ผลการเลือกตั้งรอบสองของรัฐสภาฝรั่งเศสในเบื้องต้นเมื่อคืนวันอาทิตย์ (7 ก.ค.) สร้างความประหลาดใจครั้งใหญ่ ทำให้นักวิเคราะห์การเมืองหลายคนต้องพิจารณาสถานการณ์ “รัฐสภาแขวน (Hung Parliament)” ซึ่งอาจส่งผลกระทบทั้งต่อการกำหนดนโยบายและตลาดการเงิน
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการยังคงทยอยออกมา คาดว่าน่าจะทราบผลของทุกเขตเลือกตั้งภายในช่วงเช้าตรู่ของวันจันทร์ตามเวลาท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจความคิดเห็นก่อนหน้านี้ ซึ่งมักมีความแม่นยำในระดับหนึ่ง คาดการณ์ว่ากลุ่มพันธมิตรฝ่ายซ้ายแนวร่วมประชาชนใหม่ (NFP) จะได้ที่นั่งในสภา 184-198 ที่นั่ง กลุ่มพันธมิตรสายกลางของประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง จะได้ 160-169 ที่นั่ง ส่วนพรรคเนชันแนล แรลลี (RN) และพันธมิตรจะได้ 135-143 ที่นั่ง
อย่างไรก็ดี ไม่มีพรรคใดที่คาดว่าจะได้ที่นั่งเกิน 289 ที่นั่ง ซึ่งหมายความว่าจะไม่มีพรรคใดครองเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาด และอาจนำไปสู่ทางตันทางการเมืองในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า หลังจากผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการเผยแพร่ออกมา สกุลเงินยูโรอ่อนค่าลงประมาณ 0.3% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในการซื้อขายช่วงค่ำวันอาทิตย์
ก่อนการเลือกตั้งรอบสอง นักวิเคราะห์จาก Citi เตือนว่า ตลาดหุ้นอาจมองสถานการณ์การเลือกตั้งของฝรั่งเศสในแง่ดีเกินไป และผลลัพธ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้มากกว่า เช่น ภาวะชะงักงันทางการเมือง อาจส่งผลให้มูลค่าตลาดหุ้นลดลงประมาณ 5-20%
“เมื่อพิจารณาร่วมกับข้อมูลที่เราพบว่า หุ้นฝรั่งเศสมักมีความผันผวนมากกว่าประเทศอื่น ๆ ในช่วงที่มีการเลือกตั้ง จึงเป็นเหตุผลที่เราอาจเห็นความผันผวนเพิ่มขึ้นอีก … โดยหากตลาดหุ้นฝรั่งเศสเคลื่อนไหว 10% ก็มักจะส่งผลให้ดัชนี Stoxx 600 เคลื่อนไหวประมาณ 8%” นักวิเคราะห์ระบุในบันทึกเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.
ด้านนักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ Daiwa Capital Markets ก็พูดถึงความไม่แน่นอนหากไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมากในสภา โดยระบุในรายงานวิจัยเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า การจัดตั้งรัฐบาลผสมระหว่างพรรคซ้ายกลางกับพรรคกลาง รัฐบาลแห่งชาติ หรือรัฐบาลเสียงข้างน้อย ล้วนแล้วแต่เป็นผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ทั้งสิ้น
“ไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นเช่นไร ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายของฝรั่งเศสมีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อต่อไปอีกนาน” นักวิเคราะห์กล่าว
ฝรั่งเศสกำลังเผชิญปัญหาด้านการคลัง โดยคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) เพิ่งประกาศเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนว่าจะใช้กระบวนการพิจารณาลงโทษกรณีประเทศสมาชิกมีการขาดดุลงบประมาณมากกว่าที่กำหนดไว้ (EDP) กับฝรั่งเศส เนื่องจากฝรั่งเศสไม่สามารถควบคุมการขาดดุลงบประมาณให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 3% ของ GDP ได้
“สภาที่แตกแยกย่อมหมายถึงความยากลำบากของรัฐบาลในการผลักดันการปรับลดงบประมาณ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการปฏิบัติตามกฎของ EU และการรักษาหนี้สาธารณะของฝรั่งเศสให้อยู่ในระดับที่ยั่งยืน” นายแจ็ค อัลเลน-เรย์โนลด์ส รองหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ยูโรโซนของ Capital Economics กล่าวในบันทึกหลังผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการเผยแพร่ออกมา
“โอกาสที่รัฐบาลฝรั่งเศส (และรัฐบาลของประเทศอื่น ๆ) จะเกิดความขัดแย้งกับ EU เกี่ยวกับนโยบายการคลังมีมากขึ้น นับตั้งแต่ EU ประกาศใช้กฎควบคุมงบประมาณอีกครั้ง ซึ่งอาจส่งผลให้หลายประเทศ รวมถึงฝรั่งเศสและอิตาลี ถูกดำเนินการตาม EDP” นายอัลเลน-เรย์โนลด์สกล่าวเสริม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ก.ค. 67)