นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ในระยะยาวการส่งออกต้องเติบโตจากปัจจัยพื้นฐาน ไม่ใช่ปัจจัยความได้เปรียบด้านราคาผ่านอัตราแลกเปลี่ยน ปัจจัยพื้นฐานมีทั้งเรื่องผลิตภาพของอุตสาหกรรมส่งออก ประสิทธิภาพ และต้นทุนการผลิต ผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองต่อตลาดโลก แบรนด์ของสินค้าที่แข็งแรง นวัตกรรมและการพัฒนาสินค้าและบริการตลอดเวลา ความสามารถในการเจาะตลาดใหม่ ๆ และรักษาตลาดเดิมได้
หลายปีที่ผ่านมา ส่วนแบ่งตลาดของสินค้าส่งออกไทยในตลาดโลกหลายประเภทแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลง การขยายตัวขึ้นอยู่กับอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ามากกว่าการเปลี่ยนแปลงของความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย
ขณะที่การปล่อยให้ค่าเงินบาทผันผวนมากเกินไปย่อมส่งผลกระทบต่อรายได้และการผลิตของอุตสาหกรรมส่งออกอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ การปล่อยให้เงินบาทแข็งค่าไปเรื่อย ๆ ในอัตราแบบช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาหรืออัตราเร่งกว่าเดิม อาจทำให้ภาคส่งออกไทยในช่วงต้นปีหน้าอาจกลับมาหดตัวได้อีก การเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดจะลดลงแล้วกลับมาติดลบหรือขาดดุลได้ และในที่สุดกลไกในตลาดปริวรรตเงินตราจะทำให้เงินบาทกลับมาอ่อนค่าได้อีกในช่วงกลางปีหน้า
ตลาดปริวรรตเงินตรา (Foreign Exchange Market) มีบทบาทในการจับคู่และช่วยเป็น Clearing House ในกรณีที่อุปสงค์ไม่เท่ากับอุปทาน ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง และเป็นแหล่งข้อมูลที่มีประโยชน์สำหรับผู้ทำธุรกรรมระหว่างประเทศที่ต้องการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตรา กลไกของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนทำให้เกิดประสิทธิภาพและมีต้นทุนที่ต่ำสำหรับผู้ทำธุรกรรมการค้าการลงทุนและการเงินระหว่างประเทศ
ตลาด Foreign Exchange Market นั้นต้องสะสม Stock ของเงินสกุลต่าง ๆ ไว้เพื่อทำหน้าที่เป็น Clearing House ให้เกิดขึ้นในระบบการเงินระหว่างประเทศ ที่ต้องจัดการกับความแตกต่างระหว่างอุปสงค์และอุปทานในตลาดเงินตราระหว่างประเทศ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง
ในระยะสั้น การใช้มาตรการ Open Market Operation ของธนาคารแห่งประเทศไทยในการซื้อดอลลาร์ ขายบาท ปล่อยสภาพคล่องเงินบาทเข้าสู่ระบบมากขึ้นจะช่วยประคองไม่ให้เงินบาทแข็งค่าเร็วเกินไป เพื่อให้ผู้ส่งออกปรับตัวในภาวะบาทแข็งดอลลาร์อ่อนและดอกเบี้ยดอลลาร์ขาลง ขณะเดียวกันการแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราควรทำด้วยความระมัดระวัง ไม่สวนภาวะตลาดมากเกินไป ตลาดปริวรรตเงินตรามีขนาดใหญ่มากถึงที่สุดแล้ว ทางการไม่สามารถกำหนดเป้าหมายตามที่ต้องการได้ ทำได้เพียงการบริหารจัดการไม่ให้ค่าเงินผันผวนเกินไปและไม่ฝืนกลไกตลาดปริวรรตเงินตรา
ความเสี่ยงอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงค่าเงินเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศเอง ไม่ว่าจะเป็นการชำระเงินโดยเงินสกุลต่างประเทศหรือรับเงินสกุลต่างประเทศจะเกิดขึ้นภายหลังการส่งมอบสินค้าหรือบริการ การรอชำระหรือรับเงินสกุลเงินต่างประเทศ อาจทำให้เกิดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนหรือค่าเงินได้ การซื้อขายเงินตราต่างประเทศอาจเกิดขึ้นในตลาดทันที (Spot Market) หรือ ตลาดล่วงหน้า (Forward Market) ซึ่งผู้ทำธุรกรรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (ไม่ว่าในฐานะผู้นำเข้า ผู้ส่งออก นักลงทุน หรือ ผู้รับการลงทุน นักท่องเที่ยว) สามารถประกันความเสี่ยงหรือบริหารความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนได้โดยการใช้เครื่องมือทางการเงินในตลาดล่วงหน้า เช่น Forward Contract, Future Contract, Option, Swap เป็นต้น
ทั้งนี้คาดการณ์ว่า ค่าเงินบาท ค่าเงินเยน จะมีความผันผวนสูงในระยะหนึ่งปีข้างหน้า ขณะที่ดอลลาร์สหรัฐฯ จะทยอยอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องจากปัจจัยเศรษฐกิจภายในของสหรัฐฯ เอง และปัจจัยดอกเบี้ยของธนาคากลาง จึงขอแนะนำให้ภาคส่งออกไทยทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อบริหารความเสี่ยงรายได้ดอลลาร์และเงินสกุลต่างประเทศในสัดส่วน 70-100% ขึ้นไปด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Forward Contract) หรือเพื่อป้องกันความผันผวนได้ดียิ่งขึ้นอาจพิจารณาซื้อสิทธิในการขายดอลลาร์ (Put Option) ณ ระดับราคาใดราคาหนึ่ง หากราคาของค่าเงินดอลลาร์ในตลาดซื้อขายทันทีอยู่ในอัตราแลกเปลี่ยนที่ดีกว่าอัตราแลกเปลี่ยนของ Option ก็ไม่ต้อง Exercise หรือใช้สิทธิดังกล่าวได้ ส่วนธุรกิจนำเข้า และการนำเข้าของภาครัฐและภาครัฐวิสาหกิจควรใช้โอกาสในช่วงที่เงินบาทแข็งค่าในระยะหนึ่งปีข้างหน้าในการเร่งรัดการนำเข้าสินค้าทุน วัตถุดิบและเครื่องจักรอุปกรณ์ที่จำเป็น
การใช้ Forward contract นั้นจะเป็นสัญญาประเภทล่วงหน้าที่มิได้มีการกำหนดมาตรฐานไว้ (สัญญานั้นอาจสามารถซื้อ-ขายในตลาด over the counter-OTC) โดยผู้ซื้อยินยอมที่จะรับ และผู้ขายยินยอมที่จะส่งมอบซึ่งสินทรัพย์ที่ได้กำหนดราคาแน่นอนในตอนทำสัญญาซื้อ-ขาย เมื่อถึงระยะเวลาอันกำหนดไว้ การตกลงซื้อขายสัญญาประเภทนี้เกิดขึ้นได้โดยไม่จำกัดสถานที่ เป็นการซื้อขายในตลาดที่ไม่เป็นระบบ จึงไม่มีกฎระเบียบควบคุมเข้มงวด เช่น สถาบันการเงิน หน่วยธุรกิจต้องมีการเจรจาตกลงรายละเอียดสัญญากันเอง ส่วน “future contract” จะเป็นสัญญามาตรฐานที่มีข้อกำหนดแน่นอน มีสภาพคล่องสูงกว่าเนื่องจากมีตลาดรอง ภาคธุรกิจระหว่างประเทศสามารถเลือกใช้ Forward Contract หรือ Future Contract ได้ตามความเหมาะสมเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงิน
นอกจากนี้ ผู้ทำการค้าระหว่างประเทศสามารถใช้เครื่องมือสวอปเพื่อจัดการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน การทำสวอปเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนหรือเงินตราต่างประเทศ ก็คือ การทำธุรกรรมที่มีการแลกเปลี่ยนระหว่างเงินสองสกุลในตลาดทันที (Spot) โดยมีข้อตกลงที่จะแลกกลับในสถานะที่ตรงกันข้ามกันในตลาดล่วงหน้า (Forward) เช่น บริษัท UCI เพิ่งได้รับรายได้จากการส่งออกเครื่องจักรเป็นเงินจำนวน 1 แสนดอลลาร์ อาจรู้ล่วงหน้าแล้วว่าจะต้องใช้เงินจำนวนเดียวกันนี้จ่ายเป็นค่านำเข้าน้ำมันในอีก 2 เดือนข้างหน้า แต่ในระหว่าง 2 เดือนนี้ แผนกบริหารเงินของบริษัทต้องการลงทุนระยะสั้นเป็นเงินบาทที่มีมูลค่าเทียบเท่ากับเงิน 1 แสนดอลลาร์ บริษัทก็สามารถทำสวอประหว่างเงินดอลลาร์กับเงินบาทแบบ 2 เดือนได้โดยตกลงขายเงินดอลลาร์แลกเงินบาทในตลาดทันที และทำสัญญาตกลงไปพร้อม ๆ กันที่จะขายเงินบาทและซื้อเงินดอลลาร์ในตลาดล่วงหน้า 2 เดือน
โครงสร้างของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างประเทศนั้นมีธุรกรรมหลายลักษณะ มีทั้งที่เป็นบุคคลและองค์กร มีธุรกรรมระหว่างบุคคล บริษัท กับ ธนาคาร ธนาคารพาณิชย์ กับ ธนาคารกลาง นักค้ากำไรและนักเก็งกำไรกับสถาบันการเงินหรือบริษัทเพื่อการลงทุน ธนาคารพาณิชย์ซื้อขายเงินตราระหว่างกันเองด้วยเพื่อปรับฐานะการถือเงินตราสกุลต่าง ๆ ตามความเหมาะสมและเพื่อบริหารความเสี่ยง ทั้งนี้อาจซื้อขายกันเองโดยตรงหรืออาจซื้อขายผ่านนายหน้าค้าเงินตรา (Broker) ก็ได้ ตลาดปริวรรตเงินตราหรือตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรานั้นเป็นตัวอย่างของตลาดที่มีโครงสร้างตลาดที่เป็นไปตามลักษณะของตลาดแข่งขันสมบูรณ์ตามทฤษฎีมากที่สุดตลาดหนึ่ง อันประกอบไปด้วย สินค้าอันเป็นเงินตราแต่ละสกุลนั้นมีลักษณะเหมือนกัน (Homogeneous) ข้อมูลด้านราคามีการเผยแพร่อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง การเก็บรักษาและการเคลื่อนย้ายเงินตราทำได้อย่างรวดเร็ว สะดวกและมีต้นทุนต่ำมาก ที่สำคัญเป็นตลาดที่มีผู้ซื้อผู้ขายจำนวนมากแม้นจะต้องทำธุรกรรมผ่านตัวกลางก็ตาม ตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างประเทศประกอบไปด้วยกลุ่มต่างๆผู้มีส่วนร่วมในตลาดค่อนข้างหลากหลาย แบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม ดังต่อไปนี้
1.กลุ่มธนาคารและสถาบันการเงินอื่นที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลาง (Dealers) ซื้อขายเงินตราต่างประเทศ ดำเนินธุรกรรมทางการเงินหรือปล่อยสินเชื่อระหว่างประเทศ กลุ่มธนาคารและสถาบันการเงินเป็นกลไกที่สำคัญที่สุดในโครงสร้างตลาดปริวรรตเงินตราในฐานะตัวกลางและผู้เล่นสำคัญในตลาดนี้ ธนาคารและสถาบันการเงินสร้างกำไรจากการเป็นตัวกลางในการซื้อขายเงินตรา กำไรมาจากส่วนต่างระหว่างราคาเสนอซื้อ (Bid Price) และ ราคาขาย (Offer Price หรือ Ask price) การแข่งขันระหว่างตัวกลางของปริวรรตเงินตราต่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพจะทำให้อัตรากำไรลดลง กำไรส่วนเกินลดลงจากประสิทธิภาพของตลาด ผู้ทำหน้าที่ตัวกลางในส่วนปริวรรตเงินตราต่างประเทศของธนาคารระหว่างประเทศขนาดใหญ่ มักจะทำหน้าที่เป็นผู้ก่อให้เกิดตลาด (Market Maker) ซึ่งพร้อมซื้อขายเงินตราเพื่อสร้างระดับราคา ตัวกลางเหล่านี้จะมีสต๊อกของเงินสกุลต่าง ๆ เอาไว้ระดับหนึ่งแล้วเพื่อทำการค้ากับผู้เล่นอื่น ๆ
2.บุคคล รัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรเอกชนผู้ดำเนินธุรกรรมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศบุคคล รัฐ รัฐวิสาหกิจหรือองค์กรเอกชน ที่ประกอบธุรกรรมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้า การส่งออก ต้องอาศัยตลาดปริวรรตเงินตราเพื่ออำนวยสะดวกในการดำเนินธุรกรรมและบริหารความเสี่ยงอันเกิดจากความผันผวนของค่าเงิน
3.กลุ่มกองทุนบริหารอัตราแลกเปลี่ยนและกองทุนจัดการการลงทุนประเภทต่าง ๆ บทบาทของกองทุนบริหารอัตราแลกเปลี่ยนและกองทุนจัดการการลงทุนประเภทต่าง ๆ เพิ่มขึ้นตามลำดับภายใต้โลกาภิวัตน์ทางการเงินไร้พรมแดน กองทุนเหล่านี้เข้าทำธุรกรรมในตลาดปริวรรตเงินตราเพื่อแสวงหากำไรและผลตอบแทนให้กับผู้ถือหน่วยลงทุน รวมทั้งการบริหารความเสี่ยงให้ลูกค้า กองทุนเฮดจ์ฟันด์มีเงินทุนภายใต้บริหารจำนวนมากบางครั้งสามารถกำหนดทิศทางของค่าเงินและอัตราแลกเปลี่ยนได้
4.นักเก็งกำไรและผู้ค้าที่ได้กำไรจากส่วนแตกต่างของราคาในแต่ละตลาดในเวลาเดียวกัน (Speculators and Arbitragers) กลุ่มนี้จะหากำไรจากตลาดปริวรรตเงินตราโดยตรง เป้าหมายจึงแตกต่างจากสถาบันการเงินที่ทำหน้าที่บริการลูกค้า สำหรับกลุ่ม Arbitragers จะหากำไรจากส่วนต่างของราคาซื้อและราคาขาย และอาจได้กำไรจากการเปลี่ยนแปลงของราคาโดยประจวบเหมาะ แต่สำหรับนักเก็งกำไรมุ่งหวังกำไรจากการเปลี่ยนแปลงของราคา ส่วน Arbitragers จะทำการซื้อขายเงินตราสกุลใดสกุลหนึ่งในสองตลาดที่มีราคาแตกต่างกันในเวลาเดียวกัน
5.กลุ่มธนาคารกลางและหน่วยงานการคลังของรัฐบาล ผู้เล่นในตลาดปริวรรตเงินตราอีกกลุ่มหนึ่ง คือ กลุ่มธนาคารกลางและหน่วยงานการคลังของแต่ละประเทศ กลุ่มนี้ไม่ได้มีความมุ่งหมายเพื่อการแสวงกำไรแต่อย่างใด การเข้ามาทำธุรกรรมในตลาดของกลุ่มนี้มีความมุ่งหมายเพื่อดูแลเสถียรภาพค่าเงินของประเทศตัวเองเป็นหลัก บริหารความเสี่ยงและรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและเศรษฐกิจโดยรวม
6.กลุ่มนายหน้าของตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศ (Foreign Exchange Brokers) กลุ่มนายหน้าของตลาดปริวรรตเงินตรานี้เป็นตัวกลางและผู้ประสานงานระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายเท่านั้น โดยได้รับค่านายหน้าตอบแทน (Commission) ผู้เล่นในตลาดปริวรรตเงินตรากลุ่มนี้มิได้ทำการค้าเงินตราต่างประเทศด้วยตนเอง
ในช่วงสองสามทศวรรษที่ผ่านมา ธุรกรรมในตลาดปริวรรตเงินตราเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลจากการเปิดเสรีทางการเงินอย่างต่อเนื่องของประเทศต่าง ๆ ภาวะไร้พรมแดนของโลกาภิวัตน์ทางการเงิน และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ปัจจุบันศูนย์กลางทางการเงินของโลก เช่น ตลาดนิวยอร์ก ตลาดลอนดอน ตลาดโตเกียว ตลาดสิงคโปร์ ฮ่องกง เยอรมัน สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เป็นต้น มีมูลค่าธุรกรรมสูงถึงวันละหลายล้านล้านดอลลาร์ ศูนย์กลางทางการเงินได้เคลื่อนย้ายมาทางเอเชียมากขึ้น ตลาดเซี่ยงไฮ้ ตลาดฮ่องกง ตลาดสิงคโปร์ มีความสำคัญมากขึ้นตามลำดับ มูลค่าการค้าเงินตราในตลาดปริวรรตเงินตราได้เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลในช่วงสองสามทศวรรตที่ผ่านมา
หากทางการไม่ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายก็จะยิ่งดึงดูดเม็ดเงินระยะสั้นเก็งกำไรเข้ามาในตลาดการเงินของไทยเพื่อแสวงหาผลตอบแทนในตลาดการเงินไทยเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ ในภาวะที่ผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรสหรัฐมีแนวโน้มขาลง สภาพคล่องของเม็ดเงินเก็งกำไรที่ไหลเข้ามาจะถูกดูดซับ (Sterilization) ออกหากยังใช้มาตรการเข้มงวดทางการเงิน ทำให้ราคาสินค้า Non-tradable Goods ในประเทศปรับสูงขึ้นเมื่อเทียบกับราคาสินค้า Tradable Goods หรือ อัตราแลกเปลี่ยนแท้จริงปรับแข็งค่าอย่างรวดเร็วรุนแรงได้ อาจเกิดปรากฎการณ์ที่เรียกว่า Dutch Disease ส่งให้ผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล ระบบเศรษฐกิจเปราะบางจากการเก็งกำไรค่าเงินบาทให้แข็งขึ้นไปอีก แต่คงโจมตีค่าเงินบาทแบบปี 2540 ไม่ได้เพราะเราใช้กลไกระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวแล้ว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ก.ย. 67)
Tags: ค่าเงินบาท, อนุสรณ์ ธรรมใจ, เงินบาท, เศรษฐกิจไทย