ผลพวงอย่างหนึ่งจากมาตรการคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซียและเวเนซุเอลาคือผู้ส่งออกน้ำมันจากสหรัฐได้ประโยชน์เต็ม ๆ โดยสามารถรุกคืบเข้าสู่ตลาดต่าง ๆ ที่ครั้งหนึ่งเคยอยู่ใต้อิทธิพลของกลุ่มโอเปคพลัส (OPEC+) ได้
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานเมื่อวานนี้ (31 มี.ค.) ว่า นับตั้งแต่ช่วงที่มีการคว่ำบาตรรัสเซียในปี 2565 สหรัฐได้ทำลายสถิติการส่งออกน้ำมันรายเดือนไปแล้วถึง 5 ครั้ง และเมื่อมีการต่ออายุมาตรการคว่ำบาตรเวเนซุเอลาในเดือนเม.ย.นี้ น้ำมันดิบจากสหรัฐจะยิ่งทะลักเข้าสู่อินเดีย ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำเข้าน้ำมันจากประเทศที่ถูกคว่ำบาตรรายใหญ่ที่สุด
การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นการตอกย้ำว่ามาตรการคว่ำบาตรต่าง ๆ ช่วยสหรัฐเพิ่มส่วนแบ่งตลาดน้ำมันดิบได้ ในอดีตที่ผ่านมา น้ำมันสหรัฐได้รับการยอมรับว่าเป็นสินค้าส่งออกหลักที่ยืดหยุ่นปรับตัวได้ตามความต้องการของตลาด ทว่าการที่รัสเซียรุกรานยูเครนได้ก่อความปั่นป่วนต่อตลาดพลังงาน และยิ่งผลักดันให้มีการนำเข้าน้ำมันจากสหรัฐมากยิ่งขึ้น การส่งออกไปยังยุโรปและเอเชียที่พุ่งสูงทำให้สหรัฐกลายเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลก
การที่สหรัฐเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันมากเป็นประวัติการณ์ในขณะที่โอเปคพลัสจำกัดปริมาณน้ำมัน ได้เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตรายใหญ่ในสหรัฐเจาะตลาดต่างประเทศได้มากยิ่งขึ้น ราคาซื้อขายน้ำมันดิบสะท้อนถึงสถานการณ์นี้ โดยในตลาดฮิวสตัน น้ำมัน WTI ซื้อขายกันในระดับราคาสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนต.ค. ส่วนราคามาร์ส (Mars) ซึ่งใช้เป็นราคาอ้างอิงสำหรับน้ำมันดิบชนิดกรด (Sour crude) ก็ตามหลังราคา WTI มาติด ๆ
“การผลิตของสหรัฐพุ่งสูงขึ้น ในขณะที่รัสเซียและโอเปคลดการผลิต นั่นหมายความว่าสหรัฐจะฮุบส่วนแบ่งตลาดได้มากขึ้นตามไปด้วย” นายแกรี รอสส์ ที่ปรึกษาด้านน้ำมันผู้คร่ำหวอดในวงการก่อนจะผันตัวมาเป็นผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่บริษัท แบล็ค โกลด์ อินเวสเตอร์ส จำกัด (Black Gold Investors LLC) ให้ความเห็น
อินเดีย ผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก และเป็นลูกค้าขาประจำอันดับ 2 ของรัสเซีย กลายเป็นตลาดใหม่ที่น้ำมันสหรัฐกำลังทะลักเข้าไป โดยข้อมูลจากบริษัทติดตามการขนส่งน้ำมันดิบเคปเลอร์ (Kpler) เผยว่า อินเดียจะนำเข้าน้ำมันดิบจากสหรัฐในระดับสูงที่สุดในรอบเกือบปีภายในเดือนมี.ค.นี้
ขณะเดียวกัน ข้อมูลการติดตามเรือบรรทุกน้ำมันของบลูมเบิร์กระบุว่า อินเดียลดปริมาณการนำเข้าน้ำมันรัสเซียลงราว 800,000 บาร์เรลต่อวันนับจากสถิติสูงสุดเมื่อปีที่แล้ว การนำเข้าน้ำมันรัสเซียอาจยิ่งลดน้อยถอยลงเมื่อโรงกลั่นในอินเดียยุติการสั่งซื้อจากเรือขนส่งที่บริษัทซอฟคอมฟลอต (Sovcomflot) เป็นเจ้าของ หลังจากที่บริษัทดังกล่าวเพิ่งจะถูกสหรัฐคว่ำบาตรเมื่อไม่นานนี้
นายแมทท์ สมิธ นักวิเคราะห์จากเคปเลอร์ให้ความเห็นว่า ถึงแม้ว่าน้ำมันสหรัฐจะไม่สามารถทดแทนน้ำมันดิบรัสเซียได้ทั้งหมดเนื่องจากความแตกต่างด้านคุณภาพและระยะเวลาขนส่ง แต่ก็ “ถือเป็นการปรับทิศทางไปสู่การนำเข้าน้ำมันดิบจากสหรัฐมากขึ้นอย่างแน่นอน”
นอกจากนี้ โรงกลั่นในอินเดียยังระงับการนำเข้าน้ำมันจากเวเนซุเอลาก่อนหน้าที่สหรัฐจะต่ออายุมาตรการคว่ำบาตรในช่วงกลางเดือนเม.ย.อีกด้วย ส่งผลให้การนำเข้าน้ำมันของอินเดียจากประเทศนี้จ่อแตะระดับต่ำสุดในปีนี้
รายงานของ EIA ระบุว่า สหรัฐก้าวขึ้นเป็นผู้ส่งออกรายสำคัญในตลาดเอเชีย โดยทำลายสถิติการนำเข้าน้ำมันจากสหรัฐของทวีปเอเชียประจำปีที่ผ่านมา ก่อนที่ชุดมาตรการคว่ำบาตรชุดล่าสุดจะมีผลบังคับใช้เสียอีก
สำหรับในตลาดยุโรปที่พยายามหลีกเลี่ยงน้ำมันจากรัสเซียตั้งแต่สงครามในยูเครนปะทุขึ้น ปริมาณการส่งออกน้ำมันจากสหรัฐสู่ตลาดยุโรปจะพุ่งทะลุ 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนมี.ค. ตามข้อมูลการติดตามเรือขนส่งของบลูมเบิร์ก
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ดึงดูดการนำเข้าน้ำมันสหรัฐของยุโรปไม่ได้เกิดจากมาตรการคว่ำบาตรเพียงอย่างเดียว โดยการนำเข้าน้ำมันของเนเธอร์แลนด์เพิ่มขึ้นอย่างมากหลังจากที่ราคาน้ำมันดิบ WTI ได้ถูกนับรวมอยู่ในราคาอ้างอิงน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ส่งผลให้มั่นใจได้ว่าน้ำมันดิบจากสหรัฐจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของแหล่งพลังงานที่ยุโรปต้องบริโภค
หลังจากมาตรการคว่ำบาตรถูกรับรอง การส่งออกน้ำมันดิบจากสหรัฐเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนตามความต้องการน้ำมันจากแหล่งอื่นเพื่อทดแทนรัสเซีย โดยการนำเข้าน้ำมันสหรัฐของฝรั่งเศสพุ่งขึ้นเกือบ 40% จากปี 2564 ถึง 2566 และสูงถึง 134% สำหรับสเปน
“ในขณะที่สหรัฐค่อย ๆ เร่งกำลังผลิต ทุก ๆ บาร์เรลที่เพิ่มขึ้นมีแนวโน้มจะถูกส่งออกไปยังต่างประเทศ” นายสมิธจากเคปเลอร์กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 เม.ย. 67)
Tags: OPEC+, กลุ่มโอเปคพลัส, คว่ำบาตร, ตลาดน้ำมันโลก, รัสเซีย, สหรัฐ, เวเนซุเอลา