นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า คำว่า ‘โนวิด (Novid)’ เกิดจากการที่หลายคนที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด-19 แล้วไม่ติดเชื้อในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เช่น บุคคลในครอบครัวเป็นโควิด แม่-ลูกใกล้ชนิดกันมาก แต่ไม่ติดเชื้อ หรือผู้ที่ทำงานในที่ที่มีคนอยู่มาก หลีกเลี่ยงยาก เช่น ในสถานบันเทิง ตลาด สัมผัสผู้คนจำนวนมาก แต่ไม่เป็นโควิด
จากการตรวจเลือดและซักประวัติ ประมาณการณ์ว่า มีประชากรไทยที่ยังไม่เป็นโควิดอยู่ประมาณ 20% (ไม่นับรวมเด็กเล็กต่ำกว่า 2 ปี) โดยใน 20% บางคนอาจปฏิบัติอย่างเคร่งครัด จึงทำให้ยังไม่ติดเชื้อ ขณะที่บางคนสัมผัสโรคมาก แต่ก็ยังไม่ติดเชื้อ
ทั้งนี้ นักวิจัย กำลังให้ความสนใจปัจจัยทางพันธุกรรม เช่น HIV ว่าจะมียีนจำเพาะต่อต้านการเข้าเซลล์ของเชื้อ HIV ในโควิด ซึ่งยังไม่รู้ว่ามียีนต้านทานโควิดหรือไม่ และถ้ามีเป็นยีนอะไร กลไกเป็นอย่างไร
นอกจากนี้ ยังมีการตั้งคำถามว่าภูมิต้านทานที่เกิดจากการได้รับวัคซีน มีส่วนเกี่ยวด้วยหรือไม่ หรือกลุ่มโนวิด ติดเชื้อไปแล้ว แต่อาการน้อย ไม่ได้ตรวจ หรือตรวจไม่พบก็เป็นได้ ซึ่งคาดว่าคงอีกไม่นาน ที่งานวิจัยหาความรู้ใหม่และตอบปริศนาเหล่านี้ได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 มี.ค. 66)
Tags: COVID-19, ยง ภู่วรวรรณ, โควิด-19, โนวิด