นายกฯ นั่งหัวโต๊ะติดตามเหตุแผ่นดินไหว ไล่บี้ปัญหาส่ง sms แจ้งเตือนปชช.ล่าช้า

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์การแก้ไขปัญหาแผ่นดินไหวร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช้านี้ โดยได้สอบถามถึงระบบการเตือนภัยแบบ SMS ที่มีปัญหาส่งช้าและไม่ทั่วถึงเพราะสั่งไปตั้งแต่ 14.00 น. แต่ระบบไม่ออก

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทน เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ส่งให้ กสทช.เมื่อเวลา 14.42 น. หลังจากนั้น 14.44 น. ได้จัดส่ง SMS รอบแรก แต่มีข้อจำกัดส่งได้ 2 แสนเบอร์ ขณะนี้ส่งไปทั้งหมดกว่า 10 ล้านเบอร์ ตอนนี้ Operator พัฒนาระบบส่ง SMS ให้มากขึ้น และประสานกับค่ายมือถือกรณี Cell Broadcast (CBC)

ทั้งนายกฯ ได้ขอให้ กสทช.และกรมป้องกันฯ ดำเนินการปรับปรุงในเรื่องนี้ว่า หากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น จะสามารถขอความร่วมมือระบบสื่อสารต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นค่ายใหญ่ได้อย่างไร

นายกฯ ได้สอบถามถึงรถไฟฟ้าว่า ขณะนี้กลับมาเปิดให้บริการได้แล้วหรือไม่ เพราะหลังเกิดเหตุการณ์มีปัญหาว่าประชาชนกลับบ้านไม่ได้ เนื่องจากต้องปิด BTS และ MRT พร้อมแนะควรมีระบบแจ้งข้อมูลให้ประชาชนใช้ถนนทราบ เช่น ถนนเส้นไหนปิด, เส้นไหนมีอุบัติเหตุ, ควรหลีกเลี่ยงเส้นทางใด

นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เช้านี้รถไฟฟ้าเปิดให้บริการทั้งหมด ยกเว้นสายสีชมพู และสีเหลือง ขอเวลาอีก 1 วันเพื่อตรวจสอบได้ชัดเจน เพราะหลังจากประเมินแล้วตัวโครงสร้างสำหรับรถวิ่งยังไม่มั่นใจ รวมทั้งทางขึ้นลงเชื่อมระหว่างทางด่วน กับ ถ.วิภาวดีรังสิต ที่มีเครนจากบนอาคารเอกชนตกลงมาทับ ส่วนเส้นทางถนนเปิดหมดแล้ว

จากนั้นนายกฯ ได้มีข้อสั่งการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

– กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี), ให้ กรมป้องกันฯ ที่มีอำนาจหน้าที่เตือนภัย ดำเนินการส่งหนังสือ และข้อความ SMS ที่จะ broadcast ไปให้ กสทช. ในทันที (โดยที่ไม่ต้องรอการประชุม หรือคำสั่งการจากนายกรัฐมนตรี) โดยให้ กสทช. เตรียมงานและการรองรับไว้ให้เพียงพอ และเพิ่ม capacity ในการส่งข้อความ SMS ยามฉุกเฉิน และขอให้ กรมป้องกัรฯ เร่งพัฒนาระบบ cell broadcast ที่สามารถส่งข้อความฉุกเฉินไปยังโทรศัพท์มือถือทุกเครื่องในไทยได้ทันที ภายในเวลา 3 เดือน

-กรุงเทพมหานคร เร่งดำเนินการค้นหาผู้สูญหาย และเร่งหามาตรการในการควบคุมการออกใบอนุญาตอาคารสูง และการกำหนดมาตรฐาน ทบทวนผังเมือง และกฎหมายอาคารสูง และตรวจสอบอาคารสูงเพื่อรองรับการเกิดแผ่นดินไหวได้ หากปล่อยปละละเลยแล้วสร้างอาคารเสร็จ แล้วมีผู้อาศัย แล้วไม่มีคุณภาพ จะเกิดปัญหาที่มากกว่าขณะนี้ ขอให้ร่วมมือกับทางกระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานพระพุทธศาสนา ในการตรวจสอบโบราณสถานต่าง ๆ ว่ามีผลกระทบหรือไม่

– กระทรวงกลาโหม นอกจากการจัดหายุทโธปกรณ์ในการบริการประชาชน รถโรงครัว รถขนส่งแล้ว ขอให้ทางหน่วยงานความมั่นคง เตรียมกำลังพล เพื่อช่วยเหลือซ่อมแซมบ้านเรือนประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว

– กระทรวงสาธารณสุข เตรียมแพทย์สำรอง และเตียงเสริมให้เพียงพอต่อความต้องการ ที่สำคัญการเยียวยาทางด้านจิตใจแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบและครอบครัว

-กระทรวงมหาดไทย กรมป้องกันฯ ต้องมีมาตรการที่ชัดเจนในการแจ้งเตือน ถ้าหากไม่มีแนวทางที่ชัดเจน จะต้องมีการจัดการที่เด็ดขาดต่อไป รวมถึงเงินเยียวยาที่จะต้องถึงมืออย่างรวดเร็ว

– กระทรวงคมนาคม ขอให้มีมาตรการที่ชัดเจนในการตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐาน อาคารสูง ขอให้กรมโยธาธิการ สภาวิศวกรรมสถานในการตรวจสอบที่เข้มงวด

– กระทรวงท่องเที่ยว ร่วมมือกับทางสภาวิศวกรรม และกรมโยธาธิการ ตรวจสอบโรงแรมขนาดสูง เพื่อสร้างความมั่นให้กับนักท่องเที่ยว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 มี.ค. 68)

Tags: ,