เว็บไซต์ข่าวไอที ฟาเกน วาซานนี (Fagen Wasanni) รายงานว่า ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคอร์เนล ซึ่งประกอบด้วย นายโจชัว แฮร์ริสัน, นายเอซาน โทเรนี และดร.มาเรียม เมห์รเนซาด ประสบความสำเร็จในการฝึกแบบจำลองปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ (AI) ในการถอดตัวอักษรจากเสียงการพิมพ์บนแป้นพิมพ์
กลุ่มนักวิจัยได้บันทึกเสียงการกดแป้นพิมพ์เพื่อนำไปฝึกโมเดลเอไอ ซึ่งได้ผลลัพธ์ที่น่าทึ่ง โดยโมเดลเอไอสามารถคาดเดาตัวอักษรที่พิมพ์ได้ในอัตราความแม่นยำที่สูงถึง 95%
ในการฝึกโมเดลเอไอดังกล่าวนั้น กลุ่มนักวิจัยได้ใช้แป้นพิมพ์ชนิดพิเศษ ซึ่งแต่ละปุ่มจะมีเสียงที่แตกต่างกันออกไป โดยในการฝึก พวกเขาจะใช้ไมโครโฟน หรือใช้โปรแกรมซูม (Zoom) ในการบันทึกเสียงคีย์บอร์ด โดยพบว่าการฝึกจากเสียงที่ผ่านโปรแกรมซูมนั้น มีความแม่นยำลดลงเพียงเล็กน้อย อยู่ที่ระดับ 93%
ในการสาธิตการฝึกดังกล่าว กลุ่มนักวิจัยได้ใช้แม็คบุ๊ค โปร (Macbook Pro) และกดแป้นพิมพ์ 36 ปุ่ม รวม 25 ครั้ง ซึ่งโมเดลเอไอสามารถระบุได้ว่าแต่ละปุ่มเป็นตัวอักษรหรือสัญลักษณ์อะไรด้วยความแม่นยำในระดับสูง ซึ่งความแตกต่างเล็กน้อยของรูปแบบคลื่นเสียงที่เกิดจากการบันทึก ทำให้โมเดลแยกความแตกต่างได้อย่างแม่นยำ
อย่างไรก็ตาม โมเดลเอไอนี้มีจุดอ่อน โดยกลุ่มนักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่ามีวิธีการหลายอย่างที่สามารถลดความแม่นยำลงได้ อาทิ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการพิมพ์ ตัวอย่างเช่น การพิมพ์สัมผัส (touch typing) ซึ่งความแม่นยำในการจดจำแต่ละปุ่มบนแป้นพิมพ์จะลดลงอยู่ที่ 40-64% นอกจากนี้ การใช้ซอฟต์แวร์เพื่อสร้างเสียงรบกวน หรือ การกดปุ่มเพิ่มเติม ก็อาจทำให้โมเดลเอไอสับสนได้เช่นกัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ส.ค. 66)
Tags: AI, ปัญญาประดิษฐ์, แกะตัวอักษร