นายกฯ ตั้งเป้าบริหารจัดการน้ำท่วม-น้ำแล้งแบบสมดุล ดูแลทั้งภาคเกษตร-อุตสาหกรรม

เศรษฐา ทวีสิน

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวถึงความคืบหน้าถึงสถานการณ์น้ำท่วม ว่า ได้มีการหารือเป็นเรื่องแรกในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ และได้สั่งการให้รัฐมนตรีทุกคนให้ความใส่ใจเป็นพิเศษในการดูแลและช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัย พร้อมทั้งกำชับ สส.ลงพื้นที่ให้มากขึ้น

“เราต้องดูแลคนที่เดือดร้อนทันที รวมถึงการเยียวยาพื้นที่เพาะปลูก ที่จะมีการสูญเสีย จะต้องมีการชดใช้ ส่วนเรื่องการผันน้ำวันนี้จะมีการคุยต่อ เพื่อดูถึงการระบายน้ำของแต่ละพื้นที่” นายเศรษฐา ระบุ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่อยากให้การทำงานเป็นลักษณะวัวหายล้อมคอก ดังนั้นในวันศุกร์ที่ 6 ต.ค.นี้ ตนจะเดินทางลงพื้นที่ จ.อุบลราชธานี ซึ่งได้ดูจากข้อมูลพื้นที่เรียลไทม์ของกรมชลประทานแล้ว ยอมรับว่ามีความกังวล

“มีพื้นที่น้ำล้นเอ่อ เกินจุดที่จะสบายใจ ผมจะลงไปสั่งการ และบอกเจ้าหน้าที่ไปแล้วให้เตรียมแผนงานไว้ด้วย เพราะปีที่ผ่านมาจ.อุบลราชธานี ประสบปัญหาน้ำท่วมมาก และนานมากด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐมนตรีทุกท่านให้ความกังวล” นายกรัฐมนตรี ระบุ

ขณะที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี และนายเกรียง กัลป์ตินันท์ รมช.มหาดไทย ได้มีการรายงานสถานการณ์ให้รับทราบแล้ว และคงจะมีการลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

สำหรับแผนระยะยาวเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากนั้น นายเศรษฐา กล่าวว่า จะเป็นแผนการบูรณาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง ซึ่งต้องขอเวลาเตรียมงาน

ทั้งนี้ มีความเป็นห่วงพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ไม่ต้องการให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ ซึ่งนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องของน้ำมี 4 ข้อที่ต้องให้ความสำคัญ คือ 1.น้ำอุปโภค-บริโภค ตรงนี้ไม่น่าเป็นห่วงเพราะมีพออยู่แล้ว 2. น้ำรักษาระบบนิเวศน์ ซึ่งมีการบริหารจัดการอยู่ 3. แต่ที่ห่วงมากคือน้ำเพื่อการเกษตรกรรม และตอนนี้เป็นเรื่องของน้ำท่วม และอีก 6 เดือนจะเป็นเรื่องของน้ำแล้ง ต้องบริหารจัดการอย่างพอเหมาะ การระบายน้ำหากระบายมากเกินไป หรือเก็บในเขื่อนน้อยเกินไปก็จะเกิดปัญหาแล้ง หากใช้จังหวะที่ฝนตกเยอะระบายน้ำไปเก็บไว้ในพื้นที่เหมาะสมควรจะเก็บจะมีประโยชน์ และ 4. น้ำที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมไฮเทคที่จะเข้ามา มีความต้องการน้ำเยอะมาก

“ปัจจุบันเรายังเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐาน ความจำเป็นใช้ยังมีอยู่ แต่ถ้ามีข่าวออกไปในอีก 6 เดือนข้างหน้าว่าเรามีภาวะขาดแคลนน้ำ ซึ่งตอนนี้ยังไม่มี เพียงแต่จะต้องป้องกันโดยทำงานเชิงรุก ต้องดูแลให้ดี ภาคอุตสาหกรรมจะต้องไม่ขาดแคลนน้ำ ถ้าตรงนี้สามารถบริหารจัดการได้ดี เชื่อว่าจะเป็นการดึงดูดใจให้นักลงทุนจากต่างประเทศที่จะมาลงทุนในแง่ของไฮเทคที่จะยกระดับภาคอุตสาหกรรมประเทศไทย ดังนั้นการบริหารจัดการน้ำภาคอุตสาหกรรมเป็นเรื่องที่จะปล่อยปะละเลยไม่ได้” นายกรัฐมนตรี ระบุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ต.ค. 66)

Tags: , , ,