการหาแหล่งเงินอย่างอื่นมาประกอบด้วยหรือไม่นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ให้รอในวันที่ 10 เม.ย. ซึ่งจะมีการประชุมกันอีกครั้ง ส่วนจะจำเป็นที่ต้องกู้บางส่วนหรือไม่นั้น ก็จะมีความชัดเจนในวันที่ 10 เม.ย. เช่นกัน
นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำว่า โครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตนี้ เป็นหนึ่งในมาตรการระยะสั้นที่จะช่วยเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ให้กระจายตัวไปสู่ท้องถิ่นผ่านประชาชน ผู้ได้รับสิทธิ์และผู้ประกอบการร้านค้า ดังนั้นการดำเนินงานในขอบเขตที่มีเงื่อนไขที่เหมาะสม กับบริบทเศรษฐกิจในปัจจุบันย่อมส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวม และช่วยดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น ทั้งนี้ จากที่กล่าวมาโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จึงควรถูกขับเคลื่อนและผลักดันเกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
“ผมเห็นว่าควรพิจารณาทางเลือกแหล่งเงินที่จะใช้ในโครงการ และมอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินโครงการ ไปพิจารณาจัดทำรายละเอียดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และเป็นไปตามข้อพึงระวัง หรือความเห็นจากหน่วยงานต่างๆ ที่ได้รับมา ผมขอเน้นย้ำว่า รัฐบาลจะดำเนินโครงการเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 โดยกระบวนการต่างๆ ต้องเป็นไปตามกฎหมาย และระเบียบต่างๆ ต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใสตรวจสอบได้ และที่สำคัญการใช้อำนาจต่างๆ ในการดำเนินการโครงการนี้ จะต้องเป็นไปด้วยความซื่อสัตย์และสุจริต รอบคอบและระมัดระวัง เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนโดยรวม ตลอดจนรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐ อย่างเคร่งครัด” นายกรัฐมนตรี กล่าว
“เศรษฐพุฒิ” ไม่ได้ร่วมประชุมบอร์ดดิจิทัลวอลเล็ต ส่งรองผู้ว่าฯ ธปท.มาแทน
ก่อนเริ่มการประชุม นายกรัฐมนตรีได้มองหาพร้อมสอบถามถึงนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยสอบถามว่า “ท่านผู้ว่าฯ ติดภารกิจหรือครับ” ซึ่งนายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าฯ ธปท. ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ได้แจ้งว่าผู้ว่าฯ ธปท. ติดภารกิจไปต่างประเทศ
ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวว่า วันนี้ผู้ว่าฯ ธปท. ไม่ได้เข้าร่วมประชุม แต่ได้มอบหมายรองผู้ว่าฯ ธปท. เข้าร่วมประชุมแทน ซึ่งได้มีการรับฟังข้อเสนอในที่ประชุม และเห็นชอบตามมติที่เสนอ
ส่วนจะมั่นใจหรือไม่ว่า ผู้ว่าฯ ธปท. จะไม่เห็นต่างอีกนั้น นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ถ้าถามเรื่องความมั่นใจของคนอื่น ตนตอบไม่ได้ ขออย่าถามเรื่องคนอื่น พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลจะเดินหน้าโครงการนี้ต่อ และรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย และขอให้ประชาชนรับฟังข่าวดีในวันที่ 10 เม.ย.นี้
อย่างไรก็ดี ที่ประชุมยังไม่ได้หารือถึงประเด็นว่าจำเป็นจะต้องกู้เงินทั้ง 5 แสนล้านบาทในครั้งเดียว โดยมอบหมายกระทรวงการคลังไปพิจารณา เช่นเดียวกับกรณีว่าจะจ่ายเงินให้กับประชาชนในครั้งเดียวหรือไม่ ซึ่งจะมีความชัดเจนในวันที่ 10 เม.ย.
ขณะที่นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวถึงงบประมาณที่ใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตว่า ที่ประชุมได้มอบหมายให้สำนักงบประมาณ และกระทรวงการคลังไปพิจารณา และย้ำว่าในวันที่ 10 เม.ย. จะได้เห็นโครงการที่สมบูรณ์ และตอบโจทย์ข้อกังวลของทุกภาคส่วน
“การประชุมในวันนั้น จะมีความชัดเจน ก็ถือว่าประชาชนจะได้เที่ยวสงกรานต์อย่างสบายใจ”
ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 มี.ค. 67)
Tags: Digital Wallet, จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์, ดิจิทัลวอลเล็ต, พ.ร.บ.กู้เงิน, ลวรณ แสงสนิท, เศรษฐา ทวีสิน