นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุน และการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (DEIIT-UTTC) เปิดเผยว่า ตลาดการเงินโลกในปี 2568 จะมีความผันผวนสูงมาก ปัจจัยทิศทางดอกเบี้ย ปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ ปัจจัยมาตรการกีดกันและสงครามทางการค้า ปัจจัยภาษีและหนี้สาธารณะ ปัจจัยฟองสบู่ในตลาดการเงิน ล้วนมีความไม่แน่นอนสูงและคาดการณ์ได้ยากทั้งสิ้น พลวัตเหล่านี้ทำให้การกำหนดกลยุทธการลงทุนต้องปรับด้วยความถี่สูงขึ้นและต้องเร็วขึ้นกว่าเดิม ยิ่งผันผวนมาก ยิ่งเกิดโอกาสมาก และมีความเสี่ยงมากเช่นเดียวกัน
รัฐบาลทรัมป์มีแนวโน้มจะทำงบประมาณขาดดุลเพิ่มเติมด้วยการลดภาษีนิติบุคคลภาษีธุรกิจ เพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจส่งผลให้เกิดแรงกดดันเงินเฟ้อ การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางอาจชะลอลงเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าไม่เกิดภาวะฟองสบู่และสามารถควบคุมเงินเฟ้อได้ตามเป้าหมาย ทิศทางเหล่านี้จะส่งต่อการลงทุนในตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ บทบาทของหุ้นกลุ่มยักษ์ใหญ่ไฮเทค โดยเฉพาะ 7 บริษัทนางฟ้า (Manificent 7 stocks) ต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ และตลาดหุ้นโลกยังมีสัดส่วนสูงมากต่อไป ขณะนี้บริษัทยักษ์ใหญ่ไฮเทค Big Tech มีสัดส่วนมูลค่าตลาดคิดเป็น 21% ของมูลค่าบริษัทขนาดใหญ่ S&P 500 สัดส่วน ราคาต่อผลกำไร P/E Ratio อยู่ที่ 32 ซึ่งมีบริษัทจัดการกองทุนบางแห่งมองว่าราคาแพงและมีสัญญาณฟองสบู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และตลาดโลกปรับฐานหลังจากคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจปรับลดดอกเบี้ยน้อยลง คือ อาจปรับลดดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีหน้า ไม่ใช่ 4 ครั้งอย่างที่คาดการณ์ไว้เดิม การปรับฐานลงมาทำให้ราคาหุ้นสะท้อนผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนได้ใกล้เคียงความจริงมากขึ้น จากก่อนหน้านี้ราคาเริ่มแพงและมีภาวะฟองสบู่โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐฯ การปรับฐานจึงเป็นจังหวะของการเข้าลงทุนได้เนื่องจากบริษัทกองทุนขนาดใหญ่ยังคงมีมุมมองในทางบวกต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นสหรัฐฯ อยู่ นโยบายผ่อนคลายกฎระเบียบให้ภาคการเงินโดยเฉพาะสินทรัพย์การเงินดิจิทัลและคริปโทจะทำให้ภาคการเงินเติบโตสูงในปีหน้า ขณะเดียวกันก็จะมีความเสี่ยงของภาวะฟองสบู่เพิ่มขึ้นตามลำดับ
ส่วนตลาดหุ้นไทยมีการปรับฐานต่อเนื่องจนดัชนีตลาดหุ้นหลุดระดับ 1,400 จุด ปัญหาของตลาดหุ้นไทย คือ เรื่องธรรมาภิบาลของบริษัทจดทะเบียน ปัจจัยเสี่ยงและความไม่แน่นอนทางการเมือง เศรษฐกิจโตต่ำกว่าศักยภาพ นอกจากนี้ตลาดหุ้นไทยยังขาดธุรกิจอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจอุตสาหกรรมในเศรษฐกิจแบบเก่า ขาดบริษัทที่มีฐานจากนวัตกรรม และยังไม่ค่อยมีบริษัท Startup ทางเทคโนโลยีที่เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มากนัก
ในปี 2568 การลงทุนในตลาดสาธารณะ (Public Market) หรือการลงทุนตลาดในระบบ อัตราผลตอบแทนโดยเฉลี่ยจะต่ำกว่าการลงทุนในสินทรัพย์เอกชนนอกตลาดอย่างชัดเจน เพราะการลงทุนในตลาดสาธารณะในหลากหลายตลาดการลงทุน ราคาสินทรัพย์ได้ปรับตัวขึ้นไปเกือบเต็มมูลค่าแล้ว ส่วนการลงทุนในตลาดเอกชนนอกตลาด (Private Market) ซื้อขายการลงทุนกันนอกตลาด เป็นตลาดที่ให้ผลตอบแทนสูง มีความเสี่ยงสูง นักลงทุนทั่วไปเข้าถึงได้ยาก จำกัดเฉพาะนักลงทุนบางกลุ่ม ขณะนี้มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 13-14 ล้านล้านดอลลาร์ มีการอัตราการเติบโตประมาณ 20% โดยเฉลี่ย นับตั้งแต่ปี 2562 แม้นการเติบโตของตลาดเอกชนนอกตลาด (Private Market) เริ่มชะลอตัวลงในยุคดอกเบี้ยขาขึ้นเมื่อ 2-3 ปีก่อน แต่ในปีหน้า 2568 ทิศทางอัตราดอกเบี้ยยังปรับตัวลดลงได้อีก ทำให้ต้นทุนจัดหาเงินทุนลดลง คาดว่าการลงทุนใน Private Market จะให้ผลตอบแทนสูงแต่ก็มีความเสี่ยงสูง ความผันผวนระยะสั้นปีต่อปีจะไม่กระทบมากนัก เพราะการลงทุน Private Market ต้องเน้นการลงทุนระยะปานกลางหรือระยะยาวอย่างน้อย 5 ปีขึ้นไป การลงทุนใน Private Market สามารถลงทุนได้ทั้งใน Private Equity ผ่าน Venture Capital หรือ Startup หรือบริษัทก่อนทำ IPO ในตลาดหุ้น หรืออาจลงทุนใน Private Credit หรือ Private Debt การกู้ยืมเงินนอกตลาด ให้อัตราดอกเบี้ยสูง หรือ Private Infrastructure/Real Estate อาคารสำนักงานให้เช่า ระบบสาธารณูปโภคสาธารณูปการ เป็นต้น หรือลงทุนในบริษัทที่ได้สัมปทานในการหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ
ส่วนแนวโน้มการลงทุนในประเทศไทยในปีหน้า 2568 น่าจะปรับดีขึ้นทั้งการลงทุนของภาครัฐและภาคเอกชน โดยคาดว่าอัตราการขยายตัวของภาคการลงทุนจะอยู่ที่ 3.5-4% โดยอัตราการขยายตัวของการลงทุนภาครัฐจะอยู่ที่ 6-7% และอัตราการขยายตัวของภาคเอกชนจะอยู่ที่ 2.8-3.2% อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังมีลักษณะเป็นหนึ่งประเทศ แต่มี 3 ระบบและสภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2568 ก็ยังไม่สามารถก้าวข้ามพ้นการฟื้นตัวแบบรูปตัวเค K-Shape ที่ยิ่งทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นอีก ไทยเป็นประเทศที่มีระดับการเลื่อนชั้นทางสังคมและเศรษฐกิจ (Social and Economic Mobility Index) ต่ำกว่าหลายประเทศในอาเซียน ต่ำกว่าเวียดนาม ต่ำกว่าสิงคโปร์และมาเลเซีย ในประเทศของเรามีถึง 3 ระบบและสภาวะที่แตกต่างกันจากปัญหาเชิงโครงสร้าง 1.เศรษฐกิจนอกระบบ 2.เศรษฐกิจของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและยากจน 3.เศรษฐกิจของกลุ่มชนชั้นนำที่มีอำนาจผูกขาด โอกาสของคนยากจนและครัวเรือนรายได้น้อยจะสามารถเลื่อนฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของตัวเองได้ไม่ถึง 40% และคนเหล่านี้ก็จะอยู่ในกับดักของความเป็นหนี้และความยากจนข้ามรุ่น หากไม่สามารถทำให้จีดีพีขยายตัวได้เต็มศักยภาพและกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมายังคนส่วนใหญ่ย่อมไม่สามารถแก้ไขปัญหาหนึ่งประเทศหลายระบบได้ นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีปัญหาการบังคับใช้กฎหมายหลายมาตรฐานทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงความยุติธรรมและโอกาสทางเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ (DEIIT-UTTC) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมิน Generative AI (GEN AI) หรือปัญญาประดิษฐ์ที่ใช้การเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) ในการสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ สามารถเพิ่ม GDP ไทยได้ไม่ต่ำกว่า 5% ใน 4-5 ปีข้างหน้าหากมีการลงทุนอย่างจริงจัง เพิ่มผลิตภาพทุนและแรงงาน อาจกระทบต่อตลาดแรงงานบางส่วนที่ Gen AI เข้าไปแทนที่การทำงานได้เกือบทั้งหมด แต่ภาพรวมของตลาดแรงงานในระยะยาวกระทบเพียงเล็กน้อย เพราะผลิตภาพของระบบเศรษฐกิจโดยรวมที่สูงขึ้น จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก การจ้างงานโดยรวมเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจมีตลาดแรงงานตึงตัว
อย่างไรก็ตาม จากการประเมินเบื้องต้นการเพิ่มขึ้นของตำแหน่งงานจะไม่มากเท่าตำแหน่งงานที่หายไป การขยายตัวเพิ่มขึ้นของจีดีพีและผลิตภาพ ไม่ได้สัดส่วนกับการเพิ่มขึ้นของการจ้างงาน ขณะที่แรงงานมนุษย์จะมีอำนาจต่อรองน้อยลงในระบบเศรษฐกิจ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐ และ สหภาพแรงงานในการทำให้มูลค่าส่วนเพิ่มทางเศรษฐกิจถูกแบ่งปันอย่างเป็นธรรม
Goldman Sachs ประเมินว่า Gen AI สามารถเพิ่มมูลค่า GDP โลกได้ถึง 7 ล้านล้านดอลลาร์ภายใน 10 ปี คิดเป็นเกือบ 7% ของจีดีพีโลกในปีนี้ (มูลค่าจีดีพีโลกปีนี้อยู่ที่ 109 ล้านล้านดอลลาร์) อันเป็นผลจากการเพิ่มผลิตภาพและมูลค่าทางเศรษฐกิจของธุรกิจอุตสาหกรรมต่าง ๆ หากไทยไม่มียุทธศาสตร์ ไม่มีแผน ไม่มีแนวทางอย่างชัดเจนในการลงทุนเกี่ยวกับ AI ประเทศไทยก็จะเป็นเพียงประเทศซื้อและใช้เทคโนโลยีต่อไปเรื่อย ๆ ไม่ใช่ประเทศผู้ผลิตพัฒนาต่อยอดหรือสร้างเทคโนโลยีได้ด้วยตัวเอง หากเราสามารถพัฒนาเทคโนโลยีได้ด้วยตัวเอง มูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยจะเพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นเดียวกับที่ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ทำสำเร็จมาแล้ว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ธ.ค. 67)
Tags: ตลาดการเงินโลก, อนุสรณ์ ธรรมใจ, เศรษฐกิจ