นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีแห่งมาเลเซีย เปิดเผยว่า เขาไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องปรับเพิ่มต้นทุนการกู้ยืมเงินเพื่อหนุนสกุลเงินริงกิตของมาเลเซีย โดยวิธีแก้ปัญหาค่าเงินริงกิตอ่อนค่านั้นคือการลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ นายกฯอันวาร์แถลงต่อรัฐสภาในวันนี้ (31 ต.ค.) ว่า ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ เช่น อัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงาน ปรับตัวลดลง ขณะที่การลงทุนเพิ่มขึ้น จึงเป็นเรื่องยากที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้นอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจขนาดเล็ก
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) มีกำหนดที่ประชุมในวันพฤหัสบดี (2 พ.ย.) เพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
ขณะนี้ BNM กำลังเผชิญแรงกดดันในการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากสกุลเงินริงกิตเคลื่อนไหวใกล้ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2531 และธนาคารกลางประเทศอื่นในภูมิภาคกำลังดำเนินมาตรการคุมเข้มทางการเงินเพื่อพยุงค่าเงินในประเทศ โดย BNM มีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ 3% นับตั้งแต่เดือนก.ค. ซึ่งแตกต่างอย่างมากหากเปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
“บรรดานักเศรษฐศาสตร์ต่างมองว่าควรเพิ่มมูลค่าของสกุลเงินริงกิตด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่เพื่ออะไรหรือ” นายกฯอันวาร์กล่าว “เราจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นต่อเศรษฐกิจเท่านั้น เวลานี้ยังไม่จำเป็น”
นายกฯอันวาร์ระบุว่า สกุลเงินริงกิตที่อ่อนค่าลงนั้นเป็นผลมาจากการดำเนินการของเฟด พร้อมกล่าวเสริมว่า วิธีแก้ปัญหาระยะกลางและระยะยาวคือลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยมาเลเซียกำลังดำเนินการค้าขายบางส่วนกับจีน อินโดนีเซีย และไทย ด้วยสกุลเงินท้องถิ่น
ปัจจุบัน จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของมาเลเซีย ขณะที่อินโดนีเซียตามมาที่อันดับ 5 และไทยอยู่อันดับ 7
ทั้งนี้ นายกฯอันวาร์ระบุเสริมว่า “เรายังได้หารือกับชาติอาหรับเพื่อเริ่มกระบวนการลดการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐ แต่เราประสบความสำเร็จกับเพียง 3 ประเทศเท่านั้น โดยมาตรการดังกล่าวเป็นแนวทางการแก้ปัญหาสำหรับการปกป้องสกุลเงินริงกิตในระยะยาว”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ต.ค. 66)
Tags: ค่าเงินริงกิต, ธนาคารกลางมาเลเซีย, มาเลเซีย, อัตราดอกเบี้ย, อัตราเงินเฟ้อ, เศรษฐกิจมาเลเซีย