นายเคียร์ สตาร์เมอร์ นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร (UK) ประกาศว่ามีกำลังตำรวจเพียงพอลงพื้นที่รับมือกับเหตุจลาจลต่อต้านชาวมุสลิมและผู้อพยพที่อาจเกิดขึ้นในไม่กี่วันข้างหน้า พร้อมปลอบขวัญคนในชุมชนที่หวั่นวิตกกับเหตุประท้วงรุนแรงที่อาจปะทุขึ้นอีกในวันพุธนี้ (7 ส.ค.)
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เกิดเหตุจลาจลจากม็อบปะทุขึ้นในหลายเมืองหลังเกิดเหตุฆาตกรรมเด็กหญิง 3 รายในงานอีเวนต์ธีมเทย์เลอร์ สวิฟต์ ที่เมืองเซาท์พอร์ต เมืองชายทะเลทางตะวันตกเฉียงเหนือของอังกฤษ โดยชนวนเหตุมาจากการปล่อยข่าวลวงในโซเชียลมีเดียว่าผู้ต้องสงสัยเป็นผู้อพยพชาวมุสลิมหัวรุนแรง
เหตุการณ์ความไม่สงบได้ลุกลามไปทั่วประเทศ โดยกลุ่มผู้ก่อจลาจลบุกโจมตีมัสยิดและทุบกระจกหน้าต่างโรงแรมที่พักของผู้ลี้ภัยจากแอฟริกาและตะวันออกกลาง พร้อมตะโกนว่า “ไล่พวกมันออกไป” นับเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 13 ปีของ UK
ข่าวลือในโลกออนไลน์ระบุว่า ศูนย์ตรวจคนเข้าเมืองและสำนักงานกฎหมายที่ช่วยเหลือผู้อพยพจะตกเป็นเป้าโจมตีในวันพุธนี้ ทำให้กลุ่มต่อต้านฟาสซิสต์ประกาศว่าจะออกมาสกัดม็อบดังกล่าว
หลังจากประชุมฉุกเฉินกับรัฐมนตรีและผู้บัญชาการตำรวจเมื่อวันอังคาร (6 ส.ค.) นายกฯ สตาร์เมอร์แถลงว่าตำรวจพร้อมรับมือหากเกิดเหตุความไม่สงบเพิ่มเติม
“หน้าที่แรกของเราคือดูแลให้ชุมชนปลอดภัย” นายกฯ สตาร์เมอร์กล่าวกับผู้สื่อข่าว “ทุกคนจะปลอดภัย เราทุ่มเทอย่างเต็มที่เพื่อให้มั่นใจว่า ตำรวจจะลงพื้นที่ทันทีที่ต้องการ และพื้นที่ไหนต้องการความช่วยเหลือพิเศษ เราก็จัดเตรียมไว้พร้อมแล้ว”
นายกฯ สตาร์เมอร์ยอมรับว่าการที่มีผู้ชุมนุมประท้วงหลายจุดทำให้จัดการยาก แต่เขาได้รับคำยืนยันว่าตำรวจพร้อมรับมือกับสถานการณ์วุ่นวายที่อาจเกิดขึ้น ทั้งยังเปิดเผยว่าเจ้าหน้าที่จับกุมผู้ก่อเหตุไปแล้วกว่า 400 ราย ตั้งข้อหา 100 ราย และคาดว่าจะเริ่มมีการพิพากษาลงโทษในเร็ว ๆ นี้
“ใครก็ตามที่มีส่วนร่วมก่อเหตุวุ่นวายครั้งนี้ จะต้องได้รับโทษตามกฎหมายอย่างถึงที่สุด” นายกฯ สตาร์เมอร์กล่าว
สำนักงานอัยการสูงสุดแถลงว่า จะมีการตัดสินลงโทษผู้ก่อเหตุ 3 คนในวันพุธนี้ที่เมืองลิเวอร์พูล ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอังกฤษ หลังจากพวกเขารับสารภาพว่าก่อเหตุจลาจลรุนแรง
ด้านกระทรวงยุติธรรม UK กล่าวว่าได้จัดหาที่ว่างในเรือนจำไว้เกือบ 600 ที่ เพื่อรองรับผู้ที่เข้าร่วมก่อเหตุรุนแรง
เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นนี้ทำให้อินเดีย ออสเตรเลีย ไนจีเรีย และประเทศอื่น ๆ ออกประกาศเตือนพลเมืองของตนให้เพิ่มความระมัดระวังในการเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ และหลีกเลี่ยงการเดินทางไปในพื้นที่ที่มีการชุมนุมประท้วงและการก่อเหตุจลาจลในเมืองต่าง ๆ ของ UK
ทั้งนี้ นายกฯ สตาร์เมอร์ประกาศลั่นว่าจะเอาผิดกับผู้ที่ร่วมก่อเหตุจลาจล ขว้างอิฐใส่ตำรวจและกลุ่มผู้ชุมนุมฝ่ายตรงข้าม รวมถึงผู้ที่ปล้นสะดมร้านค้าและเผารถยนต์
เมื่อวันอังคาร ตำรวจได้ตั้งข้อหาชายวัย 28 ปี ฐานปลุกปั่นความเกลียดชังทางเชื้อชาติผ่านโพสต์เฟซบุ๊กที่เชื่อมโยงกับเหตุวุ่นวายครั้งนี้ ส่วนเด็กชายอายุ 14 ปีรับสารภาพว่าก่อเหตุความไม่สงบรุนแรง
ในคืนวันจันทร์ (5 ส.ค.) เกิดเหตุวุ่นวายปะทุขึ้นที่เมืองพลีมัธ ทางตอนใต้ของอังกฤษ และลุกลามไปถึงกรุงเบลฟาสต์ในไอร์แลนด์เหนือ ที่มีผู้ก่อจลาจลนับร้อยขว้างระเบิดขวดและก้อนหินขนาดใหญ่ใส่เจ้าหน้าที่ พร้อมทั้งจุดไฟเผารถตำรวจ
ตำรวจระบุว่า ข้อมูลเท็จที่เผยแพร่บนโลกออนไลน์เป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดเหตุรุนแรง โดยมีเหล่าคนดังช่วยขยายผลให้ลุกลามหนัก
ช่วงสิ้นเดือนธ.ค. ปี 2566 มีผู้ลี้ภัยที่ได้รับความช่วยเหลือใน UK รวม 111,132 คน โดย 45,768 คนพักอาศัยในโรงแรม ด้านสำนักงานสถิติของรัฐบาลคาดว่าในปีนั้นมีผู้ย้ายถิ่นเข้าประเทศสุทธิ 685,000 คน
บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านแนวคิดสุดโต่งและความสมานฉันท์ในสังคมชี้ว่า กลุ่มปลุกปั่นฝ่ายขวาจัดได้ฉวยโอกาสจากเหตุฆาตกรรมที่เซาท์พอร์ตมาจุดชนวนให้เกิดเหตุรุนแรง
นายซันเดอร์ คัตวาลา ผู้อำนวยการคลังสมองบริติช ฟิวเจอร์ ซึ่งศึกษาเรื่องผู้อพยพและอัตลักษณ์ กล่าวว่า คนบางกลุ่มฉวยโอกาสจากเหตุฆาตกรรมครั้งนี้ “ปลุกระดมมวลชนให้ต่อต้านผู้ลี้ภัยและชาวมุสลิมโดยเฉพาะ และยังคงทำต่อไปแม้จะมีหลักฐานชัดเจนว่าคนร้ายไม่ใช่ทั้งผู้ลี้ภัยและชาวมุสลิมก็ตาม”
ตำรวจยืนยันว่าเหตุโจมตีครั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย และผู้ต้องสงสัยเกิดใน UK ด้านสื่อรายงานว่าพ่อแม่ของผู้ต้องสงสัยย้ายมาจากรวันดา ซึ่งเป็นประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์
จากผลสำรวจความคิดเห็นของ YouGov เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา พบว่า 3 ใน 4 ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่ากลุ่มผู้ก่อจลาจลไม่ได้สะท้อนมุมมองของคน UK โดยรวม ขณะที่มี 7% ระบุว่าตนสนับสนุนเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ส.ค. 67)
Tags: จลาจล, สหราชอาณาจักร