มหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ (TAU) ของอิสราเอล เปิดเผยว่าคณะนักวิจัยอิสราเอลได้ออกแบบเซนเซอร์อัจฉริยะแบบสวมใส่ได้ (Wearable Smart Sensors) เพื่อช่วยเฝ้าติดตามกระบวนการทดลองวัคซีน
เซนเซอร์ดังกล่าวช่วยให้นักพัฒนาวัคซีนระบุปฏิกิริยาที่ผิดปกติได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อปรับปรุงกระบวนการทดลอง โดยมีแนวโน้มดีกว่าแนวทางการทดลองวัคซีนในปัจจุบัน ซึ่งมักอ้างอิงข้อมูลจากแบบสอบถามที่รายงานด้วยตนเองและอาจทำให้ผลลัพธ์ที่ได้ไม่เที่ยงตรง
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า การศึกษาข้างต้นจัดทำระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-13 มี.ค. 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่อิสราเอลรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ขนานใหญ่ โดยคณะนักวิจัยได้มอบเซนเซอร์แบบแผ่นปิดหน้าอกแก่ผู้ใหญ่ที่ฉีดวัคซีน 160 คน เพื่อเฝ้าติดตามและใช้แอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือรวบรวมข้อมูลที่เซนเซอร์อัปเดตอัตโนมัติทุกวัน
คณะนักวิจัยได้เฝ้าติดตามอัตราการเต้นของหัวใจ ความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด อัตราการหายใจ ความดันโลหิต ความดันเลือดแดงเฉลี่ย ชีพจร ความแปรปรวนของอัตราการเต้นของหัวใจ ปริมาตรเลือดที่ถูกสูบฉีดออกจากหัวใจในการบีบตัวหนึ่งครั้ง ปริมาตรเลือดส่งออกจากหัวใจต่อนาที ความต้านทานของหลอดเลือดทั่วร่างกาย และอุณหภูมิผิวหนัง
ทั้งนี้ คณะวิจัยพบความแตกต่างอันมีนัยสำคัญระหว่างการรายงานผลข้างเคียงด้วยตนเอง และการตรวจวัดทางสรีรวิทยาตามวัตถุประสงค์ของการวิจัยครั้งนี้ โดยพบปฏิกิริยาผิดปกติที่สำคัญจากผู้เข้าร่วมที่กล่าวว่าตนเองไม่มีอาการข้างเคียงใด ๆ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 เม.ย. 65)
Tags: จัดเก็บข้อมูล, วัคซีนต้านโควิด-19, อิสราเอล