นักวิชาการชี้ช่องแก้ขาดแคลนแรงงานหลังไทยก้าวสู่สังคมสูงวัย

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุน และการค้าระหว่างประเทศ และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ประชากรในวัยทำงานของไทยลดลงอย่างต่อเนื่องและในอัตราเร่งมาตั้งแต่ปี 2560 ปัจจุบันได้เข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์แล้ว โดยปี 2566 มีผู้สูงวัย 20% วัยแรงงาน 63% และวัยเด็กเพียง 16% ประชากรในวัยทำงานปัจจุบันอยู่ที่ 42.4 ล้านคน และมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ขณะนี้บางกิจการสามารถทำการผลิตต่อไปได้โดยอาศัยแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน บางอุตสาหกรรมปรับใช้เครื่องจักรอัตโนมัติ ระบบหุ่นยนต์และเอไอมากขึ้น พึ่งพิงแรงงานมนุษย์ลดลง และผลิตภาพเพิ่มสูงขึ้น

งานวิจัยของธนาคารโลกเรื่อง Aging and the Labour Market in Thailand พบว่า ภาวะประชากรสูงวัยส่งผลกระทบอย่างมากต่อตลาดแรงงานและการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวม จำนวนประชากรวัยทำงานที่ลดลงของไทยส่งผลให้รายได้เฉลี่ยของบุคคลในประเทศเติบโตลดลง และหากไม่มีการปรับเปลี่ยนหรือเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร คาดการณ์ว่าจะส่งผลให้การเติบโตของ GDP ต่อหัวลดลงอีก 0.86% ในทศวรรษ 2020 ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานอย่างมาก

หากอัตราการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานนั้นคงที่ตามอายุและเพศแล้ว โครงสร้างประชากรของไทยจะเปลี่ยนไป โดยคาดการณ์ว่าจะส่งผลให้อัตราการมีส่วนร่วมของแรงงานโดยรวมจะลดลงประมาณ 5% ระหว่างปี 2563 ถึงปี 2603 และจำนวนแรงงานลดลงถึง 14.4 ล้านคน ทั้งนี้จำนวนแรงงานที่ลดลงอาจส่งผลให้ประเทศอยู่ในภาวะขาดแคลนแรงงาน ซึ่งอาจขัดขวางโอกาสในการเติบโตของประเทศได้ การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้นอาจช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานได้บางส่วน ขณะที่ผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ อาจทวีความรุนแรง เนื่องจากความต้องการแรงงานที่มีทักษะความชำนาญในด้านนี้เพิ่มมากขึ้น

ไทยมีปัญหาการกระจุกตัวของการผลิตและการจ้างงานสูง เกิดความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ แต่ระบบประกันสังคมช่วยสร้างระบบสวัสดิการขนาดใหญ่ครอบคลุมแรงงานในระบบทั่วทั้งประเทศ และสร้างระบบการออมแบบบังคับเพื่อดูแลผู้สูงอายุในวัยเกษียณ จากงานวิจัยของ ศ.ดร.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ พบว่า ความเหลื่อมล้ำของค่าจ้างมีดัชนีจินีอยู่ที่ 0.4 ถือว่าสูงเกินไปและโอกาสการมีงานทำสั้นเกินไป แรงงานจำนวนไม่น้อยออกจากตลาดแรงงานในระบบโรงงานตั้งแต่อายุ 45 ปี การทำงานหรือประกอบอาชีพอะไรหลังจากนั้นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม ปัญหาการกระจุกตัวของการผลิต การประกอบการ การจ้างงานในประเทศไทย สะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำในมิติพื้นที่อย่างชัดเจน กรุงเทพและปริมณฑลมีการจ้างงานในระบบ 6-7 ล้านคน มีสถานประกอบการในระบบกว่า 239,000 แห่ง มีจีดีพีอยู่ที่ 7.5-7.6 ล้านล้านบาท และมีโอกาสการมีงานทำสูงสุด เป้าหมายทางนโยบายสาธารณะต้องลดการกระจุกตัวและกระจายโอกาสในการจ้างงานไปยังทั่วทุกภูมิภาค การย้ายแหล่งการผลิตและการจ้างงานไปยังต่างจังหวัดตามภูมิภาคต่างๆ จะเกิดผลดีต่อพื้นที่ และเกิด “ตัวทวีคูณท้องถิ่น” (Local Multiplier) นอกจากนี้ยังลดปัญหาความแออัด ปัญหามลพิษทางอากาศและปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาสลัมในเขตกรุงเทพและปริมณฑล และการแตกสลายของสถาบันครอบครัวในชนบทจากการที่พ่อแม่ลูกไม่ได้อยู่ด้วยกัน

ขณะที่เศรษฐกิจและภาคการผลิตบางส่วนต้องอาศัยแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะงานที่ใช้ทักษะต่ำ ขณะที่แรงงานไทยทักษะปานกลางและสูงจำนวนไม่น้อยเคลื่อนย้ายไปทำงานในต่างประเทศที่มีค่าตอบแทนสูงกว่ามาก ลักษณะการเคลื่อนย้ายแบบนี้ คือ แรงงานทักษะต่ำไหลเข้า แรงงานทักษะปานกลางและสูงจำนวนหนึ่งไหลออก สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาโครงสร้างตลาดแรงงาน ระบบค่าจ้าง และบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่สามารถยกระดับขึ้นมาเป็นระบบเศรฐกิจการผลิตที่ใช้แรงงานทักษะสูง และผลิตสินค้ามูลค่าสูงด้วยนวัตกรรมได้อย่างแท้จริง ยังติดกับดักโครงสร้างการผลิตและเศรษฐกิจแบบเดิม

ในอีกประมาณ 17 ปีข้างหน้า ไทยจะเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด คาดการณ์ว่าจะมีผู้สูงอายุถึง 30% ขณะที่วัยแรงงานลดลงเหลือ 55% และวัยเด็กเพียง 12% อัตราภาวะเจริญพันธุ์ของไทยที่ต่ำกว่าระดับทดแทนในปัจจุบันนั้น หากพิจารณาจากประสบการณ์ของประเทศที่มีอัตราเจริญพันธุ์ต่ำกว่าระดับทดแทนมาก่อนประเทศไทย พบว่ายังไม่มีประเทศใดสามารถทำให้อัตราภาวะเจริญพันธุ์เพิ่มสูงขึ้นได้ภายในระยะเวลา 10-20 ปี ประเด็นที่สำคัญที่ต้องแก้ไขคือการปรับทัศนคติว่าการมีบุตรไม่ใช่เรื่องของแต่ละครอบครัวอย่างเดียวหากว่าเป็นเรื่องของส่วนรวมด้วย เนื่องจากเด็กๆ ของแต่ละครอบครัวจะเป็นทุนมนุษย์สำคัญของสังคม เป็นรากฐานทางเศรษฐกิจที่จะรองรับสัดส่วนประชากรสูงวัยที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ประชากรวัยทำงานเป็นแหล่งรายได้ภาษีของภาครัฐเพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายสวัสดิการให้ผู้สูงอายุ ประเทศไทยต้องใช้งบประมาณในการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี เฉลี่ยปีละ 7.6-7.7 แสนล้านบาท หรืออย่างต่ำ 4.5% ของจีดีพี โดยมีกองทุนชราภาพ กองทุนประกันสังคมเป็นผู้รับผิดชอบดูแลสวัสดิการผู้สูงอายุที่ใหญ่ที่สุด แม้นสวัสดิการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี แต่งบประมาณที่จัดสรรไปสู่รายจ่ายทางด้านสวัสดิการสังคมของไทยยังอยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับจีดีพี คือ อยู่ที่ไม่เกิน 5% ประเทศสแกนดิเนเวียจะอยู่ที่ 29-30% ขณะที่รายจ่ายสวัสดิการสังคมต่องบประมาณของไทยจะอยู่ที่ 20% กว่าๆ และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ภาวะดังกล่าวสะท้อนรายได้ภาษีต่อจีดีพีต่ำและยังขึ้นอยู่กับภาษีทางอ้อมและภาษีเงินได้เป็นหลัก

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า มีความวิตกกังวลในระดับโลกและในไทยว่า เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) หุ่นยนต์ และเครื่องจักรอัตโนมัติอาจทำให้ตำแหน่งแรงงานมนุษย์หดหายมากเกินไปจนทำให้จีดีพีโดยรวมอาจลดลงได้ แต่แนวโน้มที่คาดการณ์ได้แน่ๆ ก็คือ ส่วนแบ่งจีดีพีที่เคยเป็นค่าจ้างแรงงานมนุษย์จะลดลงอย่างชัดเจน ตนเสนอให้มีการปฏิรูประบบแรงงานรับมือ AI เพิ่มความเป็นธรรมและความสามารถแข่งขัน การเร่งอัตราการขยายตัวทางผลิตภาพขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี AI จะทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยดีขึ้นและตอบโจทย์ปัญหาการขาดแคลนแรงงานมนุษย์ที่จะรุนแรงขึ้นในทศวรรษหน้า ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี AI หุ่นยนต์ จักรกลอัตโนมัติจะทำให้อาชีพและตลาดแรงงานเปลี่ยนแปลงไปแบบพลิกโฉม จำเป็นต้องมีการปฏิรูประบบการศึกษาเรียนรู้ ระบบพัฒนาทักษะ และระบบแรงงานทั้งระบบเพื่อให้แรงงานมนุษย์สามารถทำงานร่วมกับ AI และระบบหุ่นยนต์ได้ดีขึ้น เพราะหลายอย่างสมอง AI สามารถทำงานได้ดีกว่าแรงงานมนุษย์และเสริมการทำงานของมนุษย์ ระบบ Software คอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการคำนวณประกอบกับการใช้ Big Data และ Machine Learning สามารถทำงานทางด้านการวิเคราะห์ การคำนวณ การประเมินการลงทุน การศึกษา การวิจัย ได้อย่างดี เป็นต้น

กรณีของไทยการว่างงานจากหุ่นยนต์ จักรกลอัตโนมัติ และ AI แย่งงานแรงงานมนุษย์ยังไม่รุนแรง สังคมยังมีแนวโน้มขาดแคลนแรงงานมนุษย์ อย่างไรก็ตาม หากในอนาคตการใช้ AI มีผลกระทบต่อการจ้างงานแรงงานมนุษย์ ควรใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานเข้มงวดเรื่องการเลิกจ้าง มากกว่าการใช้วิธีเก็บภาษีหุ่นยนต์และภาษี AI เพราะการเก็บภาษีอาจไปสกัดกั้นการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ธ.ค. 66)

Tags: , , , ,