นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เผยขณะนี้ช่วงฤดูแล้งแล้วใกล้สิ้นสุดแล้วในสิ้นเดือน เม.ย.นี้ โดยปัจจุบันมีปริมาณน้ำในแหล่งน้ำทั่วประเทศ 45,099 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 55% ของความจุ น้อยกว่าเมื่อปีที่แล้วอยู่ 2% ซึ่งนับว่าอยู่ในเกณฑ์ดี แม้ประเทศไทยจะมีฝนตกน้อยกว่าค่าปกติจากอิทธิพลของสภาวะเอลนีโญ แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้วางแผนกักเก็บน้ำในช่วงต้นฤดูแล้งไว้ให้ได้มากที่สุดเพื่อให้มีน้ำใช้เพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้ และแนวโน้มของปริมาณฝนจะเริ่มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางเดือน พ.ค.เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีอ่างเก็บน้ำบางแห่งที่มีปริมาณน้ำน้อย โดยเป็นอ่างฯ ขนาดใหญ่ 4 แห่ง ได้แก่ เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนกระเสียว เขื่อนคลองสียัด และเขื่อนจุฬาภรณ์ รวมถึงอ่างฯ ขนาดกลางอีก 85 แห่ง ประกอบกับยังคงต้องมีการสำรองปริมาณน้ำไว้สำหรับช่วงต้นฤดูฝน เนื่องจากมีโอกาสเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วงได้ ดังนั้นจึงขอความร่วมมือจากเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวข้าวนาปรังแล้วยังคงงดปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 2 โดยขอให้ติดตามข้อมูลข่าวสารจากภาครัฐที่จะมีการประชาสัมพันธ์ช่วงเวลาส่งเสริมการเพาะปลูก เพื่อป้องกันปัญหาความเสี่ยงขาดแคลนน้ำซึ่งจะสร้างความเสียหายแก่ผลผลิตทางการเกษตร
สำหรับสถานการณ์ในช่วงฤดูแล้ง ปัจจุบันมีพื้นที่ตามประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวม 4 จังหวัด ได้แก่ จ.กาญจนบุรี จ.ชลบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.บุรีรัมย์ โดย จ.บุรีรัมย์ ได้ประกาศเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 9 เม.ย.67 ในพื้นที่ ต.บ้านตะโก อ.ห้วยราช และ ต.หนองแวง อ.ละหานทราย จำนวน 3 หมู่บ้าน ซึ่ง สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันลงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาให้สถานการณ์คลี่คลายโดยเร็ว ซึ่งในปีนี้ถือว่าภัยแล้งไม่ได้ขยายวงกว้างนัก โดยส่วนใหญ่เป็นปัญหาการขาดแคลนน้ำด้านอุปโภคบริโภค ซึ่งหน่วยงานได้เร่งให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่
สถานการณ์ในภาคตะวันออก ซึ่งมีเกษตรกรในบางพื้นที่เริ่มประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ในวันนี้ได้มีการหารือร่วมกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ในการบริหารจัดการน้ำอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ จ.จันทบุรี ให้เพิ่มการระบายน้ำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โดย สทนช. จะยังคงมีการลงพื้นที่เพื่อติดตามการดำเนินการตามมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/67 โดยในเดือน พ.ค.67 มีแผนจะลงพื้นที่ใน 3 จังหวัด ได้แก่ จ.พิษณุโลก จ.ตรัง และ จ.กระบี่ ควบคู่ไปกับการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ในช่วงฤดูฝนตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 ซึ่งคาดว่าจะประสบกับสภาวะลานีญา และมีความเป็นไปได้จากสถิติในเบื้องต้นว่ามีแนวโน้มที่ประเทศไทยจะมีพายุ 1-3 ลูก ในปีนี้
ส่วนสถานการณ์น้ำเค็มรุกล้ำเข้าสู่คลองประเวศบุรีรมย์และคลองสาขา เนื่องจากเหตุการณ์ทำนบดินชั่วคราวปิดกั้นคลองประเวศบุรีรมย์พังทลาย ส่งผลกระทบต่อพื้นที่บริเวณดังกล่าว โดยเฉพาะใน อ.เมืองฉะเชิงเทรา อ.บ้านโพธิ์ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา และ อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ สทนช.ได้จัดตั้งหน่วยบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อเร่งคลี่คลายสถานการณ์ให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด รวมทั้งได้มีการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการจัดการทรัพยากรน้ำชั่วคราวในภาวะวิกฤติ ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระองค์ไชยานุชิต จ.ฉะเชิงเทรา ตามมติที่ประชุมหน่วยบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อบูรณาการการดำเนินงานในพื้นที่ โดยทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ระดมกำลังเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ ทั้งการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อเร่งสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่ พร้อมทั้งรับน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์และแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำสำหรับเจือจางและไล่น้ำเค็ม รวมถึงมีการใช้จุลินทรีย์จากธรรมชาติ (EM) เพื่อบำบัดคุณภาพน้ำให้มีค่าความเค็มตามแนวทางของกรมประมง ซึ่งได้มีการจัดทำแผนที่แสดงค่าความเค็มที่เหมาะสมในแต่ละคลอง สำหรับให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาและสัตว์น้ำสามารถสูบน้ำไปใช้ได้อย่างปลอดภัย
ขณะนี้คุณภาพน้ำในแต่ละพื้นที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับค่าความเค็มที่ตรวจวัดเมื่อวันที่ 12 เม.ย.67 โดยบริเวณคลองเปร็งมีค่าความเค็มลดลงเหลือเพียง 0.88 กรัมต่อลิตร จาก 19.63 กรัมต่อลิตร ขณะที่คลองประเวศฯ มีค่าความเค็ม 6.51 กรัมต่อลิตร จาก 28.04 กรัมต่อลิตร คลองชวดพร้าว มีค่าความเค็ม 2.55 กรัมต่อลิตร จาก 14.40 กรัมต่อลิตร เหลือเพียงบริเวณคลองพระยานาคราช 1 และ 2 และคลองพระยาสมุทร ที่ยังมีค่าความเค็มสูง ซึ่งจากการดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเต็มประสิทธิภาพ คาดว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติภายในสัปดาห์นี้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 เม.ย. 67)
Tags: ฤดูแล้ง, สทนช., สุรสีห์ กิตติมณฑล