นักวิจัยจุฬาฯล้ำพัฒนากระจกตาเทียมสามมิติจากสเต็มเซลล์สำหรับสุนัข

คณะสัตวแพทยศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมวิจัยและพัฒนานวัตกรรมกระจกตาเทียมสามมิติจากสเต็มเซลล์ เพื่อรักษาแผลลึกที่กระจกตาสุนัข แก้ปัญหาวิธีการรักษาที่ใช้เนื้อเยื่อทดแทนเดิมซึ่งหายากและมีราคาสูง เพื่อให้สุนัขกลับมาสบายตาและมองเห็นชัดเจนอีกครั้ง

“เราเจอรอยโรคแบบนี้ในสุนัขค่อนข้างเยอะ โรคแผลในกระจกตานี้เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่น สุนัขเกาตาตัวเองเพราะมีปัญหาภูมิแพ้ ทำให้คันรอบ ๆ ดวงตาแล้วเกาจนเกิดรอยโรค การต่อสู้กับสุนัขด้วยกัน โดนแมวข่วน หรือเกิดอุบัติเหตุ เดินชนสิ่งต่าง ๆ”

อาจารย์สัตวแพทย์หญิง ดร.ชูติรัตน์ ต่อสหะกุล ภาควิชาอายุรศาสตร์คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวถึงปัญหาที่เป็นจุดเริ่มต้นในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม”กระจกตาเทียมสามมิติจากสเต็มเซลล์” เพื่อให้เจ้าตูบแสนรักกลับมามองเห็นได้ชัดและสบายตาอีกครั้ง

“การรักษาที่ทำอยู่ในปัจจุบัน เราใช้แผ่นกราฟท์ที่ทำมาจากเนื้อเยื่อทดแทน เช่น เนื้อเยื่อที่ทำมาจากกระเพาะปัสสาวะของหมู รกของสุนัข ซึ่งเนื้อเยื่อดังกล่าวหายากและราคาค่อนข้างสูง รวมถึงมีโอกาสก่อให้เกิดการระคายเคืองและอักเสบหลังการผ่าตัดได้ เราเลยคิดว่าหากสามารถผลิตนวัตกรรมกระจกตาเทียมขึ้นมาเอง โดยใช้วัสดุจากธรรมชาติที่หาได้ง่าย และลดโอกาสที่จะก่อให้เกิดการอักเสบ ก็น่าจะดีกว่า” อาจารย์สัตวแพทย์หญิง ดร.ชูติรัตน์กล่าว

ทีมวิจัยจากคณะสัตวแพทยศาสตร์​ โดยศูนย์ Veterinary Stem Cell and Bioengineering Innovation Center (VSCBIC) จึงเริ่มศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องของสเต็มเซลล์และทำงานร่วมกับศูนย์วิจัยวิศวกรรมชีวเวช คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯที่มีความรู้ความชำนาญทางด้านวิศวกรรมเนื้อเยื่อ เพื่อช่วยในการทำวัสดุยึดเกาะสำหรับเลี้ยงสเต็มเซลล์

“เนื้อเยื่อกระจกตาเทียมได้มาจากการเพาะเลี้ยงสเต็มเซลล์กระจกตาจริงของสุนัขบนโครงสร้างวัสดุธรรมชาติที่ทำมาจากไหมไฟโบรอิน (silk fibroin) ผสมกับเจลาติน ซึ่งเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในประเทศไทยและมีราคาถูก มีความแข็งแรง มีความใสที่สามารถมองเห็นได้ และยึดเกาะเซลล์ได้ดี ทำให้เซลล์เป็นสามมิติเทียบเคียงกับเนื้อเยื่อกระจกตาจริง” อาจารย์สัตวแพทย์หญิง ดร.ชูติรัตน์อธิบาย

นวัตกรรมนี้สามารถใช้รักษาปัญหากระจกตาทะลุในสุนัข และแผลกระจกตาที่มีขนาดใหญ่ ที่ไม่สามารถเย็บเนื้อกระจกตาได้ หรือแผลที่ลึกมาก ๆ ที่ชิ้นส่วนของเนื้อกระจกตาหายไปค่อนข้างมาก

ส่วนสุนัขที่มีปัญหาโรคแผลกระจกตาในระดับที่ไม่รุนแรงนักหรือในระดับปานกลาง แนวทางการรักษาในปัจจุบันก็ยังคงใช้อยู่ มี 2 วิธี ได้แก่

1. การรักษาด้วยยามักจะใช้ในกรณีที่เป็นไม่มาก เช่น เป็นแผลชั้นผิว หรือชั้นลึกลงมาแต่ไม่ได้ลึกถึงชั้นสุดท้าย การรักษาโดยการหยอดยาจะช่วยป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อนที่อยู่บริเวณหน้าและตา แต่ยาไม่ช่วยเรื่องการสมานแผล แผลจะหายหรือไม่หายขึ้นอยู่กับกลไกของร่างกายสุนัขเอง ซึ่งหากร่างกายแข็งแรงดี มีการเจริญเติบโดของเซลล์ปกติ ส่วนใหญ่ก็จะหายได้เอง

2. การรักษาด้วยการผ่าตัดในกรณีที่เป็นแผลลึกมาก ๆ ถึงชั้นสุดท้ายของตัวกระจกตา หรือเป็นแผลทะลุที่ยังสามารถเย็บกระจกตาให้ชนกันได้ตามปกติ

ปัจจุบัน นวัตกรรม “กระจกตาเทียมสามมิติจากสเต็มเซลล์”ยังอยู่ในขั้นการทดสอบในห้องปฏิบัติการเพื่อศึกษาคุณสมบัติว่ากระจกตาเทียมสามมิติสามารถใช้ทดแทนกระจกตาได้จริงหรือไม่ และมีปฏิกิริยากับร่างกายสัตว์อย่างไร ซึ่งอาจารย์สัตวแพทย์หญิง ดร.ชูติรัตน์เผยว่าในหลายประเทศ การวิจัยนวัตกรรมดังกล่าวก็กำลังอยู่ในระดับห้องปฏิบัติการเช่นกัน

“งานวิจัยของเราได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งคาดว่านวัตกรรมนี้น่าจะได้นำมาใช้จริงกับสุนัขในไม่กี่ปีข้างหน้า และในอนาคต เราวางแผนที่จะนำองค์ความรู้นี้ไปประยุกต์ใช้ในแมวด้วย ตั้งแต่การเก็บเซลล์ หาตำแหน่งเซลล์ แยกเซลล์ และการเรียงเซลล์”

อาจารย์สัตวแพทย์หญิง ดร.ชูติรัตน์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ก.ค. 67)

Tags: , ,