พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ชี้แจงในการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า รัฐบาลได้มีการปรับกลยุทธ์การแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ให้สามารถรับมือกับสายพันธุ์เดลตาได้ โดยตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมาได้เพิ่มมาตรการ เช่น การกำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด การล็อกดาวน์ และเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชาการมากที่สุด ทั้งการคิดค้นสูตรฉีดแบบไขว้ และการบูสเตอร์เข็ม 3 พร้อมปลดล็อกให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจคัดกรองแบบ Antigen Test Kit (ATK) เพื่อนำเข้าสู่ระบบการรักษาโดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้ การปรับกลยุทธ์ในการรับมือกับสายพันธุ์เดลตา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วัคซีนรุ่นแรกของทุกยี่ห้ออาจมีประสิทธิภาพลดลงอย่างมีนัยยสำคัญเมื่อต้องรับมือกับสายพันธุ์เดลตา ซึ่งประเทศที่ฉีดวัคซีน mRNA เป็นหลักและครอบคลุมประชากรถึง 70% วันนี้ก็ยังพ่ายแพ้ต่อสายพันธุ์เดลตาทั้งหมด และกลับมาระบาดใหม่ ซึ่งรัฐบาลและผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของไทย ก็พยายามหาแนวทางฉีดวัคซีนแบบไขว้ ซึ่งมีประสิทธิภาพวัคซีนสูงขึ้น และฉีดได้ในระยะเวลาที่เร็วขึ้น สร้างภูมิคุ้มกันได้เร็วขึ้นและป้องกันสายพันธุ์เดลตาได้ดีขึ้น
วันนี้มีการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 31 ล้านโดส เป็นอันดับ 4 ในอาเซียน / เป็นอันดับที่ 25 ของโลก โดยที่ฉีด 1 ล้านโดสแรกใช้เวลา 54 วัน / ครบ 10 ล้านโดสในเวลา 120 วัน / 10 ล้านโดสต่อมาใช้เวลา 36 วัน และ 10 ล้านโดสล่าสุดใช้เวลาเพียง 20 วัน และคาดว่าภายในปีนี้จะสามารถฉีดวัคซีนได้ตามที่ตั้งเป้าไว้
ประเทศไทยสามารถรับได้การระบาดรอบนี้ได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก ซึ่งอัตราการติดเชื้อและอัตราการตายของไทยต่ำกว่าประเทศที่มีประชากรใกล้เคียงกัน โดยยกตัวอย่างเปรียบเทียบ อัตราการติดเชื้อของสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส สูงกว่าไทย 6 เท่า ส่วนอัตราการตายของสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส สูงกว่าไทย 18 เท่า และไทยมีการฉีดวัคซีนเป็นอันดับ 4 ของอาเซียน ไม่ได้ฉีดวัคซีนล่าช้าที่สุดในอาเซียน
นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า รัฐบาลได้พยายามติดต่อขอซื้อวัคซีนจากทุกช่องทาง ทั้งติดต่อผู้นำประเทศผู้ผลิตวัคซีน และผู้บริหารบริษัทผลิตวัคซีน ทั้งการจัดซื้อ หรือแลกเปลี่ยนวัคซีน แต่ต้องทำให้ถูกขั้นตอนของสำนักงานคณะกรรมการองค์การอาหารและยา (อย.) และไทยถือว่าโชคดีที่เป็นฐานการผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ถือเป็นความร่วมมือและช่วยกระจายวัคซีนไปยังกลุ่มอาเซียน แม้วันนี้ยังได้รับวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้าน้อยอยู่ แต่ก็ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งวันหน้าสามารถนำไปพัฒนาเรื่องวัคซีน หรือยาเวชภัณฑ์ต่อไป
อย่างไรก็ตามที่ฝ่ายค้านกล่าวอ้างว่ารัฐบาลจัดซื้อวัคซีนแพงเกินไปนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะการกำหนดราคาเป็นของผู้ขาย อีกทั้งมีค่าใช้จ่ายส่วนอื่นๆด้วย เช่น ค่าเวชภัณฑ์ ค่าขนส่งและค่าบริหารจัดการ
ส่วนการที่ไทยไม่เข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ไม่ใช่การตัดสินใจที่ผิดพลาด แต่เพราะคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ และผลได้ผลเสียที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ เพราะโคแวกซ์ไม่สามารถกำหนดวันรับวัคซีนและชนิดวัคซีนได้ และหลายประเทศในอาเซียนที่เข้าร่วมโคแวกซ์ถือว่า ได้รับวัคซีนในสัดส่วนที่น้อยมาก บางประเทศได้รับเพียงหลักแสนหรือหลักล้านต้นๆ เมื่อเทียบกับการจอง สำหรับประเทศไทยได้รับวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้า 13.8 ล้านโดส จาก 61 ล้านโดส ถือว่าเป็นจำนวนที่สูงกว่าหลายประเทศที่ได้รับจากโครงการโคแวกซ์ และได้รับคำยืนยันจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าจะได้รับครบ 61 ล้านโดสภายในธันวาคมปีนี้
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึง ความสำเร็จในการรับมือกับการแพร่ระบาดสายพันธุ์เดลตาใน 10 วันที่ผ่านมา ตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยมีผู้หายป่วยมากกว่าผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,473 รายต่อวัน และผู้รักษาตัวในโรงพยาบาลลดลงต่อเนื่อง แสดงว่า มาตราการเรามีประสิทธิภาพพอสมควร และจากการประเมินจากแพทย์สถานการณ์จะดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังคงต้องมีมาตรการดูแลตัวเองอย่างเคร่งครัด
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ขอความร่วมมือในการปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ภายหลังมีการผ่อนคลายมาตรการตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน ด้วยความไม่ประมาท ซึ่งไม่ได้กล่าวโทษประชาชนแต่เป็นเพียงการขอความร่วมมือ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ก.ย. 64)
Tags: การเมือง, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, วัคซีนต้านโควิด-19, อภิปรายไม่ไว้วางใจ, โควิด-19