สำนักข่าวซินหัวรายงานในวันนี้ (26 ธ.ค.) ว่า ผลการศึกษาจากสถาบันวิทยาศาสตร์ไวซ์มันน์ (WIS) ซึ่งเผยแพร่ผ่านวารสารวิชาการพีเอ็นเอเอส (PNAS) เมื่อวันจันทร์ (23 ธ.ค.) พบว่า ฝูงมดทำงานเป็นทีมได้ดีกว่ามนุษย์ในบางกรณี เช่น การออกจากเขาวงกต
คณะนักวิจัยทำการศึกษาตามคุณลักษณะที่มนุษย์และมดมีเหมือนกัน นั่นคือความสามารถร่วมมือต่อเนื่องขณะขนของหนักเกินขนาดร่างกายอย่างมาก ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์พื้นฐานสำหรับประเมินว่ามดหรือมนุษย์ขนย้ายของหนักผ่านเขาวงกตได้ดีกว่ากัน
เพื่อเปรียบเทียบระหว่างมดกับมนุษย์ คณะนักวิจัยได้ปรับใช้ปัญหา “เกมย้ายเปียโน” ซึ่งใช้วัตถุรูปตัวที (T) ขนาดใหญ่แทนเปียโน และวัตถุนี้ต้องถูกเคลื่อนย้ายผ่านพื้นที่ที่แบ่งเป็นสามห้องและมีช่องทางแคบ โดยมีการสร้างเขาวงกตสองแบบตามขนาดของมดและมนุษย์ และขนาดที่ต่างกันของฝูงหรือกลุ่ม
มดดำหรือมดน้ำตาลถูกหลอกให้เข้าใจวัตถุที่แบกขนเป็นอาหาร ส่วนกลุ่มมนุษย์ถูกห้ามใช้การสื่อสารด้วยวาจาหรือท่าทางเพื่อความเท่าเทียมในการเปรียบเทียบ ซึ่งมนุษย์ทำผลงานได้ดีกว่ามดในการทดลองรายบุคคลเพราะมีความสามารถทางสติปัญญา แต่มดทำผลงานได้อย่างมีกลยุทธ์ในการทดลองแบบทีมเพราะใช้ความจำร่วมในการรักษาทิศทางและหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาด
งานวิจัยระบุว่า มนุษย์ไม่สามารถปรับปรุงการทำผลงานให้ดีขึ้นเมื่อทำงานเป็นทีม โดยผลงานของมนุษย์ในการทดลองแบบทีมด้อยลงเมื่อเทียบกับผลงานจากการทดลองแบบรายบุคคล เพราะถูกจำกัดการสื่อสารด้วยวาจาหรือท่าทางระหว่างสมาชิกภายในกลุ่มให้เหมือนกับมด
คณะนักวิจัยอธิบายว่า ผลการศึกษานี้ยืนยันการมองอาณาจักรมดเป็นครอบครัว ที่ซึ่งสมาชิกทุกตัวมีผลประโยชน์ร่วมกัน ทำให้ความร่วมมือมีนัยสำคัญมากกว่าการแข่งขันกันอย่างมหาศาล
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ธ.ค. 67)