นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เข้าร่วมพิธีปิดและส่งมอบตำแหน่งประธานอาเซียน พร้อมผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วม โดยสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนฯ ในฐานะประธานอาเซียน ได้กล่าวปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 38 และ 39 พร้อมกับส่งมอบตำแหน่งให้นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ซึ่งจะเป็นประธานอาเซียนในปี 2565
กัมพูชาในฐานะประธานอาเซียนปี 2565 ได้กล่าวถึงวิสัยทัศน์ว่า พร้อมนำอาเซียนเร่งรัดการสร้างประชาคมที่เข้มแข็ง มีส่วนร่วม สอดคล้องกับจิตวิญญาณอาเซียน โดยในด้านการเมือง กัมพูชาจะเน้นย้ำการเสริมสร้างความเป็นแกนกลางของอาเซียน กลไกระดับภูมิภาค ความร่วมมือกับภายนอก และการสร้างภูมิต้านทานให้อาเซียน ด้านเศรษฐกิจ เร่งส่งเสริมการนำข้อริเริ่มไปสู่การปฏิบัติ ใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าที่ดีที่สุด ด้านสังคม จะส่งเสริมทุนมนุษย์ ส่งเสริมบทบาทสตรี และเยาวชน
ด้านสมเด็จพระราชาธิบดี แห่งบรูไนฯ ได้กล่าวถึงการหารือระดับผู้นำในช่วงเวลา 3 วันที่ผ่านมาว่า อาเซียนสร้างความก้าวหน้าร่วมกัน ในการตอบโต้สถานการณ์โรคอุบัติใหม่ และสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงการรับมือเพื่อดูแลสุขภาพจิตของประชาชนอาเซียน วางรากฐานในการรับมืออนาคต การลงทุนเพื่อเยาวชน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญ
ทั้งนี้ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้สรุปเอกสารซึ่งผู้นำได้รับรองแล้วทั้งสิ้น 25 ฉบับ ดังนี้
การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 38 และ 39
1.ปฏิญญาบันดาร์เสรีเบกาวันว่าด้วยข้อริเริ่มเชิงยุทธศาสตร์ และองค์รวมเพื่อเชื่อมโยงการตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินและภัยพิบัติของอาเซียน (Bandar Seri Begawan Declaration on the Strategic and Holistic Initiative to Link ASEAN Responses to Emergencies and Disasters)
2.ปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการธำรงระบบพหุภาคี (ASEAN Leaders’ Declaration on Upholding Multilateralism)
3.ปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยเศรษฐกิจภาคทะเล (ASEAN Leaders’ Declaration on the Blue Economy)
4.ขอบเขตอำนาจหน้าที่คณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการจัดทำวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนภายหลังปี ค.ศ. 2025 (Terms of Reference for the High-Level Task Force on the ASEAN Community’s Post-2025 Vision)
5.แผนยุทธศาสตร์อาเซียนในประเด็นการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 (Consolidated Strategy on the Fourth Industrial Revolution for ASEAN)
6.แถลงการณ์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยการยกระดับการปรับเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Leaders’ Statement on Advancing Digital Transformation in ASEAN)
7.กรอบความร่วมมือเศรษฐกิจใส่ใจที่ครอบคลุมของอาเซียน (ASEAN Comprehensive Framework on Care Economy)
8.ถ้อยแถลงร่วมอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำหรับการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (ASEAN Joint Statement on Climate Change to the 26th Conference of the Parties to the United Nations Framework Convention on Climate)
9.กรอบนโยบายยุทธศาสตร์อาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมความเข้าใจและความรู้สึกของการเป็นวาระระดับภูมิภาคที่มากขึ้นในหมู่ประชาชนอาเซียน (ASEAN Strategic Policy Framework on Promoting an Adaptive ASEAN Community of Greater Understanding, Tolerance and a Sense of Regional Agendas among Peoples of ASEAN)
10.ปฏิญญาบันดาร์เสรีเบกาวันว่าด้วยความสำคัญของครอบครัวสำหรับการพัฒนาชุมชนและการสร้างชาติ (Bandar Seri Begawan Declaration on the Importance of the Family for Community Development and Nation Building)
11.ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมแรงงานเพื่อการแข่งขัน การมีภูมิต้านทาน และความคล่องตัวสำหรับงานในอนาคต (ASEAN Declaration on Promoting Competitiveness, Resilience and Agility of Workers for the Future of Work)
12.ปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการปรับสูตรและการผลิตอาหารและเครื่องดื่มทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพ (ASEAN Leaders’ Declaration on the Reformulation and Production of Healthier Food and Beverage Options)
13.ปฏิญญาว่าด้วยการขจัดการระรานเด็กในอาเซียน (Declaration on the Elimination of Bullying of Children in ASEAN)
การประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 22
14.แถลงการณ์ร่วมของการประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 22 ว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมืออาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี (Joint Statement of the 22nd ASEAN-Republic of Korea Summit on Advancing ASEAN-Republic of Korea Cooperation)
การประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 24
15.แถลงการณ์ร่วมอาเซียน-จีนว่าด้วยความร่วมมือเพื่อสนับสนุนกรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน (ASEAN-China Joint Statement on Cooperation in Support of the ASEAN Comprehensive Recovery Framework)
16.แถลงการณ์ร่วมอาเซียน-จีน ว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ASEAN-China Joint Statement on Strengthening Green and Sustainable Development)
การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกา ครั้งที่ 9
17.แถลงการณ์ผู้นำอาเซียน-สหรัฐฯ ว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัล (ASEAN-U.S. Leaders’ Statement on Digital Development)
การประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 24
18.แถลงการณ์ผู้นำอาเซียนบวกสามว่าด้วยความร่วมมือด้านสุขภาพจิตในวัยรุ่นและเด็ก (ASEAN Plus Three Leaders’ Statement on Cooperation on Mental Health Amongst Adolescents and Young Children)
การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 16
19.แถลงการณ์ผู้นำการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกว่าด้วยการฟื้นฟูอย่างยั่งยืนและสีเขียว (East Asia Summit Leaders’ Statement on Sustainable and Green Recovery)
20.แถลงการณ์ผู้นำการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกว่าด้วยการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านการฟื้นฟูการท่องเที่ยว (East Asia Summit Leaders’ Statement on Economic Growth through Tourism Recovery)
21.แถลงการณ์ผู้นำการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกว่าด้วยความร่วมมือด้านสุขภาพจิต (East Asia Summit Leaders’ Statement on Mental Health Cooperation)
การประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย ครั้งที่ 18
22.แถลงการณ์ร่วมอาเซียน-อินเดียว่าด้วยความร่วมมือต่อเอกสารมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (ASEAN-India Joint Statement on Cooperation on the ASEAN Outlook on the Indo-Pacific (AOIP)
การประชุมสุดยอดอาเซียน-รัสเซีย ครั้งที่ 4
23.แผนปฏิบัติการอย่างครอบคลุม (ซีพีเอ) เพื่อดำเนินการความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับสหพันธรัฐรัสเซีย ปี ค.ศ. 2021 – 2025 (Comprehensive Plan of Action (CPA) to Implement the Association of Southeast Asian Nations and the Russian Federation Strategic Partnership (2021-2025))
24.แถลงการณ์อาเซียน-รัสเซียว่าด้วยการสร้างภูมิภาคที่เป็นปึกแผ่น มั่นคง และยั่งยืน (ASEAN-Russia Statement: Building United Secure and Sustainable Region)
25.แถลงการณ์อาเซียน-รัสเซียว่าด้วยการแก้ไขและป้องกันปัญหายาเสพติด (Statement of ASEAN and the Russian Federation on Cooperation in the Field of Addressing and Countering the World Drug Problem)
“นายกรัฐมนตรี ยินดีกับบรูไนฯ ในฐานะประธานอาเซียนในปีนี้ ที่สามารถจัดการประชุมได้อย่างประสบความสำเร็จ ท่ามกลางความท้าทายของโลก และในภูมิภาค จนเกิดผลลัพท์ของการประชุมอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ไทยยืนยันสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพของกัมพูชา ในปี 2565 และเชื่อมั่นว่าความร่วมมือในกลุ่มมาชิกอาเซียน จะเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศร่วมกัน ตลอดจน ไทยพร้อมแสดงบทบาทสำคัญในอาเซียน เพื่อประโยชน์ร่วมกันในภูมิภาค”
นายธนกร กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ต.ค. 64)
Tags: ธนกร วังบุญคงชนะ, ประชุมสุดยอดอาเซียน, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, อาเซียน