นักวิชาการ แนะพรรคเสียงข้างมากตั้งรัฐบาลใน 1 เดือน เพื่อบริหารปท.ต่อเนื่อง

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย และ ประธานกรรมการสถาบันปรีดี พนมยงค์ เปิดเผยว่า พรรคเสียงข้างมากต้องพยายามจัดตั้งรัฐบาลให้เรียบร้อยภายใน 1 เดือนหลังวันเลือกตั้ง และ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องเร่งรับรองผลการเลือกตั้งเพื่อประโยชน์ของประเทศ หากปล่อยให้มีการล่าช้าอาจเกิดเหตุการณ์แทรกซ้อนอันนำมาสู่การไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้โดยส่วนใหญ่ของประชาชน ซึ่งอาจนำมาสู่โอกาสของการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยโดยอาศัยเสียง ส.ว. อาศัยการตัดสิทธิ หรือ อาศัยการยุบพรรคการเมืองเพื่อดึง ส.ส. จากพรรคการเมืองที่ถูกยุบเพื่อชิงจัดตั้งรัฐบาล การจัดตั้งรัฐบาลได้เร็วเพื่อความต่อเนื่องในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและบริหารประเทศ

ความสามารถในการจัดตั้งรัฐบาลได้รวดเร็วหลังการเลือกตั้ง จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการลงทุน นอกจากนี้ การมีรัฐบาลที่มีเสียงสนับสนุนข้างมากอย่างเด็ดขาดในรัฐสภา มีความสำคัญต่อการดำเนินการนโยบายสำคัญโดยเฉพาะการปรับโครงสร้างและปฏิรูปเศรษฐกิจสำคัญ การไม่ปฏิรูปเศรษฐกิจในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาทำให้ไทยไม่สามารถก้าวข้ามพ้นประเทศรายได้ระดับปานกลางและติดอยู่กึ่งกลางระหว่างเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วที่มีความเปรียบในด้านเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญา กับ ประเทศกำลังพัฒนาที่ใช้ฐานทรัพยากรธรรมชาติและแรงงานเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจและดึงดูดการลงทุน การปฏิรูประบบสถาบันทางเศรษฐกิจและสถาบันการเงิน รวมทั้งการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่หลังวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 2540 กำลังมาถึงขีดจำกัดและจำเป็นต้องปฏิรูปและปรับโครงสร้างใหม่กันอีกรอบเพื่อเป็นฐานสำหรับการเติบโตใหม่ในทศวรรษหน้า

ขณะที่การถดถอยลงของภาคส่งออกจากการชะลอของเศรษฐกิจโลก เป็นสิ่งที่รัฐบาลใหม่ต้องหันมาเอาใจใส่อย่างจริงจังในเรื่องการยกระดับขีดความสามารถของสินค้าไทยและการยกระดับประสิทธิภาพการผลิตให้สูงขึ้น ปัจจัยประสิทธิภาพการผลิตนี้เป็นสิ่งที่ส่งผลต่อพื้นฐานความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว ซึ่งแตกต่างจากปัจจัยค่าแรง นโยบายสาธารณะ และ อำนาจตลาดที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วและใช้เวลาสั้นกว่ามาก ภาวะการตกต่ำของภาคส่งออกไทยโดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมบางตัวจะเกิดขึ้นอย่างยาวนานหากไม่สามารถปรับปรุงผลิตภาพการผลิตได้

*รัฐบาลใหม่ต้องเอาใจใส่ควบคู่กับนโยบายประชานิยมและนโยบายสวัสดิการสังคม

รัฐบาลใหม่ต้องเอาใจใส่ควบคู่กับนโยบายประชานิยมและนโยบายสวัสดิการสังคมที่เป็นจุดเน้นในการหาเสียงในการเลือกตั้งครั้งนี้ นโยบายประชานิยมสวัสดิการจะมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นทุกปีตามโครงสร้างสังคมสูงวัยและตามสภาพที่เรียกว่าเป็น “กับดักประชานิยม” หากไม่ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อฐานรายได้ใหม่แล้ว คาดได้ว่า ไทยจะเผชิญปัญหาวิกฤติฐานะทางการคลังในอนาคตอย่างแน่นอน นโยบายและมาตรการบางอย่างที่อาจสร้างความอ่อนไหวทางการเมืองและความเสี่ยงฐานะทางการคลังต้องมีการพิจารณาทบทวนให้เหมาะสมตามฐานะทางการเงินการคลังของประเทศ

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า นโยบายสาธารณะที่ดีควรจะต้องออกแบบให้ระบบสถาบันการเงินมีแรงจูงใจหรือสามารถที่จะสร้างเครื่องมือทางการเงินที่ช่วยให้ครัวเรือนที่มีความสามารถสูงใช้บริการได้อย่างสะดวก การพัฒนาเศรษฐกิจของไทยนั้นขาดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมภายใน เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆที่ใช้ในธุรกิจอุตสาหกรรมโดยเฉพาะกิจการส่งออกล้วนเป็นเทคโนโลยีต่างชาติที่เราซื้อมาทั้งสิ้น การสร้างขึ้นมาเอง หรือพัฒนาต่อยอด สร้างนวัตกรรมสร้างฐานเติบโตใหม่ หากรัฐบาลใหม่ต้องการพัฒนาประเทศให้หลุดพ้นกับดักรายได้ระดับปานกลางโดยอาศัยการเติบโตภาคอุตสาหกรรมเป็นกลไกหลัก รัฐบาลใหม่ต้องมีนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมที่เหมาะสม อุตสาหกรรมที่ไทยมีความสามารถในแข่งขันสูงและมีผลิตภาพสูง รัฐควรมีนโยบายเชิงรับ เช่น สนับสนุนการวิจัย พัฒนานวัตกรรม ผ่อนคลายกฎระเบียบเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำธุรกิจ ลดการทุจริตรั่วไหล ส่วนอุตสาหกรรมที่ไทยมีผลิตภาพต่ำแข่งขันได้ไม่ดีนัก ควรใช้นโยบายเชิงรุก เช่น การให้สินเชื่อสนับสนุน การใช้มาตรการปกป้องอุตสาหกรรมภายในและใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีหากจำเป็น การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมและการส่งเสริมธุรกิจขนาดย่อม ขนาดเล็ก ขนาดกลาง ต้องเน้นการสนับสนุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานทางด้านวิจัยและนวัตกรรม รวมทั้ง การปรับระบบภาษีเพื่อให้เกิดแรงจูงใจและความสามารถในการแข่งขันที่ดีขึ้นผ่านผลิตภาพที่สูงขึ้น

*เร่งแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย

พร้อมทั้งแสดงความไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคการเมืองหลังการเลือกตั้งเพื่อสกัดการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย หากเห็นชัดว่า เป็นการกลั่นแกล้งกันทางการเมืองจะนำมาสู่ความขัดแย้งที่นำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่ได้ โดยหวังว่า “ผู้มีอำนาจรัฐ” จะไม่คิดสั้นๆเอาชนะคู่แข่งด้วยการยุบพรรคการเมืองซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญ อย่าง พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย หลังการเลือกตั้งเพื่อสกัดการจัดตั้งรัฐบาลของขั้วเสรีประชาธิปไตย หากมีการสกัดกั้นการกลับคืนสู่ประชาธิปไตยอย่างสันติผ่านการเลือกตั้ง จะนำมาสู่ วิกฤตการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจรอบใหม่ ฉะนั้น หลังการเลือกตั้ง เราจำเป็นต้องปฏิรูปเปลี่ยนแปลงองค์กรภายใต้รัฐธรรมนูญ และ ตัวรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย

นอกจากนี้ ปฏิบัติการข่าวสารหรือไอโอเพื่อทำลายความชอบธรรมการเลือกตั้งและประชาธิปไตยอาจเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบเพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาลของพรรคการเมืองขั้วเสรีประชาธิปไตยมีอุปสรรคและเกิดความยุ่งยากหรือ แม้จัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว ก็มีความเป็นไปได้ที่อาจใช้การยุบพรรคการเมือง ใช้องค์กร (ไม่) อิสระ ภายใต้รัฐธรรมนูญเล่นงานด้วยคดีความต่างๆได้ตลอดเวลา ฉะนั้น สิ่งที่รัฐบาลขั้วเสรีประชาธิปไตยจะต้องดำเนินการทันที คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ สรรหาคณะกรรมการองค์กรอิสระภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ด้วย กระบวนที่เป็นประชาธิปไตย โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อให้ได้คณะกรรมการที่มีความเป็นกลาง เที่ยงธรรม มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์

*รื้อยุทธศาสตร์ 20 ปี ปฏิรูปประเทศ

นอกจากนี้ควรทบทวนยุทธศาสตร์ 20 ปีใหม่ เนื่องจากที่มีการร่างไว้เดิมไม่ได้เป็นกระบวนการเปิดกว้าง การมีส่วนร่วมจำกัด และบัดนี้พลวัตทั้งภายในภายนอกก็มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก หลายปัจจัยนอกเหนือการคาดการณ์ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากโควิด-19 ไม่ว่าผลกระทบจากสงครามในยุโรป ปัญหามลพิษทางอากาศและภาวะโลกร้อนที่รุนแรงกว่าที่คาดการณ์ พลวัตการแข่งขันระหว่างจีนกับชาติตะวันตกในภูมิภาคเอเชียไม่เหมือนเดิม ความมุ่งมั่นในการปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริงผ่านกระบวนการประชาธิปไตย และ ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางจะทำให้ ประเทศไทยรับมือพลวัตแห่งความท้าทายทั้งภายในและภายนอกได้ ลดความเสี่ยงต่อคุณภาพชีวิตประชาชน เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจและการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนส่วนใหญ่

*ค้านตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย

ส่วนความพยายามในการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย นั้นไม่ควรทำเพราะจะนำไปสู่ความวุ่นวายทางการเมืองและไม่สะท้อนความต้องการของประชาชน รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพและอ่อนแอ สร้างปัญหาต่อระบบพรรคการเมือง เพราะจะมีการซื้อ ส.ส. ต่างขั้วทุกๆครั้งที่มีการโหวต เป็นการทำลายความเชื่อมั่นต่อระบบรัฐสภา พรรคการเมืองต้องพิจารณาเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลก็ต่อเมื่อมีเสียงสนับสนุนเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนเท่านั้น

*ย้ำพรรคการเมืองรักษาสัญญาประชาคม 8 ข้อ

นอกจากนี้ ขอให้พรรคการเมืองรักษาสัญญาประชาคม 8 ข้อที่ให้ไว้กับประชาชน ผ่าน องค์กรประชาธิปไตย และ ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย พรรคการเมืองกว่า 30 พรรคได้จัดทำ “สัญญาที่พรรคการเมืองขอให้ไว้แก่ประชาชน” กับองค์กรประชาธิปไตยขึ้น โดยถือประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ และพรรคการเมืองได้ให้คำมั่นว่าพรรคการเมืองที่ลงนามจะปฏิบัติตามสัญญาฯ ดังนี้

1) จะเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลก็ต่อเมื่อมีเสียงสนับสนุนรวมกันเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับกลุ่มของพรรคการเมืองที่มีเสียงรวมกันไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

2) เมื่อร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล จะนำนโยบายที่แต่ละพรรคใช้ในการหาเสียงมาบูรณาการกันอย่างจริงจัง และให้ความสำคัญแก่นโยบายร่วมกันนี้

3) จะร่วมมือกับทุกพรรคการเมืองในการดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติ เพื่อถามประชาชนว่าเห็นด้วยกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ร่างโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนหรือไม่

4) จะสนับสนุนให้กระบวนการพูดคุยสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นวาระแห่งชาติภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ เพื่อให้บรรลุข้อตกลงของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ด้วยความเคารพซึ่งกันและกัน

5) จะดำเนินนโยบายการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรชุมชนมีอำนาจการตัดสินใจในเรื่องของท้องถิ่นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และจะพิจารณาโอนงาน งบประมาณ และบุคลากรจากราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคไปสู่ราชการส่วนท้องถิ่นมากขึ้นอย่างเพียงพอ

6) จะส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และส่งเสริมการรวมกลุ่มของประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำในทุกด้านโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ โดยมีนโยบายการดูแลผู้ด้อยโอกาสและผู้สูงอายุ รวมทั้งการสร้างแรงจูงใจในการออม และสนับสนุนให้แรงงานนอกระบบทุกกลุ่ม รวมถึงลูกจ้างส่วนราชการและลูกจ้างทำงานบ้าน เข้าสู่ระบบการประกันสังคมอย่างครอบคลุมและทั่วถึง

7) จะกำกับดูแลไม่ให้สมาชิกที่เป็นข้าราชการการเมืองใช้ตำแหน่งหน้าที่ในทางมิชอบเพื่อให้คุณหรือให้โทษแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และให้เคารพความเป็นกลางของข้าราชการประจำ

8) จะสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ให้ผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศได้เป็นผู้นำทางการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และผู้บริหารพรรคการเมืองในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น

พรรคการเมืองต่างๆที่มาร่วมลงนาม เชื่อว่าการปฏิบัติตามสัญญาที่ให้ไว้ในที่นี้จะมีส่วนช่วยสร้างความเข้มแข็งแก่สถาบันพรรคการเมือง และมีส่วนช่วยสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งแก่ระบอบประชาธิปไตย ทางภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยและองค์กรประชาธิปไตยต่างๆจะร่วมกันติดตามว่า พรรคการเมืองได้ปฏิบัติตามสัญญาประชาคมหลังการเลือกตั้งหรือไม่ อย่างไร

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 พ.ค. 66)

Tags: ,