นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ชุดใหญ่ ผ่านระบบการประชุมทางไกลที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน นายกรัฐมนตรีได้แจ้งในที่ประชุมทราบว่า ระยะเวลา 1-2 เดือนข้างหน้าเป็นช่วงเวลาที่สำคัญ ซึ่งทั่วโลกมีทิศทางการแพร่ระบาดรุนแรงและเพิ่มมากขึ้น
ศบค.จึงเร่งดำเนินการ ทั้งการยกระดับของพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักรและปรับมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19, การใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit ให้กำหนดมาตรการกำกับดูแลอย่างรัดกุม และกำหนดแนวทางการในการบริหารจัดการตรวจ Antigen Test Kit รวมทั้งกำชับให้บริหารจัดการระบบการรักษาพยาบาลทุกระบบให้มีประสิทธิภาพและให้มีการประสานงานโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชน จัดทำระบบ HI และ CI เพิ่มเติม ทั้งในพื้นที่กรุงเทพและต่างจังหวัด ขณะเดียวกันได้ยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมโรคในสถานประกอบกิจการ ทั้งโรงงาน แคมป์แรงงาน บริษัท ในรูปแบบการป้องกันควบคุมโรคเฉพาะพื้นที่ หรือ Bubble and Seal โดยเฉพาะโรงงานใหญ่ ๆ เพื่อชะลอกการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานให้มากที่สุด
นายกรัฐมนตรี ยังเปิดเผยว่า วันพรุ่งนี้จะมีการรับมอบวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่รัฐบาลต่างประเทศส่งมอบวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ประกอบด้วย รัฐบาลสหรัฐอเมริกา มอบวัคซีนไฟเซอร์ ไบโอเอนเทค (Pfizer-BioNTech) จำนวน 1,503,450 โดส ซึ่งมาถึงประเทศไทยแล้ว เมื่อวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา, รัฐบาลสหราชอาณาจักรมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจำนวน 415,040 โดส, รัฐบาลสมาพันธรัฐสวิสมอบอุปกรณ์ทางแพทย์ ได้แก่ ชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบเร่งด่วน (Rapid Antigen Test) จำนวน 1,100,000 ล้านชุด และเครื่องช่วยหายใจ จำนวน 102 เครื่อง ซึ่งได้จัดส่งถึงไทยแล้ว เมื่อวันที่ 29 ก.ค.64 และรัฐบาลญี่ปุ่นมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจำนวน 1,053,090 โดส เมื่อวันที่ 12 ก.ค.64
สำหรับแผนการจัดหาและกระจายวัคซีนนั้น นายกรัฐมนตรียังยืนยันการจัดหาโควิด-19 ในเดือน ส.ค.64 จำนวน 10 ล้านโดส ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่ม 7 โรคเสี่ยง โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ และบุคลากรด่านหน้า กลุ่มโรงงานและกลุ่มประกันสังคมรวมทั้งคนต่างประเทศที่อยู่ประเทศไทย พร้อมทั้งได้เร่งให้มีการพิจารณาการขึ้นทะเบียนวัคซีนสปุ๊กนิก ขณะเดียวกันได้สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการต่างประเทศเร่งเจรจาจัดหาวัคซีน เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อป้องกันไวรัสที่กลายพันธ์ ขณะนี้ได้เร่งการฉีดวัคซีนให้มากที่สุด เชื่อว่าจะสามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับกลุ่มผู้สูงอายุได้ครอบคลุมร้อยละ 50 ภายในเดือนสิงหาคม นี้ สำหรับเกณท์การจัดสรรวัคซีน Pfizer 1.5 ล้านโดส ยังเป็นบุคลากรทางการแพทย์ (เข็ม 3 กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ) จำนวน 700,000 โดส ผู้มีภาวะเสี่ยงสูง จำนวน 645,000 โดส ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย จำนวน 150,000 โดส ทำการวิจัย 5,000 โดส และสำรองส่วนกลาง จำนวน 3,450 โดส มั่นใจว่าหลังจากนี้ไทยจะสามารถจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม รวมทั้งการให้มีการรายงานการจัดหายาฟาวิฟิราเวียร์ และยาตัวอื่นๆ ซึ่งจะเป็นยารักษาโควิด-19 ตัวใหม่ๆ เพิ่มด้วย ในการประชุม นายกรัฐมนตรียังกำชับการทำงานที่บ้าน (WFH) ให้มากที่สุด โดยเฉพาะภาครัฐและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ให้มีการ WFH ขั้นสูงสุด ขณะเดียวกันก็ขอความร่วมมือภาคเอกชนลดการทำงานในออฟฟิศสำนักงาน โดยขอให้ปรับทำงานที่บ้านให้มากที่สุดด้วยเช่นกัน
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในนามผผู้อำนวยการ ศบค.มีความเป็นห่วงประชาชนและสถานการณ์การแพร่ระบาดในขณะนี้มาก จึงสั่งให้ ศบค.มีทั้งมาตรการทั้งในเชิงรุก เชิงรับ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปทุกวัน พร้อมกำชับให้ทุกหน่วยงานต้องเร่งประชาสมัพนธ์ สร้างความเจ้าใจถึงความจำเป็นที่ทุกคนยังต้องปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุข DMHTT เพื่อลดโอกาสในการแพร่หรือติดเชื้อ เน้นในการประชาสัมพันธ์
ขณะเดียวกันฝากให้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย แสดงแผนที่จังหวัดให้พื้นที่สีฟ้าทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งบางจังหวัด ไม่ใช่พื้นที่แดงทั้งจังหวัด ยังมีพื้นที่ปลอดภัย หรือพื้นที่สีฟ้าสะท้อนถึงเห็นถึงความร่วมมือของประชาชนในการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สามารถควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ในพื้นที่ทั่วประเทศในทุกจังหวัด โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังห่วงใยเจ้าหน้าที่ด่านหน้าผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งอาสาสมัคร จิตอาสา ย้ำให้จัดมีอุปกรณ์ เพื่อป้องกันในการปฏิบัติหน้าที่ด้วย พร้อมกำชับให้เจ้าหน้าที่ดูแลการชุมชน ให้เป็นไปตามกฎหมายที่มีอยู่ด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ส.ค. 64)
Tags: COVID-19, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, วัคซีน, วัคซีนต้านโควิด-19, ศบค., อนุชา บูรพชัยศรี, โควิด-19