นักเศรษฐศาสตร์ แนะรัฐทบทวนแจกเงินดิจิทัล มองได้ไม่คุ้มเสีย

นักเศรษฐศาสตร์ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนกรณีที่จะดำเนินนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทแก่ผู้ที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ เนื่องจากนโยบายดังกล่าวก่อให้เกิดประโยชน์ได้น้อยกว่าต้นทุนที่เสียไป อีกทั้งเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้มีการแจกเงินเพื่อกระตุ้นการบริโภคในระยะสั้นๆ โดยไม่คำนึงถึงวินัยและเสถียรภาพการคลังในระยะยาว

“นักเศรษฐศาสตร์มีความเห็นสอดคล้องกันที่จะขอให้รัฐบาลทบทวนนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทด้วยความรอบคอบอีกครั้ง เพราะเป็นนโยบายที่ได้ไม่คุ้มเสีย” แถลงการณ์ ระบุ

ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยกำลังค่อยๆ ฟื้นตัวตามศักยภาพ คาดว่าปีนี้จะขยายตัวประมาณ 3.6% และ 3.8% ในปีหน้า สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญที่ค่อยๆ ฟื้นตัวจากวิกฤตโรคระบาดและเงินฟ้อรุนแรงในช่วงปี 2562-2565 จึงไม่มีความจำเป็นที่รัฐจะต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมากเพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ เพราะที่ผ่านมาการบริโภคภายในประเทศยังคงขยายตัวได้ดีเมื่อเทียบกับการส่งออก

นอกจากนี้การกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศยังอาจจะสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อให้สูงขึ้นมาอีก หลังจากเงินเฟ้อได้ลดลงจาก 6.1% มาอยู่ที่ประมาณ 2.9% ในปีนี้ ท่ามกลางราคาพลังงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในระยะหลัง การกระตุ้นการบริโภคจะทำให้เงินเฟ้อคาดการณ์ (inflation expectation) สูงขึ้น และอาจนำไปสู่การขึ้นดอกเบี้ยในที่สุด

การใช้เงินงบประมาณจำนวน 5.6 แสนล้านบาทในนโยบายดังกล่าวทำให้เสียโอกาสที่จะนำไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล หรือการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ซึ่งล้วนแต่สร้างศักยภาพให้เกิดการเจริญเติบโตในระยะยาวแทนการกระตุ้นการบริโภคในระยะสั้นๆ ซึ่งไม่สมเหตุผลต่อการสร้างภาระหนี้สาธารณะให้แก่คนรุ่นหลัง

การกระตุ้นเศรษฐกิจให้ GDP ขยายตัวด้วยการแจกเงินจำนวนดังกล่าวเข้าไปในระบบอาจจะเป็นการคาดหวังที่เกินจริง เพราะมีข้อมูลเชิงประจักษ์ว่าตัวทวีคูณทางการคลัง (fiscal multiplier) มีค่าลดลงมาก โดยเฉพาะการแจกเงินของรัฐ เมื่อเทียบกับตัวทวีคูณทางการคลังของการใช้จ่ายประเภทโอนเงินมีค่าน้อยกว่า 1 ด้วยซ้ำ

“การที่รัฐบอกว่านโยบายนี้จะทำให้เงินหมุนหลายรอบ จะเป็นการเปลี่ยนมือจากคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่งนั้น หมายถึงอัตราหมุนเวียนของเงิน (velocity of money) แต่ผลกระทบของการใช้จ่ายภาครัฐที่มีต่อ GDP ต้องดูจากตัวทวีคูณทางการคลังที่ปัจจุบันมีค่าต่ำมาก” แถลงการณ์ ระบุ

ประเทศไทยอยู่ในวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นมาตั้งแต่ปี 2565 เพราะเงินเฟ้อสูงมาก การก่อหนี้จำนวนมาก ไม่ว่ารัฐบาลจะออกพันธบัตรหรือกู้เงินจากรัฐวิสาหกิจหรือกู้เงินสถาบันการเงินของภาครัฐก็ล้วนแต่จะเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเมื่อมีการ rollover ซึ่งจะมีผลต่อเงินงบประมาณในแต่ละปี โดยที่ยังไม่ได้นับค่าดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท

ในช่วงที่โลกเผชิญกับวิกฤตโลกระบาดและภาวะเศรษฐกิจถดถอย รัฐบาลแทบทุกประเทศก็จำเป็นต้องขาดดุลการคลังและสร้างหนี้จำนวนมากเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และรายจ่ายด้านสาธารณสุข แต่หลังจากวิกฤตโรคระบาดและภาวะเศรษฐกิจถดถอยคลี่คลาย หลายประเทศได้แสดงเจตนารมย์ที่จะลดการขาดดุลภาครัฐและหนี้สาธารณะลง (fiscal consolidation) เพื่อสร้างที่ว่างทางการคลัง (fiscal space) ไว้รองรับวิกฤตเศรษฐกิจในอนาคต นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตจึงดูจะสวนทางกับสิ่งที่ควรจะเป็น ขณะที่ประเทศไทยมีอัตราส่วนรายรับจากภาษีต่อ GDP เพียง 13.7% ซึ่งถือว่าต่ำกว่าประเทศอื่นๆ

นอกจากนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย การเตรียมตัวทางด้านการคลังจึงเป็นสิ่งจำเป็น ขณะที่จำนวนคนในวัยทำงานลดลงและภาวะการใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการและสาธารณสุขเพิ่มขึ้น รัฐจึงควรใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า รักษาวินัยและเสถียรภาพทางด้านการคลังอย่างเคร่งครัด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ต.ค. 66)

Tags: ,