นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ จ.ภูเก็ต เพื่อติดตามการสร้างอุโมงค์ทางลอดและแก้ไขปัญหาดินสไลด์จากเหตุการณ์น้ำท่วมหลังฝนตกอย่างหนักเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยได้ไปรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชนในการขุดอุโมงค์ทางลอดบริเวณอนุสาวรีย์ท้าวเทพกษัตรีย์และท้าวศรีสุนทร อ.ถลาง ซึ่งมีปัญหาจะจราจรติดขัดอย่างหนักช่วงเวลา 16.00-19.00 น. ซึ่งก่อนจะเริ่มสร้างอุโมงค์จะมีการทดลองแก้ปัญหาจราจรเพื่อให้ประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด
ขณะที่นายเฉลิมพล เถิดทรัพย์ นายกเทศมนตรีตำบลศรีสุนทร และตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ก่อสร้างมีความกังวลเรื่องฝนตกแล้วน้ำจะท่วมขังภายในอุโมงค์ จึงขอให้ผู้รับผิดชอบคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านเดือดร้อนทั้งจากปัญหาจราจรและซ้ำเติมด้วยปัญหาน้ำท่วม จึงอยากให้มีการทำคลองระบายน้ำควบคู่กันด้วย เนื่องจากเป็นเส้นทางที่น้ำไหลผ่าน
กระทรวงคมนาคมอธิบายถึงสภาพปัญหาว่า ถนนเส้นนี้มีระยะทางประมาณ 26 กิโลเมตร แต่มีสัญญาณไฟจราจร 7 จุด วงเวียน 1 จุด จุดกลับรถ 12 จุด ทำให้การจราจรเคลื่อนตัวได้ช้า ระหว่างรอการก่อสร้างอุโมงค์จึงมีมาตรการในระยะสั้นปิดกั้นบางช่วง เพื่อให้รถสามารถเคลื่อนตัวได้เร็วขึ้น ตลอดจนขยายทางเลียบเมือง เพื่อให้เกิดการกระจายตัวของรถ ซึ่งโครงการน่าจะแล้วเสร็จในปี 2569
ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงปัญหาน้ำท่วมในอุโมงค์ เพราะเป็นทางผ่านของน้ำ จึงให้ทางจังหวัดเตรียมแผนรองรับ เช่น เครื่องสูบน้ำ และช่องทางระบายน้ำ ที่ไม่กระทบต่อชุมชนโดยรอบ เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านได้รับผลกระทบถึง 200 หลังคาเรือน เชื่อว่าปัญหาการจราจรในตัวเมืองภูเก็ต และน้ำท่วมน่าจะคลี่คลายลงไปได้มากจากมาตรการทั้งระยะสั้น และระยะยาว
หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรีและคณะได้เดินทางไปที่บ้านหัวควนใต้ อ.กระทู้ ที่เกิดปัญหาดินสไลด์เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาท่ามกลางสายฝนที่โปรยลงมา โดยมีนายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการภูเก็ต อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ และอธิบดีกรมทางหลวง บรรยายสรุปสถานการณ์และการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่เกิดปัญหาอย่างน้อย 18 จุด ในพื้นที่ 3 อำเภอ
นายกรัฐมนตรีสั่งการให้แก้ปัญหาที่จำเป็นและเร่งด่วนเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะเรื่องของการทำฟลัดเวย์หรือทางระบายน้ำ พร้อมทั้งขอแผนที่พื้นที่เสี่ยงดินสไลด์ใน จ.ภูเก็ต เพื่อไปหารือกับนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วางแนวทางป้องกันทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพราะช่วงนี้ฝนตกตลอดและยาวไปจนถึงเดือนกันยายนต้องเร่งหาแนวทางป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุด
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากการลงพื้นที่มาดูสถานที่จริงแล้วมีหลายมาตรการที่ต้องทำ โดยระยะสั้นต้องทำเรื่องของการทำฟลัดเวย์ การขยายร่องน้ำ เพื่อไม่ให้น้ำล้นออกมาจนสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านนี่คือการแก้ปัญหาระยะสั้น
ส่วนระยะกลางระยะยาว จะต้องมีการตั้งศูนย์เตือนภัย แต่ชาวบ้านบอกว่าน้ำมาเร็ว การเตือนภัยอาจจะช่วยได้บ้าง สิ่งสำคัญที่สุดเราต้องมาดูแผนที่ทั้งหมดว่าจุดที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินถล่ม ไม่ใช่แค่เพียงพื้นที่ตรงนี้เพียงจุดเดียว เพราะเท่าที่ดูจากแผนที่จากอธิบดีกรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีอีกอย่างน้อย 7-8 จุด ที่ต้องดูแลทั้งการทำฝาย ฟลัดเวย์ เขื่อน หรือขั้นบันได เพื่อชะลอการไหลของน้ำให้ช้าลงซึ่งตรงนี้เป็นแผลระยะกลางและระยะยาว
“เชื่อว่าทางผู้ว่าราชการจังหวัดทำงานอย่างเต็มที่อยู่แล้ว แต่ 60 ปีไม่เคยเจอปัญหาก็เห็นใจ แต่ตอนนี้ก็เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ วันนี้เราควรมองไปข้างหน้ามากกว่า เมื่อช่วงต้นหน้าฝนเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นมาแล้ว ช่วงกลางและช่วงปลายฝนจะชุกมากกว่านี้ เราจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นมาอีก ไม่ใช่ดูแค่ตรงนี้เพียงเดียว ยังมีพื้นที่สุ่มเสี่ยงอีกจำนวนมาก คืนนี้จะได้พูดคุยกับปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็จะได้ให้ท่านเป็นเจ้าภาพบริหารจัดการเรื่องนี้ทั้งหมด” นายเศรษฐา กล่าว
ในพื้นที่ลุ่มต่ำที่มีบ้านเรือนของประชาชนปลูกสร้างขวางทางน้ำนั้นต้องยึดตามกฎหมาย และแผนการก่อสร้างจะต้องเชื่อมต่อกับทางผู้ว่าราชการจังหวัด แต่แผนสนับสนุนเพื่อช่วยเหลือและแก้ปัญหาต้องดูทั้งหมด ทั้งเรื่องฟลัดเวย์ ขยายทางเดินน้ำใหม่ จากนั้นนายกรัฐมนตรีได้ติดตามการระบายน้ำที่คลองระบายน้ำบริเวณหน้าไปรษณีย์กมลา
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ก.ค. 67)
Tags: นายกรัฐมนตรี, น้ำท่วม, ฝนตกหนัก, ฟลัดเวย์, ภูเก็ต, เศรษฐา ทวีสิน