นักวิชาการ แนะไทยเพิ่มลงทุน R&D-ปรับบทบาท BOI รองรับบิ๊กดีล 2 แสนล้าน

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ และ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ข้อตกลงการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยดีลสองแสนล้านบาทของ Google และ Microsoft จะเสริมความเข้มแข็งของเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย และ สร้างฐานเศรษฐกิจฐานข้อมูลขนาดใหญ่ โดย Microsoft จะเน้นการลงทุนเกี่ยวกับ “ดาต้าเซ็นเตอร์” และ “พลังงานสะอาด” คาดว่าจะมีการลงทุนเฟสแรก 100,000 ล้านบาท และ ควรส่งเสริมให้มีการเพิ่มการลงทุนในเฟสต่อๆไปเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างและพัฒนากลไกและกระบวนการให้เกิดการถ่ายทอดทางเทคโนโลยี รวมทั้งทำให้ กลุ่มทุนธุรกิจไทยสามารถพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองได้

อย่างไรก็ตาม การที่จะเกิดสิ่งนี้ได้ ประเทศต้องมีระบบการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้มแข็ง มีการลงทุนทางด้านการวิจัยและนวัตกรรมไม่น้อยกว่า 5% ของจีดีพี จุดพลิกโฉมเศรษฐกิจไทยอยู่ที่การถ่ายทอดเทคโนโลยีและการพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองให้ได้ ขณะที่ Google สนใจเข้ามาลงทุนในกิจการระบบ Cloud และ AI

การทำงานผ่านเครือข่ายออนไลน์ การสื่อสารผ่านช่องทางดิจิทัลที่ง่ายดาย ทำให้บริษัทไฮเทคและบรรษัทข้ามชาติทั้งหลายสามารถทำงานเชื่อมโยงข้ามประเทศได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น ต้นทุนต่ำลง โดยสามารถใช้ทรัพยากรในแต่ละประเทศมาส่งเสริมการทำงานแบบเครือข่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ มาตรการดึงดูดแรงงานทักษะสูงและผู้เชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีมีความสำคัญต่อการพัฒนาต่อยอดของการลงทุนของบริษัทไฮเทคในประเทศไทย การดึงดูดผู้มีความสามารถสูงเข้ามาตั้งถิ่นฐานในไทยเป็นหลักประกันความสำเร็จของ “ดาต้าเซ็นเตอร์” “ระบบ Cloud” “การพัฒนา AI ในภาคส่วนต่างๆ” ” การทำ Digital Transformatio” นอกจากนี้ ไทยควรพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศขนาดใหญ่ผ่านเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีและผู้ประกอบการจึงสามารถยกระดับธุรกิจอุตสาหกรรมของไทย ที่ไม่ใช่ของต่างชาติ เทียบชั้น ธุรกิจอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวันและ สิงคโปร์ได้

ทั้งนี้ การลงทุนในอุตสาหกรรมนวัตกรรมสูงนั้น ต้องอาศัยทรัพยากรมนุษย์คุณภาพสูง ทักษะและความสามารถสูง ที่สังคมไทยยังคงขาดแคลนอยู่ การประกาศเป็นศูนย์กลางลงทุนของภูมิภาค (Regional Hub) 5 ด้าน ได้แก่ Tech Hub, BCG Hub, Talent Hub, Logistic&Business Hub, Creative Hub นั้น จำเป็นต้องเปลี่ยนบทบาท สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จากผู้ให้สิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมการลงทุน มาเป็น ผู้บูรณาการ อำนวยความสะดวกและเชื่อมโยงการลงทุนมากขึ้น เพื่อให้เกิดการกระจายผลประโยชน์จากการลงทุนของต่างชาติ “บีโอไอ” ควรทำงานร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวกับการส่งเสริม SMEs ทั้งหลาย ทำให้ SMEs ไทยเชื่อมโยงกับเครือข่ายการผลิตและการบริการข้ามชาติมากยิ่งขึ้น

*แนะทำประชาพิจารณ์ผลกระทบชุมชน สิ่งแวดล้อม โครงการแลนด์บริดจ์

ส่วนโครงการแลนด์บริดจ์นั้นจะเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่ความรุ่งเรืองใหม่ได้ อย่างไรก็ตาม ต้องทำประชาพิจารณ์ผลกระทบชุมชน สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจฐานเดิม การทำประเมินผลกระทบของนโยบายของการลงทุนขนาดใหญ่ (Policy Impact Assessment of Megaprojects) ก่อนเดินหน้าการดำเนินการตามนโยบาย จำเป็นจะต้องมีกลไกคณะกรรมการร่วมที่มีภาควิชาการ ภาคศึกษาวิจัยนโยบายอย่างรอบด้าน ร่วมกับภาคประชาสังคมเข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย ใช้ Open Data ในการส่งเสริมการออกแบบกระบวนการนโยบายที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Inclusive Policy Design)

การดำเนินการโครงการแลนด์บริดจ์จะต้องเน้นให้ความสำคัญต่อกระบวนการและเป้าหมายไปพร้อมกัน หากเราสนใจแต่เป้าหมาย สุดท้ายจะเป็นการรับรองกระบวนการแบบอำนาจนิยมหรือบนลงล่าง หากเราต้องการการพัฒนาและการเติบโตแบบยั่งยืน เราต้องใช้กระบวนการประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วม กระบวนการประชาธิปไตยแบบยั่งยืนนี้จะเน้นเอาความเป็นธรรมและกำกับการพัฒนาแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไม่ซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่รุนแรงอยู่แล้วในไทย

นอกจากนี้ รัฐบาล นักลงทุน หรือ ผู้สนับสนุนโครงการแลนด์บริดจ์ พึงตระหนักถึงแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผลกระทบต่อพื้นที่และวิถีชีวิตและเศรษฐกิจดั้งเดิม ซึ่งภาวะดังกล่าวมีลักษณะเป็นความยั่งยืนแบบ Productive ต่อสังคมโดยรวม แต่บางครั้ง การพัฒนาอย่างยั่งยืน อาจถูกใช้เป็นเพียง วาทกรรม (Discourse) เพื่อต่อต้านการลงทุนขนาดใหญ่ซึ่งสภาพดังกล่าวเป็นการถ่วงการพัฒนา และ มีลักษณะเป็น Counter-Productive การยืนยันในหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ไม่ใช่เพียงวาทกรรม ความต่อเนื่องและเจตจำนงทางการเมืองของรัฐบาลเป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้ “โครงการลงทุนขนาดใหญ่” ที่มีผลกระทบอันซับซ้อนเกิดขึ้นได้ และ เกิดประโยชน์ต่อประเทศโดยรวมในระยะยาว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 พ.ย. 66)

Tags: , ,