นักวิชาการชี้วิกฤตหนี้อาจกดทับการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีหน้า

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ภาวะหนี้ครัวเรือนไทยเทียบกับจีดีพีในไตรมาสสองทรงตัวอยู่ที่ระดับ 86.3% ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสแรก หนี้ครัวเรือนที่สูงกว่า 80% ของ GDP เป็นระดับที่ต้องเฝ้าระวัง และอาจฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต สร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินและอาจลุกลามไปเป็นปัญหาสังคม ซึ่งจะยิ่งแก้ไขได้ยากขึ้น

แม้หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีทรงตัว อันเป็นผลจากจีดีพีขยายตัวเพิ่มขึ้นในระดับเดียวกับหนี้ครัวเรือน แต่ยอดหนี้คงค้างยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทำให้หนี้ครัวเรือนคงค้างอยู่ที่ 15.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 1.1 แสนล้านบาทจากไตรมาสแรกที่มีอยู่ยอดหนี้ครัวเรือนคงค้างอยู่ที่ 15.19 ล้านล้านบาท หรือหนี้เฉลี่ยรายบุคคลอยู่ที่ 231,818 บาท หนี้ครัวเรือนของชาวไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 546,428 แสนบาทต่อครัวเรือน เป็นหนี้ในระบบประมาณ 59-60% หนี้นอกระบบ 39-40% คนไทยในวัยทำงานอายุไม่เกิน 35 ปี มีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 25,000-27,000 บาท ขณะที่รายจ่ายครัวเรือนเฉลี่ยแต่ละเดือนเกือบเท่ากับรายได้จึงไม่มีเงินออม เมื่อมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ค่าใช้จ่ายฉุกเฉินมากกว่ารายจ่ายปรกติ จึงจำเป็นต้องก่อหนี้เพื่อเสริมสภาพคล่องให้เพียงพอ ประเทศไทยจึงมีหนี้ครัวเรือนสูงเป็นอันดับสองในเอเชีย รองจากเกาหลีใต้ และอยู่ในอันดับที่ 12 ของโลก

ขณะเดียวกันคนไทยยังมีหนี้สาธารณะที่ต้องร่วมกันรับผิดชอบเฉลี่ยคนละ 168,430 บาท ทำให้คนไทยมีภาระหนี้สินส่วนครัวเรือนรวมกับหนี้สาธารณะอยู่ที่คนละ 400,248 บาท ฉะนั้นการตั้งเป้าให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เต็มศักยภาพที่ 5-6% เป็นเรื่องสำคัญเพื่อให้เศรษฐกิจมีรายได้สูงขึ้น และต้องสร้างกลไกให้เกิดการกระจายรายได้มายังคนส่วนใหญ่อย่างทั่วถึง

ตัวเลขสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีที่ระดับ 86.3% ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทที่ก่อหนี้เกินตัวบวกกับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่ระดับ 62.14% (ณ สิ้นเดือน ก.ย.66) คิดเป็นมูลค่าหนี้สาธารณะ 11.13 ล้านล้านบาท หนี้ทั้งสามมิติ คือ หนี้ครัวเรือน หนี้เอกชน และหนี้สาธารณะ อาจจะกดทับต่ออัตราการขยายเศรษฐกิจไทยปีหน้าได้ หากดอกเบี้ยภายในประเทศยังปรับตัวในทิศทางขาขึ้นต่อไป

ขณะเดียวกันหนี้ครัวเรือนเป็นหนี้นอกระบบสูงกว่า 20% คิดเป็น 3.48 ล้านล้านบาท การดำเนินมาตรการและนโยบายกำหนดเพดานดอกเบี้ยในระบบดูเหมือนเป็นความพยายามแก้ปัญหาความเดือดร้อนจากภาวะดอกเบี้ยลอยตัว แต่ได้สร้างปัญหาให้กับครัวเรือนและประชาชนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ เนื่องจากสถาบันการเงินในระบบไม่ยอมปล่อยสินเชื่อหรือเงินกู้ให้กับผู้กู้ที่มีความเสี่ยงสูงด้วยอัตราดอกเบี้ยเพดานตามที่ทางการกำหนด การแก้ปัญหาการคิดอัตราดอกเบี้ยสูงเกินไปของสถาบันการเงินในระบบแก้ด้วยการเปิดเสรีให้มีการแข่งขันมากขึ้น ไม่ใช่กำหนดเพดานทำให้อัตราดอกเบี้ยไม่สะท้อนความเสี่ยงของผู้กู้ การกำหนดเพดานดอกเบี้ยในระบบจึงกลายเป็นการผลักหนี้นอกระบบเพิ่มโดยไม่ได้ตั้งใจ

มาตรการพักหนี้ที่ทำกันมาเกือบทุกรัฐบาลทำได้เพียงแค่บรรเทาปัญหาวิกฤตหนี้สินครัวเรือน แต่ไม่ได้แก้ปัญหาที่รากฐานแห่งการเป็นหนี้ และหากดำเนินการไม่รัดกุมและใช้มาตรการแบบนี้บ่อยๆ จะทำให้เกิดจริยวิบัติ (Moral Hazard) ในระบบการเงินมากขึ้นเรื่อยๆ และจะสะสมความเสี่ยงของการเกิดวิกฤตระบบสถาบันการเงินในอนาคตได้ มาตรการแก้ไขหนี้สินนั้นต้องกระจายรายได้และกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้เป็นธรรม สร้างโอกาสการทำงานด้วยรายได้สูงให้กับประชาชน ธุรกิจอุตสาหกรรมต้องสามารถเพิ่มมูลค่าด้วยความรู้และนวัตกรรม แปรรูปผลิตภัณฑ์ให้มีราคาและมูลค่าสูงขึ้น

การปรับลดอัตราเงินสดสำรองตามกฎหมายของสถาบันการเงิน ผ่อนกฎเกณฑ์การตั้งสำรองหนี้เสียหรือหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ให้กับธนาคาร ลดหย่อนภาษีการขายหรือโอนทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของสถาบันการเงิน อาจมีความจำเป็นในระยะต่อไปหากปัญหาการไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อและปัญหาหนี้สินไม่มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างชัดเจน

ขณะที่โครงสร้างทางการเงินของกิจการและธุรกิจอุตสาหกรรมบางส่วนอ่อนแอมากและถูกซ้ำเติมจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อปี 63-64 มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นมีหนี้สินเพิ่มมากกว่า 4 ล้านล้านบาทในช่วงดังกล่าว บริษัทกิจการท่องเที่ยว กิจการสายการบิน กิจการขนส่ง ค้าปลีก ร้านอาหาร กิจการเหล่านี้จำนวนไม่น้อยต้องเพิ่มทุนหรือต้องขายทรัพย์สินเสริมสภาพคล่องและชำระหนี้ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโควิด แม้ภาพรวมของเศรษฐกิจมีขยายเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปัจจุบัน แต่กิจการจำนวนไม่น้อยก็ยังไม่พ้นจากภาวะการเป็นหนี้สินล้นพ้นตัวและขาดสภาพคล่อง สัดส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัทจดทะเบียนปี 63 อยู่ที่ 2.83 เท่าเมื่อเทียบกับ 2.57 เท่าในปี 61 หนี้สินรวมของบริษัทจดทะเบียนเพิ่มขึ้นแตะระดับ 29.28 ล้านล้านบาท สูงกว่าจีดีพีประเทศประมาณเกือบ 2 เท่า และล่าสุดปี 66 สัดส่วนหนี้สินต่อทุนและหนี้สินรวมของบริษัทจดทะเบียนยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลายกิจการประสบปัญหาการจำหน่ายหุ้นกู้ใหม่เพื่อทดแทนหุ้นกู้เดิม มีความเสี่ยงของ Debt Rollover เพิ่มขึ้นนั่นเอง สัดส่วนหนี้สินต่อทุนน่าจะทะลุ 3 เท่า

อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการไตรมาส 4 ของปีนี้ต่อเนื่องถึงไตรมาสแรกปีหน้าบริษัทจดทะเบียนน่าจะผลกำไรสุทธิกระเตื้องขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยภาพรวม ตราสารหนี้กลุ่ม high-yield bond ยังมีการขอขยายวันครบกำหนดอายุ โดยประมาณ 1-2 ปี ซึ่งส่วนใหญ่ยังเป็นผู้ออกรายเดิมที่เคยขอขยายวันครบกำหนดอายุแล้ว และยังไม่สามารถออกตราสารหนี้ใหม่เพื่อทดแทนตราสารเดิมที่ครบกำหนดได้ และมักจะเป็นตราสารหนี้ที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ

ในช่วงครึ่งแรกของปี 66 มีการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ (downgrade) และแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนเล็กน้อยเกิดจากปัจจัยเสี่ยงเฉพาะของแต่ละบริษัท ตั้งแต่ต้นปี 66 มีผู้ออกหุ้นกู้ที่มีการเสนอขายต่อผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่ที่มีการผิดนัดชำระหนี้จำนวน 3 ราย มูลค่าเงินต้นที่ผิดนัดรวมทั้งสิ้น 12,278.29 ล้านบาท คิดเป็น 0.25% ของตราสารหนี้ภาคเอกชนทั้งระบบ โดยทั้งหมดเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งการผิดนัดชำระหนี้ของทั้ง 3 รายดังกล่าวเป็นปัญหาเฉพาะบริษัท ยังไม่ส่งผลกระทบต่อภาวะตลาดตราสารหนี้โดยรวม

การที่เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวได้ในระดับต่ำกว่า 3% ขยายตัวประมาณ 2.5-2.6% จะเพิ่มความเสี่ยงต่อฐานะการเงินของภาครัฐและภาคเอกชนในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น โดยกลุ่มธุรกิจที่ยังมีปัญหาในการชำระหนี้มากที่สุด ได้แก่ กลุ่มธุรกิจสื่อเดิม กลุ่มธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจสปาและเสริมสวย กลุ่มค้าปลีกขนาดเล็กขนาดกลาง กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม กลุ่มธุรกิจสายการบินและการขนส่งคน กลุ่มธุรกิจจัดงานแสดงสินค้าและงาน Event ต่างๆ กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และรับเหมาก่อสร้าง กลุ่มกิจการโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเอกชน เป็นต้น

ขณะเดียวกันฐานะทางการคลังของประเทศอ่อนแอลงเล็กน้อย โดยการก่อหนี้เพื่อดำเนินนโยบายแจกเงินดิจิทัล จะทำให้สัดส่วนของหนี้สาธารณะต่อจีดีพีในปีหน้าทะลุ 64% ได้ ขณะที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีพุ่งทะลุ 91% สูงที่สุดในรอบ 18 ปี ก่อนหน้านี้จะปรับลดลงบ้างจากมาตรการของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาทั้งหนี้ในระบบและนอกระบบ การปรับเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนมากกว่าปรกติก่อนหน้านี้เป็นผลมาจากการล็อกดาวน์ไร้ประสิทธิภาพและประสิทธิผล รายได้หดตัว ว่างงาน หนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่เป็นหนี้ผ่อนชำระที่อยู่อาศัยมากกว่า 34% การมีนโยบายสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อให้ประชาชนมีบ้านเป็นของตัวเองมีความจำเป็น

เรื่องการเป็นหนี้และไม่สามารถชำระหนี้ได้ ขณะนี้ส่วนใหญ่ไม่ใช่เรื่องการไม่มีวินัยทางการเงินหรือก่อหนี้เกินตัวแต่เป็นเรื่องของการว่างงานและรายได้ลดลงมากกว่าในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโควิดและมีผลกระทบต่อเนื่องมา ขณะนี้สถานการณ์การว่างงานดีขึ้นอย่างชัดเจน อัตราการว่างงานต่ำมากและหลายกิจการเกิดภาวะขาดแคลนแรงงาน แต่รายได้จากการจ้างงานยังไม่ปรับเพิ่มมากนัก ส่วนการปรับลดเพดานดอกเบี้ยก็อาจจะไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุดนัก เมื่อสถาบันการเงินไม่สามารถคิดดอกเบี้ยได้ตามความเสี่ยง สถาบันการเงินก็จะไม่ปล่อยกู้ เท่ากับผลักให้ผู้มีรายได้น้อยและฐานะการเงินอ่อนแอต้องไปกู้นอกระบบแทน

ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้จะรุนแรงขึ้นจากโครงสร้างทางการเงินอ่อนแอของทั้งภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจและภาครัฐ เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของ SMEs และครัวเรือนบางกลุ่มที่ยังมีฐานะการเงินเปราะบางจากรายได้เพิ่มเล็กน้อยและฟื้นตัวช้าเมื่อเทียบกับรายจ่าย รวมทั้งยังมีความจำเป็นต้องก่อหนี้เพิ่มเพื่อเสริมสภาพคล่อง ความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจขนาดใหญ่โดยภาพรวมยังทรงตัว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 พ.ย. 66)

Tags: , , ,