นายกฯ ถกทูตอิสราเอลเร่งประสานอพยพคนงานไทย-เจรจาช่วยเหลือตัวประกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ได้นัดหารือร่วมกับนางสาวออร์นา ซากิฟ (H.E.Ms. Orna Sagiv) เอกอัครราชทูตรัฐอิสราเอลประจำประเทศไทย ในช่วงเช้าที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อหาแนวทางการช่วยเหลือคนไทยในพื้นที่การสู้รบในอิสราเอลให้ออกมาอยู่ในสถานที่ปลอดภัย หรือประเทศที่สามโดยเร็ว เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งจากเหตุการณ์ดังกล่าว

ขณะที่เมื่อเย็นวานนี้ (12 ต.ค.) ทันทีที่เดินทางกลับจากปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ได้เข้าร่วมประชุมศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉินความไม่สงบในอิสราเอล พร้อมติดตามความคืบหน้าในการช่วยเหลือคนไทย ครั้งที่ 5/2566 เพื่อเตรียมแผนการอพยพคนไทย โดยมีนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศ, นายจักรพงษ์ แสงมณี รมช.ต่างประเทศ, นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน, นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม, นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข, นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ อาทิ น.ส.พรรณนภา จันทรารมย์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ , นายศิระ สว่างศิลป์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงโดฮา , สถานกงสุลใหญ่ไทยในบางประเทศแถบตะวันออกกลาง, กองบัญชาการกองทัพไทย ,กรมข่าวทหารบก และกรมสุขภาพจิต

โดยที่ประชุมได้รายงานความคืบหน้ากรณีผู้ได้รับบาดเจ็บ ผู้เสียชีวิต รวมถึงการอพยพคนไทย ซึ่งวันที่ 12 ต.ค. เป็นวันแรกที่มีการอพยพและนำแรงงานไทยจากอิสราเอลเดินทางกลับมายังประเทศไทย อีกทั้งยังติดตามความคืบหน้าในการช่วยเหลือแรงงานไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกัน

เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล ได้รายงานสถานการณ์ในอิสราเอล หลังเกิดเหตุการณ์สู้รบ ในตะวันออกกลาง เข้าสู่วันที่ 7 แล้ว ซึ่งยังคงมีการโจมตีระหว่างกันด้วยจรวดและการยิงระเบิดเข้ามาในพื้นที่ฉนวนกาซ่า เวสต์แบงก์ และทางเหนือของอิสราเอลเป็นระยะ

ทั้งนี้ ก่อนการประชุมกระทรวงการต่างประเทศได้แจ้งข้อมูลคนไทยในอิสราเอลตามที่ได้รับจากสถานเอกอัครราชทูต ณ เทลอาวีฟ สถานะวันที่ 11 ต.ค. 2566 มี ผู้เสียชีวิต 21 ราย ผู้ได้รับบาดเจ็บ 14 ราย ผู้ถูกควบคุมตัว 16 ราย และคนลงทะเบียนแสดงความจำนงกลับไทย 5,990 คน

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวภายหลังการประชุม โดยยืนยันว่า มีความกังวลในเรื่องนี้ เนื่องจากความรุนแรงขยับเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันมีคนไทยที่ต้องการอพยพจากพื้นที่ความขัดแย้ง และแสดงเจตจำนงค์มาแล้วกว่า 6,000 คน สำหรับการเดินไปรับคนไทยโดยเครื่องบินกองทัพอากาศนั้น กองทัพอากาศได้เตรียมเครื่องบิน C130 และแอร์บัส 340 ที่จะเดินทาง ในวันที่ 14 ต.ค. และจะมีการขนเสบียงไปให้กับคนไทยในอิสราเอลด้วย อีกทั้งจะรับคนไทยกลับมา 140 คน แต่จำนวนที่จะอพยพถือว่าน้อยมาก

ดังนั้นในประชุมเห็นพ้องต้องกันว่า ให้มีการเตรียมเครื่องบินไว้ให้พร้อมตั้งแต่วันนี้ โดยมีสายการบินนกแอร์ 2 ลำ แอร์เอเชีย 2 ลำ ส่วนการบินไทยยังรอคำตอบว่าจะให้การสนับสนุนได้กี่ลำ

“ผมสั่งการไปว่า ขอให้มีการเตรียมพร้อมเครื่องบิน 4 ลำนี้ และเพิ่มการบินไทยไว้ โดยขอให้ทุกคนมองเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญสูงสุด ทั้งนี้ ทูตไทยประจำอิสราเอลแจ้งมาว่า จะสามารถนำคนไทยออกมาจากจุดเสี่ยงได้วันละ 200 คน ดังนั้น เครื่องบิน 1 ลำจะสามารถนำคนไทยออกมาได้ และหากลำเลียงออกมาวันละลำ ต้องใช้เวลานานนับเดือน ดังนั้นจึงต้องคิดวิธีทำให้รวดเร็วขึ้น ที่สำคัญงานเอกสารที่บางคนทำหล่นหาย ผมได้สั่งการให้ทูตมองว่าเรื่องงานเอกสารเป็นเรื่องรอง แต่เน้นเรื่องความปลอดภัยให้ได้สูงสุด” นายกรัฐมนตรี กล่าว

ทั้งนี้ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ ได้เสนอแนะว่าให้นำแรงงานไทยไปส่งยังประเทศที่ 3 ที่อยู่ใกล้เคียง จากนั้นค่อยทยอยขนย้ายต่อกลับมาไทย ซึ่งวิธีนี้ถือว่าทำได้ ดังนั้นทางทีมงานกำลังพิจารณากันอยู่ แต่ก็มีเรื่องยากเกี่ยวกับเกี่ยวกับเอกสารเดินทางที่จะเข้าประเทศได้หรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องหนึ่งที่มีความละเอียดอ่อนทางการทูต จึงต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ ซึ่งฝ่ายความมั่นคงและกระทรวงการต่างประเทศ จะมีการส่งเจ้าหน้าที่ไปทำงานเพิ่มเติม และมีเจ้าหน้าที่จากสถานทูตใกล้เคียงพยายามเข้าไปช่วยดำเนินงานด้านเอกสาร แต่ยืนยันว่างานด้านเอกสารจะไม่เป็นประเด็นขัดขวางการอพยพคนไทยกลับมาประเทศ

นายเศรษฐา กล่าวว่า ได้สั่งการในระดับสูงสุดว่าเรื่องการอพยพคนไทยกลับประเทศเป็นเรื่องสำคัญที่สุด และทุกหน่วยงานรับทราบ และยังมีการพิจารณาการลำเลียงคนไทยในทางบก แต่เจอปัญหาใหญ่เพราะต้องผ่านดินแดนกาซ่า ซึ่งไม่สามารถผ่านออกไปได้ แต่จะมีการติดตามสถานการณ์ ส่วนทางเรือก็ต้องเดินทางด้วยทางรถออกมาก่อน ถือเป็นเรื่องใหญ่และต้องคำนึงถึงตลอดเวลา

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังวิงวอนไปถึงสายการบินเอกชนว่าหากพอจะช่วยได้ ขอให้มาร่วมด้วยช่วยกัน ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศพร้อมที่จะประสานการบินผ่านน่านฟ้าในหลายประเทศ เพราะถือว่ายังอยู่ในภาวะสงคราม และสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ซึ่งรัฐบาลให้ความเป็นห่วงและสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเรื่องนี้

ส่วนการประสานเจรจาขอปล่อยตัวประกันคนไทยนั้น นายกรัฐมนตรี ระบุว่ามีการดำเนินการเจรจาตลอดเวลา และใช้ทุกช่องทางเท่าที่จะเป็นไปได้ ขอให้มั่นใจ แต่เนื่องจากเป็นงานด้านความมั่นคง จึงไม่สามารถพูดหรือเผยแพร่อะไรได้มาก

“เราต้องมีความหวัง ต้องมีความพยายาม จริงๆ แล้วเราไม่ได้อยู่ในประเทศที่มีความขัดแย้ง และต้องยอมรับว่าเมื่อมาดูจากตารางผู้เสียชีวิตทั้งหมด เป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจทั้งที่ประเทศไทยไม่ได้มีความขัดแย้ง แต่กลับมีผู้เสียชีวิตสูงสุดกว่า 20 คนแล้ว เชื่อว่าหลายประเทศก็ให้ความเห็นใจ เพราะฉะนั้นการที่เราจะได้รับการบินผ่านน่านฟ้าผมจึงขอวิงวอนและอ้อนวอน ยืนยันว่าเราทำเต็มที่และพยายามให้เสร็จโดยเร็ว” นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายกรัฐมนตรี เชื่อว่าครอบครัวที่สูญเสียญาติพี่น้องไปนั้น มีความกังวลเรื่องการรับศพกลับมาบำเพ็ญกุศลที่บ้านเกิด ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ กระทรวงการต่างประเทศก็พยายามอย่างเต็มที่ ในที่ประชุมก็ได้พูดคุยกับทูตไทยประจำกรุงเทลอาวีฟ ได้รายงานว่าก็กำลังเร่งและกดดันทางการอิสราเอล แต่เรื่องการชันสูตรพลิกศพและการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลหากมีการสูญเสียชีวิตเนื่องจากภาวะสงครามนั้น ทางรัฐบาลอิสราเอลก็จะมีเงินชดเชยให้ส่วนหนึ่งด้วย แต่หากมีการนำศพกลับออกมาก่อนโดยไม่มีเอกสารหลักฐาน อาจจะไปขอเคลมเงินได้ช้า ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้พยายามดูแลให้ครบถ้วนทุกมิติอย่างดีที่สุด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ต.ค. 66)

Tags: , ,