นักวิชาการมองปมภูมิรัฐศาสตร์-เลือกตั้งในตปท.เป็นปัจจัยเสี่ยงทางศก.ปีนี้

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การเงินและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ ประเมินความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ทวีรุนแรงส่งผลกระทบให้ต้นทุนขนส่งและพลังงานเพิ่มขึ้น หลังเกิดความขัดแย้งและสงครามหลายพื้นที่ของโลกและมีโอกาสยืดเยื้อและขยายวงได้ เสี่ยงต่อการกดทับปริมาณการค้าระหว่างประเทศและกระทบต่ออุปสงค์มวลรวมของโลก รวมทั้งอาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานของโลกในสินค้าหลายชนิดที่มีลักษณะเป็นยุทธปัจจัย

กรณีกลุ่มฮูตีในเยเมนเปิดฉากโจมตีเรือบรรทุกสินค้าของหลายชาติที่แล่นผ่านคลองสุเอซต่อมายังทะเลแดง ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าที่มีความคับคั่งที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ส่งผลกระทบต่อการขนส่งน้ำมัน ธัญพืช สินค้าต่างๆ ระกว่างยุโรปกับเอเชีย โดยการค้าโลกต้องพึ่งพาเส้นทางขนส่งเชิงพาณิชย์ผ่านทะเลแดงประมาณ 10% ทะเลแดงเป็นพื้นที่ที่มีคลองสุเอซที่ปลายสุดด้านเหนือของน่านน้ำและมีช่องแคบบับ เอล-มันเดบ ที่ปลายสุดทางตอนใต้เชื่อมไปยังอ่าวเอเดน พื้นที่ดังกล่าวมีการขนส่งน้ำมันและพลังงานหนาแน่นที่สุดในโลก สินค้าประเภทพลังงาน ธัญพืชและสินค้าภาคการผลิตต่างๆ ในยุโรปล้วนขนส่งผ่านกองเรือพาณิชย์ในน่านน้ำนี้ประมาณ 80% แม้สหรัฐฯ และพันธมิตรจะส่งกองเรือรบเข้าควบคุมสถานการณ์โจมตีเรือพาณิชย์ที่อาจเกิดขึ้นได้อีก หากสถานการณ์พัฒนาไปสู่การแสดงบทบาทของกองเรือรบอิหร่านในฐานะผู้สนับสนุนกลุ่มฮูตีย่อมทำให้ต้นทุนค่าประกันเสี่ยงภัยของสินค้าต่างๆ พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจทำให้ค่าระวางเรือแพงขึ้นมาอยู่ที่ 1,500 ดอลลาร์/ตู้คอนเทนเนอร์ได้

นอกจากนี้อาจทำให้กองเรือพาณิชย์บางส่วนที่ไม่ต้องการเสี่ยงภัยจากสงครามเดินเรืออ้อมแหลมกู๊ดโฮป ซึ่งต้องเพิ่มระยะเวลาเดินเรือไปอีก 7-14 วัน ส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบซื้อขายในตลาดล่วงหน้าเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 4 ดอลลาร์/บาร์เรลในระยะนี้ ขณะนี้บริษัทขนส่งขนาดใหญ่ ทั้งฮาแพค-ลอยด์ เอ็มเอสซี และเมอส์ก บริษัทน้ำมันบีพี และบริษัทขนส่งน้ำมันฟรอนท์ไลน์ประกาศเลี่ยงเส้นทางทะเลแดงหันไปใช้เส้นทางอ้อมแหลมกู๊ดโฮปทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกาแทน แต่เรือหลายลำยังใช้เส้นทางเดิมโดยมีการ์ดติดอาวุธบนเรือ หากสถานการณ์ยืดเยื้อจะกระทบต่อการส่งออกของเอเชียไปยุโรปได้ กรณีของไทยนั้นมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกไปยุโรปเมื่อเทียบกับมูลค่าส่งออกทั้งหมดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาประมาณ 7-8% ประมาณ 39,000-41,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ปี 2567 เป็นปีแห่งการเลือกตั้งสำคัญในหลายประเทศซึ่งอาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์ในหลายภูมิภาค และอาจทำให้เกิดความขัดแย้ง ตึงเครียดทางการเมืองเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้งออกมาอย่างไร เช่น ผลการเลือกตั้งของประเทศไต้หวัน ประเทศรัสเซีย

การเลือกตั้งในไต้หวัน หากพรรคก๊กมินตั๋งชนะการเลือกตั้ง ความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวันดีขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับจีนน่าจะปรับตัวในทิศทางดีขึ้น และไม่เพิ่มความเสี่ยงความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในกรณีไต้หวัน ภาวะดังกล่าวส่งผลดีต่อการค้าระหว่างประเทศ เป็นผลบวกทางเศรษฐกิจและการลงทุน นอกจากนี้สภาพการแตกขั้วของระบบเศรษฐกิจและการค้าโลกเบาลง (Geo-economics Fragmentation)

ความตึงเครียดในภูมิภาคเอเชียบริเวณช่องแคบจะมีพัฒนาการอย่างไรต่อไป ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการลงทุน การค้าและตลาดการเงินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกอย่างไร ขึ้นกับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันในวันที่ 13 ม.ค.นี้ เพราะผู้สมัครตำแหน่งประธานาธิบดีแต่ละพรรคมีจุดยืนต่อจีนและการผนวกรวมกับจีนที่แตกต่างกันมากพอสมควร ประชาชนจีนและจีนไต้หวันนั้นต้องการสันติภาพ ขณะเดียวกันชาวจีนไต้หวันจำนวนมากต้องการเป็นอิสระจากจีน และมีวิถีชีวิตและค่านิยมแบบเสรีประชาธิปไตย อันเป็นคุณค่าที่แตกต่างจากระบอบการปกครองของพรรคคอมนิวนิสต์จีนที่เน้นระบบคุณค่าแบบเน้นเสถียรภาพและองค์รวมของสังคมมากกว่าสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคล ผลการเลือกตั้งในสัปดาห์หน้าจะสะท้อนเสียงประชาชนส่วนใหญ่ในไต้หวันว่า คิดอย่างไรและกำหนดชะตากรรมอนาคตของประเทศและภูมิภาคเอเชีย ไม่ว่า พรรคการเมืองในไต้หวันพรรคใดจะได้ปกครองประเทศก็ตาม รัฐบาลปักกิ่งภายใต้การนำของประธานาธิบดี สีจิ้นผิง มีนโยบายรวมชาติกับไต้หวันอย่างสันติ แต่ไม่ปฏิเสธที่จะใช้แนวทางอื่นหากจำเป็น หลังการสิ้นสุดลงของสงครามกลางเมืองระหว่างพรรคก๊กมินตั๋งกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนในจีนแผ่นดินใหญ่เมื่อปี 2492 แม้จะมีการแบ่งแยกการปกครองกันระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่โดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน และไต้หวันโดยพรรคก๊กมินตั๋งในระยะแรก ก่อนที่จะพัฒนาสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบหลายพรรค รัฐบาลปักกิ่งยังคงถือว่าไต้หวันเป็นอาณาเขตของตน แต่ผู้นำไต้หวันและประชาชนไต้หวันส่วนใหญ่ไม่ได้เห็นสอดคล้องด้วย กระบวนการเจรจาหารือและสร้างสันติระหว่างจีนและไต้หวันมีความสำคัญต่อเสถียรภาพและเศรษฐกิจของภูมิภาคอย่างยิ่ง ผลของการเลือกตั้งประธานาธิบดีจะช่วยส่งสัญญาณว่าพัฒนาการในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร

ขณะนี้มีผู้สมัครตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวันที่มีคะแนนสูงสุดสามลำดับแรก ประกอบด้วย ล่าย ชิง เต๋อ หรือ William Lai แห่งพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า มีนโยบายแข็งกร้าวต่อจีน และไม่ต้องการให้ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน หาก ล่าย ชิง เต๋อ ชนะการเลือกตั้งเป็นผู้นำประเทศ ความตึงเครียดระหว่างจีน ไต้หวัน และสหรัฐฯ จะไม่ต่างจากยุคของไช่ อิง เหวิน ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ซึ่งมาจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าเช่นเดียวกัน อาจส่งผลกระทบต่อการค้า การลงทุนในภูมิภาคระดับหนึ่ง โดยเฉพาะสภาวะการแตกขั้วทางเศรษฐกิจอาจรุนแรงขึ้น และน่าจะทำให้ห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้าประเภทชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์แบ่งแยกชัดเจนขึ้น และอาจมีการกีดกันทางการค้าต่อกันเพิ่มขึ้นได้ หากคู่แข่งอีกสองคน ไม่ว่าจะเป็น โฮ้ว เหย่า หยี แห่ง พรรคก๊กมินตั๋ง หรือ โก เหวิน เจ แห่ง พรรคประชาชนไต้หวัน ซึ่งมีนโยบายที่เป็นมิตรกับจีนมากกว่า แม้จะไม่ได้ประกาศว่าจะยอมผนวกรวมกับจีน แต่ไม่ได้มีแนวทางประกาศเอกราชแยกตัวออกจากแผ่นดินใหญ่ แม้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเกาะไต้หวันส่วนใหญ่จะระบุว่าตัวเองเป็นชาวไต้หวัน ไม่ใช่ชาวจีน แต่ชาวไต้หวันจำนวนไม่น้อยต้องการให้มีการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่ หากพรรคก๊กมินตั๋ง หรือพรรคประชาชนไต้หวันชนะการเลือกตั้ง การฟื้นฟูความสัมพันธ์จะเกิดขึ้น ความตึงเครียดลดลง ส่งผลบวกต่อการค้าการลงทุนและเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียโดยรวม การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจลดลง การแตกขั้วของห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์เบาลง

ส่วนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้นปลายปีนี้ ผลของการเปลี่ยนแปลงนโยบายจะเกิดขึ้นจริงเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำทางการเมือง หากอดีตประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์สามารถผ่านเข้ามาเป็นผู้แทนพรรครีพับรีกันและชนะการเลือกตั้งได้ นโยบายชาตินิยมทางเศรษฐกิจและลัทธิกีดกันทางการค้าจะหวนคืนกลับมาอีกคำรบหนึ่ง และอาจจะมีแนวโน้มที่เข้มข้นกว่าเดิม ซึ่งการคาดการณ์ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายอาจทำให้เกิดการตอบสนองในตลาดการเงินและตลาดการลงทุนได้แล้วแม้ผลการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นปลายปีก็ตาม

สำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียในวันที่ 17 มี.ค.นั้นน่าจะเป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้น ประธานาธิบดีปูตินจะชนะเลือกตั้งโดยไม่ยาก เนื่องจากคู่แข่งคนสำคัญทั้งหมดถูกขจัดให้ออกจากเวทีการแข่งขันไปทั้งหมด อย่างไรก็ตามต้องติดตามว่าหลังการเลือกตั้งจะมีการเคลื่อนไหวคัดค้านผลการเลือกตั้งหรือไม่ และประธานาธิบดีปูตินในสมัยที่ห้าจะมีท่าทีอย่างไรต่อสงครามในยูเครน

นอกจากนี้ยังมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในอินโดนีเซียในเดือน ก.พ.67 อินเดียมีเลือกตั้งทั่วไปในเดือน เม.ย.และ พ.ค. เกาหลีใต้มีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาในเดือน เม.ย. เม็กซิโกมีเลือกตั้งในเดือน มิ.ย. มีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรปในเดือน มิ.ย. สิ่งต้องจับตามองเป็นพิเศษ แนวความคิดประชานิยมฝ่ายขวาและการต่อต้านอียูจะได้รับชัยชนะมากน้อยแค่ไหน ผลการเลือกตั้งจะเป็นปัจจัยที่ชี้ทิศทางของระบบการค้าโลก การเปิดเสรีและทุนนิยมโลกาภิวัฒน์จะพัฒนาการต่อไปอย่างไร

แม้มีความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์โลกเพิ่มขึ้น มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในหลายประเทศสำคัญที่อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกสามารถฟื้นตัวต่อเนื่องจากการเร่งรัดการใช้งบปี 67 การลงทุนภาครัฐ และต้องเร่งการใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพภายใน 8 เดือน นอกจากนี้มาตรการ Easy E-Receipt 2567 ลดหย่อนภาษีเงินได้ 50,000 บาท จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนในช่วงไตรมาสแรก ส่วนการคาดการณ์อัตราการขยายตัว Nominal GDP (GDP ณ ระดับราคาปัจจุบัน) ในเอกสารงบประมาณนั้นเป็นเรื่องที่มีการทำประจำทุกปี เพื่อนำเอา Nominal GDP มาประมาณการรายได้ในปีงบประมาณนั้นๆ Nominal GDP นี้จะแตกต่างจาก Real GDP ที่มีการคำนวณอัตราเงินเฟ้อเข้าไปด้วย Nominal GDP ที่มีการประมาณการไว้ในเอกสารงบประมาณปี 2567 อยู่ที่ระดับ 5.4% จึงมีความสมเหตุสมผลอยู่ เนื่องจากเมื่อนำเอา GDP Deflator เข้าไปคำนวณอัตราการขยายตัว Real GDP จะอยู่ที่ 3% กว่าๆ ซึ่งมีความเป็นไปได้ ประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจึงไม่สูงมากเกินไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ม.ค. 67)

Tags: , , ,