นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้กล่าวถ้อยแถลงในนามอาเซียนในฐานะที่ไทยเป็นประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น สำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 24 ผ่านระบบการประชุมทางไกล พร้อมผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน และนายกรัฐมนตรีคิชิดะ ฟูมิโอะ นายรัฐมนตรีญี่ปุ่น
โดยนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เน้นย้ำความสำคัญกับอาเซียน ผ่านการส่งเสริมความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมภายใต้มุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (AOIP)และ ข้อริเริ่ม Free and Open Indo-Pacific (FOIP) และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการรับมือกับโควิด-19 ซึ่งเป็นปัญหาร่วมกัน ซึ่งญี่ปุ่นได้ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ญี่ปุ่นห่วงกังวลต่อกรณีพิพาทในภูมิภาค และสถานการณ์ในภูมิภาค
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี เชื่อมั่นว่า การประชุมฯ เป็นโอกาสดีที่อาเซียนและญี่ปุ่น จะได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนทัศนะเกี่ยวกับแนวทางการขับเคลื่อนความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่มีพลวัตและก้าวหน้าในทุกมิติ โดยไทยในฐานะ ผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ขอกล่าวถ้อยแถลงในนามอาเซียน ดังนี้
อาเซียนและญี่ปุ่นได้รักษามิตรภาพและความร่วมมือระหว่างกันมาเกือบ 50 ปี บนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจ ความเป็นหุ้นส่วนแบบ “ใจถึงใจ”และ”ความเป็นหุ้นส่วนที่เท่าเทียมกัน” ซึ่งการร่วมกันฟันฝ่าความท้าทายที่ผ่านมาเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความเป็น “มิตรแท้” ระหว่างกันได้เป็นอย่างดี
อาเซียนขอบคุณและซาบซึ้งเป็นอย่างยิ่ง ที่ญี่ปุ่นได้สนับสนุนอาเซียนในรูปแบบต่าง ๆ ในการรับมือกับโควิด-19 ยกระดับความร่วมมือและการเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุข เพื่อเพิ่มความสามารถในการรับมือกับการระบาดหากเกิดระลอกใหม่ ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข และโรคอุบัติใหม่ในอนาคต ขอบคุณเงินสนับสนุนจากญี่ปุ่น 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐสมทบกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-19 และขอบคุณการสนับสนุนเงิน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อจัดตั้งศูนย์อาเซียนด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ (ACPHEED) ซึ่งมุ่งหวังว่าจะสามารถจัดตั้งและเริ่มดำเนินการได้ในโอกาสแรกสุด
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงคุณค่าของญี่ปุ่นที่ได้ให้การสนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียน ในด้านต่างๆ
ในด้านการเมืองและความมั่นคง อาเซียนมุ่งมั่นที่จะสานต่อการขยายความร่วมมือกับญี่ปุ่นผ่านกลไกที่อาเซียนมีบทบาทนำ ทั้งในด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ การต่อต้านการก่อการร้าย การเสริมสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยทางไซเบอร์ ความมั่นคงทางทะเลและความร่วมมือด้านกลาโหมผ่านกรอบ ADMM Plus ตลอดจน มุ่งเสริมสร้างบรรยากาศของความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน ที่จะป็นประโยชน์ต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็วและยั่งยืน ผ่านกลไกความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมภายใต้มุมมอง AOIP (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific)
ด้านเศรษฐกิจ อาเซียนเป็นฐานการลงทุนและการผลิตที่สำคัญของญี่ปุ่นมายาวนาน อาเซียนสนับสนุนให้ภาคธุรกิจของญี่ปุ่นลงทุนในอาเซียนต่อไป เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับห่วงโซ่อุปทานโลกของญี่ปุ่น ในขณะเดียวกัน อาเซียนส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากความตกลง AJCEP (ASEAN-Japan Comprehensive Economic Partnership) และประสงค์ให้ RCEP มีผลบังคับใช้ในโอกาสแรก นอกจากนี้ อาเซียนยินดีกับการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น เพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายหลังโควิด-19 และเพื่อศักยภาพของ MSMEs ผ่านการนำเทคโนโลยีดิจิทัลหรือสิ่งจำเป็นในยุค 4IR มาใช้
สำหรับการเสริมสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาค อาเซียนมุ่งมั่นที่จะดำเนินงานร่วมกับญี่ปุ่นให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมตามแถลงการณ์ร่วมของการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 22 ว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกัน โดยเฉพาะการสอดประสานกันระหว่างแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ค.ศ.2025 กับ ข้อริเริ่มความเป็นหุ้นส่วนเพื่อโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพของญี่ปุ่น ที่มีความสอดคล้องกับข้อริเริ่ม “การเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยง” ของอาเซียน
การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ การพัฒนาด้านดิจิทัล อาเซียนเชื่อมั่นว่าญี่ปุ่นจะให้การสนับสนุนต่อไปเพื่อส่งเสริมการรวมตัวในภูมิภาคและลดช่องว่างด้านการพัฒนาในอาเซียน โดยเฉพาะผ่านแผนงานข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน ฉบับที่ 4
ด้านสังคมและวัฒนธรรม มีการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรม การศึกษาและกีฬา อย่างต่อเนื่อง เห็นควรส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนโดยเฉพาะเยาวชนให้มากยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การศึกษา การดูแลผู้สูงอายุและการบริหารจัดการสังคมสูงวัย
สำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติทางธรรมชาติ ควรรักษาความสมดุลระหว่างมนุษย์กับสรรพสิ่งและความยั่งยืนในทุกมิติ เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมาย SDGs โดยขอบคุณญี่ปุ่นที่ได้สนับสนุนการลดปริมาณขยะทะเลในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน และหวังว่าจะแสวงหาความร่วมมือใหม่ ๆ ร่วมกันในอนาคต
ส่วนประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ ยืนยันถึงความสำคัญของการส่งเสริมการจัดระเบียบในภูมิภาคและระเบียบระหว่างประเทศ ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎและกติกา โดยยึดถือกฎหมายระหว่างประเทศ อนุสัญญา UNCLOS ค.ศ. 1982 เน้นการักษาสันติภาพ เสถียรภาพและเสรีภาพในการเดินเรือและการบินผ่านในทะเลจีนใต้ และการดำเนินการตาม DOC (2002 Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea) พร้อมกับทั้งนี้ ยินดีกับความคืบหน้าของการเจรจาเพื่อนำไปสู่ข้อสรุปของ COC ที่ครอบคลุมและสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ โดยอาเซียนเน้นย้ำการหารืออย่างสันติเพื่อให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดอาวุธนิวเคลียร์ โดยพร้อมที่จะมีบทบาทสร้างสรรค์ ผ่านกลไกที่อาเซียนมีบทบาทนำ เช่น ARF
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้ย้ำความมุ่งมั่นของอาเซียนที่จะขับเคลื่อนความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่นให้ก้าวไกล มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้นต่อไป โดยในโอกาสครบรอบ 50 ปี ของความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ในปี ค.ศ. 2023 นี้ เป็นโอกาสที่อาเซียนและญี่ปุ่นจะร่วมกันทบทวนความสำเร็จและบทเรียนที่ผ่านมา กำหนดทิศทางการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนในอนาคต ซึ่งไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น พร้อมผลักดันการจัดการประชุมสุดยอดฯ สมัยพิเศษ ที่ญี่ปุ่น ในปี ค.ศ. 2023 ตามความประสงค์ของญี่ปุ่น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ต.ค. 64)
Tags: ธนกร วังบุญคงชนะ, ประชุมสุดยอดอาเซียน, ประชุมอาเซียน, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, อาเซียน