พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กชี้แจงประเด็นสินค้าราคาแพงและสถานการณ์เงินเฟ้อว่า แม้มีการนำเสนอข้อมูลหลายส่วนในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้ว แต่ขอสรุปเป็นประเด็นที่กระชับและชัดเจนอีกครั้ง ดังนี้
1. วิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้ราคาสินค้าแพงและเงินเฟ้อทั่วโลก และรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเห็นมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะช่วงปี 2564 (ข้อมูล : Bloomberg) ที่ถือว่าการผลิตและความต้องการสินค้าและบริการของโลกเปลี่ยนแปลงแบบไม่ปกติอย่างมาก และไม่สมดุล
2. ปี 2564 เงินเฟ้อของไทยอยู่ที่ 1.2% ในขณะที่อินเดียมีเงินเฟ้อ 10.6% สหรัฐอเมริกา 4.7% ญี่ปุ่น 2.6% มาเลเซีย 2.5% สิงคโปร์ 2.3% และเวียดนาม 1.9% (ข้อมูล : กระทรวงการคลัง และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ)
3. ปัจจัยที่เป็นสาเหตุของการเกิดเงินเฟ้อทั่วโลกที่สำคัญ ได้แก่ (1) มาตรการทางสาธารณสุข ที่จำกัดการเปิดกิจการ และการเดินทาง โดยเฉพาะการปิดเมือง (2) การจำกัดการเดินทาง ทำให้การขนส่งสินค้าหยุดชะงัก ส่งผลให้ค่าขนส่งสินค้าและค่าระวางเรือเพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว (ข้อมูล : ดัชนีค่าขนส่งด้วยตู้ Container ในช่วงปี 2563 – 2564 โดย Drewry world container index)
4. ตัวอย่างราคาสินค้าและบริการที่พุ่งสูงขึ้นทั่วโลกในช่วงวิกฤติโควิด เช่น (1) ราคารถยนต์มือสองในอเมริกาสูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน (2) ราคาค่าเช่าบ้านในอเมริกาสูงขึ้นกว่า 12% ในปี 2564 (3) ราคาก๊าซหุงต้มพุ่งสูงขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในทวีปยุโรปนั้น เพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว จาก 10 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 เป็น 24-25 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 (4) ราคาน้ำมันดิบในปี 2564 ปรับตัวสูงขึ้นกว่า 60% จาก 47.9 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรลล์ เพิ่มเป็น 77.4 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรลล์ เป็นต้น
5. หากเปรียบเทียบกันแล้ว ประเทศไทยถือว่าได้รับผลกระทบน้อยกว่าหลายประเทศ เช่น (1) ค่าน้ำมันดีเซลในไทย สูงขึ้น 20% ในขณะที่คนอังกฤษต้องจ่ายค่าน้ำมันแพงขึ้นเกือบ 30% และคนอเมริกาต้องจ่ายแพงขึ้น 46% (2) ในปี 2564 คนไทยยังคงเสียค่าไฟฟ้าเท่าเดิม แต่ในอังกฤษต้องจ่ายเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว (3) ราคาอาหารทั่วโลกเพิ่มขึ้นสูงถึง 28% ในปี 2564 แต่ราคาอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคของไทย (ไม่รวมแอลกอฮอล์) ราคาโดยรวมเพิ่มสูงขึ้นเพียง 0.77%
นอกจากนั้น ท่ามกลางวิกฤตโลก รัฐบาลไทยสามารถแสวงหาโอกาส โดยสามารถเพิ่มปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตร เช่น ผัก เพิ่มขึ้นถึง 63,000 ล้านบาท รวมมูลค่าการส่งออกกว่า 191,000 ล้านบาท ในปี 2564 และที่สำคัญรัฐบาลยังตั้งเป้าหมาย มุ่งเน้นการแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชนอย่างเอาจริงเอาจัง โดยประกาศให้ปี 2565 เป็น “ปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน” โดยใช้ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP : Thai People Map and Analytics Platform) มาใช้เป็นฐานข้อมูลหลัก เพื่อคัดกรองและชี้เป้าที่แม่นยำ ดำเนินการแก้ปัญหาความยากจนพร้อมกันใน 5 มิติ คือ มิติสุขภาพ – ความเป็นอยู่ – การศึกษา – รายได้ – การเข้าถึงบริการภาครัฐ เป็นรายครัวเรือน ด้วย “ชุดปฏิบัติการแก้จน” ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง ครอบคลุมไปถึงการแก้ปัญหาทั้งหนี้กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) หนี้เช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์ หนี้สินข้าราชการ-ครู-ตำรวจ หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ไปจนถึงสร้างกลไกการไกล่เกลี่ยและการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจและ SMEs การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนรายย่อยและ SMEs รวมทั้งการปรับปรุงขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมเพื่อเอื้อให้เกิดการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยบรรเทาปัญหาหนี้สินของประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรมภายในปีนี้
โดยสรุปแล้ว กล่าวได้ว่า ทั่วโลกกำลังประสบปัญหาเดียวกับไทย ในเรื่องสถานการณ์ราคาสินค้าและเงินเฟ้อ ที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก แต่ตัวเลขต่างๆ ที่กล่าวไปข้างต้น เป็นเครื่องยืนยันได้ว่า ประเทศไทยสามารถรับมือได้ดีกว่าประเทศส่วนใหญ่ในโลก ซึ่งไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นผลมาจากการบริหารสถานการณ์ของรัฐบาล ที่มีการเตรียมความพร้อมล่วงหน้า และที่สำคัญคือความร่วมมือกันจากทุกภาคส่วนของไทยเรา ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน
นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีมาตรการลดภาระให้กับประชาชนอย่างเต็มที่ ในทุกๆด้าน ทั้งการรักษาพยาบาล ค่าครองชีพ การเยียวยา ซึ่งรัฐบาลทำมาอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงเวลาของสถานการณ์วิกฤติที่เกิดขึ้น ซึ่งแม้ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชนให้มากที่สุด และช่วยให้ประเทศชาติไม่เสียหายไปมากเท่าที่มีการคาดการณ์ และยังรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจไว้ได้อย่างดี ซึ่งที่ผ่านมาเราเริ่มเห็นตัวเลขดีขึ้นเรื่อยๆ แล้ว และย้ำว่าจะไม่หยุดคิดหยุดทำในการแก้ปัญหา เพื่อให้ประเทศไทยพ้นจากวิกฤติ และดีขึ้นในทุกๆ วัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ก.พ. 65)
Tags: ประยุทธ์ จันทร์โอชา, ราคาสินค้า, เงินเฟ้อ, เศรษฐกิจไทย