นักวิทย์เยอรมนีเฉลยสาเหตุวัคซีนโควิดก่อลิ่มเลือดอุดตัน-แนะปรับสารพันธุกรรมเพื่อแก้ปัญหา

หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทม์สรายงานว่า นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมนีได้อ้างผลการวิจัยครั้งใหม่ซึ่งสามารถให้คำตอบว่า เพราะเหตุใดวัคซีนบางตัวที่ใช้ในการป้องกันโรคโควิด-19 จึงก่อให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน พร้อมกับอธิบายแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า วัคซีนของบริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (J&J) และวัคซีนที่บริษัทแอสตร้าเซนเนก้าพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดนั้น ได้ก่อให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน โดยเฉพาะในสตรีที่มีอายุต่ำกว่า 50 ปี ซึ่งแม้เป็นสถานการณ์ที่พบไม่บ่อยนักแต่ก็ถือเป็นสิ่งที่น่ากังวล โดยสถานการณ์ดังกล่าวทำให้หน่วยงานด้านสาธารณสุขของสหรัฐต้องระงับการใช้วัคซีนของ J&J เป็นเวลา 11 วัน ส่วนในยุโรปนั้น หลายประเทศได้ระงับการใช้วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าโดยสิ้นเชิง ขณะที่อังกฤษแนะนำให้สตรีอายุน้อยฉีดวัคซีนตัวอื่น

นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Goethe-University of Frankfurt และมหาวิทยาลัย Ulm University ของเยอรมนีได้เผยแพร่เอกสารฉบับใหม่เมื่อวานนี้ (26 พ.ค.) ระบุว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดจากวัคซีนประเภท Adenovirus Vector ซึ่งเป็นวัคซีนที่ใช้กระบวนการนำยีนของไวรัสก่อโรคโควิด-19 ใส่เข้าไปในอะดีโนไวรัส อันเป็นกระบวนการที่จะดึงวัคซีนเข้าสู่ร่างกายเพื่อสร้างภูมิต้านทานในผู้ป่วย ขณะเดียวกันงานวิจัยยังระบุว่า วัคซีนประเภทนี้ยังสามารถถูกปรับเปลี่ยนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลข้างเคียงที่พบได้ไม่บ่อยนัก

นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมนีกล่าวว่า พวกเขาค้นพบว่าสาเหตุที่วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า และวัคซีนของ J&J ก่อให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันนั้น เป็นเพราะวัคซีนของบริษัทเหล่านี้เป็นวัคซีนประเภท Adenovirus Vector

ดร.รอล์ฟ มาร์ชาเล็ค ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัย Goethe University เปิดเผยกับไฟแนนเชียล ไทม์สว่า สาเหตุที่วัคซีนก่อให้เกิดปัญหาภาวะลิ่มเลือดอุดตันก็เพราะ วัคซีนเหล่านี้เป็นวัคซีนประเภท Adenovirus Vector โดยทั้งวัคซีนของ J&J และแอสตร้าเซนเนก้าต่างก็ประกอบไปด้วยสารทางพันธุกรรมจากไวรัสชนิดใหม่ที่มียีนของ Adenovirus ซึ่งเป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหวัดธรรมดาที่ถูกนำมาใช้เพื่อให้ร่างกายกระตุ้นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน

“เมื่อ Adenovirus ซึ่งเป็นไวรัสโรคหวัดถูกเปลี่ยนแปลง มันก็ไม่สามารถทำให้คุณป่วย และมันถูกใช้เป็นสารพันธุกรรมในวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดยทำหน้าที่เป็นพาหะนำสไปค์โปรตีน (spike protein) ซึ่งเป็นโปรตีนที่ไวรัสโควิด-19 ใช้เป็นช่องทางเข้าสู่ร่างกายและเกาะติดกับเซลล์ร่างกายของเรา เมื่อวัคซีนถูกฉีดเข้าสู่ร่างกายและร่างกายตรวจจับโปรตีนชนิดนี้ได้ ก็จะสร้างแอนติบอดี เพื่อต่อต้านไวรัสชนิดนี้ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมเมื่อคุณป่วยด้วยไวรัส ร่างกายของคุณก็จะสามารถตรวจจับและรู้วิธีที่จะต่อสู้กับไวรัสนั้น” ดร.มาร์ชาเล็คกล่าว

ดร.มาร์ชาเล็คกล่าวว่า วัคซีนได้ถูกส่งเข้าไปในนิวเคลียสของเซลร่างกายเราซึ่งมีสารพันธุกรรมอยู่ในนั้น แทนที่จะถูกส่งเข้าไปใน cytosol fluid ซึ่งเป็นของเหลวที่อยู่ภายในเซลซึ่งเป็นที่ที่ไวรัสผลิตโปรตีน โดยหลังจากวัคซีนถูกส่งเข้าไปในนิวเคลียสแล้ว สไปค์โปรตีนส่วนหนึ่งจะแตกออก และส่งผลให้โปรตีนเหล่านั้นเกิดการกลายพันธุ์ จากนั้นโปรตีนดังกล่าวก็จะเข้าสู่ร่างกายและก่อให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อให้เกิดอาการที่เรียกว่า Cerebral Venous Sinus Thrombosis (CVST) หรือภาวะหลอดเลือดดำในสมองอุดตัน ซึ่งพบในประชากรทั่วไปราว 5 คนจากจำนวน 1 ล้านคน

รายงานระบุว่า ณ วันพุธที่ 26 พ.ค. วัคซีนของ J&J มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในสหรัฐจำนวน 28 ราย จากจำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีนของ J&J กว่า 10.4 ล้านราย ขณะที่วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีการเกิดภาวะลิ่มเลือดจำนวน 242 รายและเสียชีวิต 49 รายในอังกฤษจากจำนวนผู้ได้รับวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าจำนวน 9 ล้านราย และเกี่ยวข้องกับกรณีการเกิดภาวะลิ่มเลือดในยุโรปกว่า 100 รายจากจำนวนผู้ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าราว 16 ล้านราย

เมื่อเปรียบเทียบกับวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์-บิออนเทค และวัคซีนของโมเดอร์นาที่ใช้เทคโนโลยี RNA (mRNA) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่กว่านั้น วัคซีน mRNA นั้นส่วนหนึ่งใช้รหัสพันธุกรรม Phogen และกระตุ้นเซลร่างกายของเราให้เข้าไปมีส่วนในการสร้างสไปค์โปรตีน เพื่อที่ร่างกายของเราจะสามารถตรวจจับไวรัสและต่อสู้กับไวรัสหากร่างกายติดเชื้อ

ทั้งนี้ ดร.มาร์ชาเล็คเปิดเผยกับไฟแนนเชียล ไทมส์ว่า เมื่อเราได้รับวัคซีน mRNA แล้ว สารพันธุกรรมของสไปค์โปรตีนจะถูกส่งตรงเข้าสู่ cell fluid แต่ไม่เข้าไปในนิวเคลียส จึงไม่ก่อให้เกิดปัญหาเหมือนกับวัคซีน Adenovirus Vector ซึ่งทำให้สารพันธุกรรมถูกส่งเข้าไปในนิวเคลียส และก่อให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน

อย่างไรก็ดี ดร.มาร์ชาเล็คกล่าวว่า เรื่องนี้มีทางแก้ไขด้วยการนำวัคซีนไปปรับแต่งสารพันธุกรรม เพื่อที่สไปค์โปรตีนจะไม่สามารถแตกตัวเมื่อเข้าสู่เซลร่างกายของเรา

ดร.มาร์ชาเล็คยังกล่าวด้วยว่า บริษัท J&J ได้ติดต่อมาที่ห้องทดลองของเขา และขณะนี้เขากำลังทำงานร่วมกับ J&J เพื่อทำการปรับปรุงวัคซีน อย่างไรก็ดี ดร.มาร์ชาเล็คระบุว่า เขายังไม่ได้รับการติดต่อจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 พ.ค. 64)

Tags: , , , , , , , , , , , , ,