นายกฯ ตอบรับร่วมประชุมสุดยอดผู้นำแผนความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเอกสารผลลัพธ์ 3 ฉบับ ที่จะมีการรับรองโดยไม่มีการลงนาม ในการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (The Greater Mekong Subregion Economic Coordination : GMS) ครั้งที่ 7 ในวันที่ 9 กันยายน 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีกัมพูชา และธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ตอบรับเข้าร่วมการประชุมเรียบร้อยแล้ว

สำหรับสาระสำคัญของเอกสารผลลัพธ์ทั้ง 3 ฉบับ มีดังนี้

1.ร่างปฏิญญาร่วมระดับผู้นำ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 7 เป็นการยืนยันความมุ่งมั่นต่อการพัฒนาที่ครอบคลุมและยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม จีน) ผ่านการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาที่เท่าเทียม เปิดกว้าง ครอบคลุม ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ซึ่งที่ประชุมได้รับทราบผลสำเร็จของแผนงาน GMS ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา อาทิ (1) การเชื่อมต่อด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เช่น ถนนความยาวกว่า 11,000 กิโลเมตร (2) การขนส่งข้ามพรมแดนด้วยขั้นตอนที่เรียบง่าย และ (3) การมีระบบตรวจจับและควบคุมการแพร่กระจายของโรคติดต่อ รวมทั้งการรับรองกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง พ.ศ. 2573 และแผนการฟื้นฟูและตอบสนองต่อผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พ.ศ. 2564 – 2566

2.ร่างกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง พ.ศ. 2573 เป็นการกำหนดแนวทางในการพัฒนาอนุภูมิภาคในอีก 10 ปีข้างหน้า เช่น (1) การสนับสนุนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้อย่างครอบคลุม (2) การยกระดับแนวทางการพัฒนาเชิงพื้นที่ และ (3) การสนับสนุนการมีส่วนร่วมและสร้างเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ ทั้งนี้ กรอบยุทธศาสตร์ดังกล่าวเป็นเอกสารที่ปรับปรุงได้ตลอดเวลา เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความท้าทายใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว

3.ร่างเอกสารแผนการฟื้นฟูและตอบสนองต่อผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พ.ศ. 2564-2566 มีวัตถุประสงค์เพื่อประสานความร่วมมือของประเทศสมาชิกในประเด็นที่ต้องอาศัยการบูรณาการในระดับอนุภูมิภาค โดยมีเป้าหมายในระยะเร่งด่วน คือ มุ่งควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อและอัตราการเสียชีวิต สนับสนุนโครงการฉีดวัคซีน และลดผลกระทบต่อกลุ่มประชากรยากจน และกลุ่มเปราะบาง

“การเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ จะเป็นโอกาสสำคัญของไทยที่จะได้นำเสนอบทบาทความเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ในอนุภูมิภาค นอกจากนี้ ยังได้ร่วมหารือแนวทางการฟื้นฟูและพัฒนาอนุภูมิภาค GMS ภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้วย” น.ส.รัชดา กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ก.ย. 64)

Tags: , , , ,